หอการค้าไทย-เครือข่าย ยื่น12,000 รายชื่อ เสนอร่างพรบ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

หอการค้าไทย-เครือข่าย ยื่น12,000 รายชื่อ เสนอร่างพรบ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

เมื่เวลา 16.00 น. ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา (เกียกกาย) วันที่ 13 กรกฎาคม นายกลินท์  สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำคณะกรรมการฯ และเครือข่าย ยื่นรายชื่อ 12,000.รายชื่อ ต่อ นายแพทย์สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ……. เป็นฉบับแรกของประเทศไทย

นายกลินท์   เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ หอการค้าไทยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ..ซึ่งเป็นร่างกฎหมายภาคประชาชนต่อประธานรัฐสภา (นายชวน  หลีกภัย) และได้รับแจ้งว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว เป็นไปตามหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะผู้ริเริ่มประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ สมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม จึงได้ดำเนินการชักชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมลงลายมือชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

โดยได้รวบรวมรายชื่อจากสมาชิก ผู้ประกอบการ นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ ที่ต้องการให้มีกฎหมายเฉพาะ เพื่อการปฏิรูประบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศไทย ได้แล้วจำนวน 12,000 คน และในวันนี้ได้นำมามอบให้กับประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนขอการเสนอกฎหมายต่อไป โดยมี นายแพทย์สุกิจ  อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนในการรับมอบ

สำหรับร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. คณะผู้ริเริ่มได้รับความร่วมมือในการยกร่าง จากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏ รวมทั้ง สมาชิกวุฒิสภาในภาคเหนือ ประกอบด้วย 9 หมวด 55 มาตรา โดยมีหลักการที่สำคัญ ๆ ได้แก่

Advertisement

▪️ หมวด 1 การกำหนดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่าด้วยการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยรัฐต้องจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อความสะอาดของอากาศ ต้องไม่กระทบต่อความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพของประชาชน
▪️ สิทธิในอากาศสะอาด ของบุคคลและประชาชนทุกคนในการได้รับอากาศสะอาดและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการของรัฐ
▪️ หมวด 2 การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยให้มี “คณะกรรมการอากาศสะอาด”ระดับชาติ และ “คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดและกลุ่มจังหวัด”
▪️ หมวด 3 มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดตามมาตรฐานสากล และกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด
▪️ หมวด 4 ระบบการตรวจคุณภาพอากาศและระบบฐานข้อมูล โดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่ทางภูมิศาสตร์แสดงจุดที่มีนัยสำคัญต่อคุณภาพอากาศ ชั้นบรรยากาศ และการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัดคุณภาพอากาศ (GIS) การเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลสามารถรายงานผลได้ทันทีและตลอดเวลาง

▪️ หมวด 5 ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ โดยให้มียุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศเป็นแนวทางปฏิบัติ การกำกับทิศทาง และการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ต่อจังหวัด กลุ่มจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำเอากรอบยุทธศาสตร์ไปปรับใช้ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
▪️ หมวด 6 มลภาวะทางอากาศ และแหล่งมลพิษทางอากาศ โดยให้มีแต่งตั้งคณะกรรมการด้านมลภาวะทางอากาศ ด้านวิชาการแหล่งมลพิษทางอากาศ
▪️ หมวด 7 เจ้าพนักงานเพื่อความสะอาดอากาศ โดยให้เจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดมีอำนาจออกคำสั่งให้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งมลพิษทางอากาศ หรือ หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศ จัดส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมทั้งเรียกบุคคล ตรวจสอบ ควบคุม หรือสั่งให้ยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
▪️ หมวด 8  ค่าปรับและบทกำหนดโทษ สำหรับการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
▪️ หมวด 9  บทเฉพาะกาล กำหนดระยะเวลาในการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด การกำหนดมาตรฐานคุณภาพ การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพอากาศ การจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ

นอกเหนือจากการผลักดันให้มีพระราขบัญญัติอากาศสะอาดแล้ว หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังได้ร่วมกับเครือข่าย จัดตั้งคณะทำงานทั้งในด้านกฎหมายและด้านการรณรงค์ แก้ไขปัญหา PM.2.5 ขึ้นมาเพื่อทำงานคู่ขนานระหว่างที่ได้มีการผลักดันพระราขบัญญัติฯ เช่น ลดการเผา การรับซื้อใบอ้อย ฟางข้าว  ซังข้าวโพด ฯลฯ โดยมีเครือข่ายร่วมมือซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 และจะขยายผลต่อในปี 2563 อาทิ มิตรผล SCG และสยามคูโบต้า เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image