คนตกสี : นักเรียน ทรงผม และสมรสเพศเดียวกัน : โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

นักเรียน ทรงผม และสมรสเพศเดียวกัน

เรื่องของทรงผมบนศีรษะของนักเรียนในโรงเรียนรัฐบาลนั้นเป็นวิวาทะมาช้านานและมีฤดูกาลของมัน

ในช่วงก่อนเปิดเทอมจะมีข้อเรียกร้องจากนักเรียนหัวก้าวหน้า เรียกร้องขอสิทธิในการจัดการทรงผมของตัวเอง กับฝ่ายโรงเรียนและผู้สนับสนุนที่ยืนกรานว่าการตัดผมทรงนักเรียนหัวเกรียนของนักเรียนชายหรือหน้าม้าเสมอติ่งหูสำหรับนักเรียนหญิง คือการปลูกฝังวินัยมาตรฐานที่ลดหย่อนให้ไม่ได้ หาไม่แล้วจะเกิดวิบัติภัยต่างๆ นานา ต่อชีวิตเด็กและเยาวชนในภายภาคหน้า ถกเถียงกันไปเช่นนี้ไม่มีข้อยุติ และนักเรียนก็ต้องตัดผมแบบเดิมกันไป

หากในปีนี้มีความแตกต่างสำคัญคือกระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มา “ปลดล็อก” ทรงผมนักเรียน ให้นักเรียนชายสามารถไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้เท่าที่ไม่เลยตีนผม ส่วนนักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ ถ้าไว้ผมยาวก็ให้รวบเสียให้เรียบร้อย

Advertisement

แต่น่าแปลกใจว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นกฎหมายลำดับรองฉบับนี้กลับถูก “ท้าทาย” และ “ดื้อแพ่ง” จากฝ่ายโรงเรียน ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่บรรดาครูอาจารย์และผู้บริหารโรงเรียนที่ต่างเป็น “ข้าราชการ” นั้นกลับบังอาจละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวงงานของตัวเองโดยเจตนา มีทั้งที่ทำเป็นไขสือไม่รับรู้ ประกาศว่าทรงผมของโรงเรียนนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง ราวกับว่าระเบียบกระทรวงนี้ไม่ได้ถูกประกาศออกมา หรือที่หัวหมอก็อ้างการตีความว่าโรงเรียนยังมีอำนาจดุลพินิจกำหนดทรงผมนักเรียนได้อยู่ (และโรงเรียนก็จะเอาทรงเดิม)

ซึ่งเรื่องนี้ขออนุญาตเตือนด้วยความหวังดีว่า “อย่าหาทำ” เพราะมันเป็นการตีความระเบียบ
ข้างๆ คูๆ ที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องเป็นคดีปกครองและคดีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้ผู้อื่นเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ และยิ่งถ้าใช้อำนาจโดยพลการตัดหรือกล้อน
ผมนักเรียนโดยไม่มีอำนาจและขัดต่อระเบียบข้างต้นนี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง หากไปเจอพ่อแม่ผู้ปกครอง
ที่รักษาสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของลูกหลานเขา

รวมถึงเป็นเรื่องลักลั่นย้อนแย้งยิ่งที่เหตุผลซึ่งบรรดาครูบาอาจารย์ที่เคยยกเคยอ้างกันแต่ก่อน
เพื่อจะห้ามปรามมิให้นักเรียนเรียกร้องสิทธิในเรื่องทรงผมของตัวเองว่า การที่จะต้องบังคับให้เด็กนักเรียนไว้ผมทรงที่โรงเรียนกำหนดนั้น เป็นเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ที่จะมีวินัยและเคารพกฎ จะได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีรู้จักเคารพกฎหมายเป็นพลเมืองดีของสังคม หรือบ้างก็อ้างว่าระเบียบเรื่องทรงผมนั้นมีอยู่แล้ว การที่นักเรียนสมัครเข้ามาก็คือยอมรับในระเบียบดังกล่าวแล้วจะมาโต้แย้งอีกมิได้ ถ้าไม่พอใจก็ลาออกไปสมัครเรียนที่อื่น

Advertisement

ณ วันนี้ กฎเกณฑ์ซึ่งถือเป็นกฎหมายลำดับรองนั้นเปลี่ยนไปแล้ว จึงขอเชิญครูอาจารย์ที่เคยยก
เคยอ้างเรื่องการรักษากฎรักษาวินัยอะไรนั้นกรุณาปฏิบัติตามให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียนด้วย อย่างน้อยก็ให้ลูกหลานของเราเชื่อบ้างว่า การที่ครูๆ ถูกบังคับให้อยู่ในระเบียบวินัยตัดผมสั้นเกรียนที่ผ่านมานั้นทำให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพกฎเกณฑ์และกฎหมายได้อย่างไรเป็นที่ประจักษ์

หรือถ้ายังมีครูอาจารย์หรือผู้บริหารโรงเรียนคนใดยังยืนกรานว่าอยากเห็นนักเรียนทุกคนในโรงเรียนหัวเกรียนและตัดหน้าม้าเสมอติ่งหู ก็แนะนำอย่างที่ท่านเคยแนะนำเด็กๆ ของเราไว้ ว่าให้ลาออกจากราชการไปเสีย แล้วไปเปิดโรงเรียนสอนพับจรวดหรือเล่นหมากเก็บอะไรก็ได้ที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกระทรวงศึกษาธิการ แล้วจากนั้นจะไปออกระเบียบเครื่องแบบทรงผมให้เฮี้ยบเฉียบขาดอย่างไรก็ได้ ถ้ามีผู้ปกครองที่ไหนสมัครใจส่งลูกหลานเขาไปเรียนกับท่าน

อันที่จริงก็เข้าใจได้ว่าการปฏิบัติไปตามความเคยชินบางอย่าง โดยเฉพาะความเคยชินนั้นก่อรูปขึ้นและมีอำนาจรัฐช่วยบังคับด้วยกฎหมายการปรับใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ใช่ว่าจะทำได้โดยง่ายนัก เพราะสิ่งใดที่เคยชินจนฝังลงไปในระดับความเชื่อได้เมื่อไร ก็จะทำให้เข้าใจว่าสิ่งนั้นคือความถูกต้องอันเป็นสัจธรรม โดยลืมข้อเท็จจริงไปว่าก่อนหน้านั้นสิ่งนั้นเองมันก็ถูกกำหนดโดยมนุษย์ โดยกลไกของอำนาจราชการ และเมื่อวันเวลามาถึง อำนาจในระดับเดียวกันนั้นก็จะกลับแก้กฎนั้นเสียก็ได้ ในฐานะผู้ถูกบังคับใช้อยู่ภายใต้กฎก็ปรับตัวปฏิบัติตามไปก็เท่านั้นเอง

ถ้าทำใจยอมรับตรงนี้ได้ ก็จะเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องเสียหน้าหรืออ่อนข้ออะไรให้นักเรียนให้ต้องถือทิฐิมานะอะไรกับการยืนกรานไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจนละเมิดต่อสิทธิของเด็กนักเรียน และฝ่าฝืนระเบียบกฎเกณฑ์ของกฎหมาย

เช่นเดียวกับเรื่องการสมรสเพศเดียวกันที่จะพูดถึงต่อไปนี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ว่าจะออกมาเป็นกฎหมายคู่ชีวิต หรือแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้เป็นการสมรสเท่าเทียมได้แล้ว คงเป็นอีกครั้งที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันส่งผลกระทบกับความรับรู้และความเคยชินของผู้คนเกี่ยวกับการแต่งงานอยู่กินกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่เคยเป็นมาเกือบร้อยปี

เพราะเรากำลังจะได้เห็นและได้ยอมรับสถานภาพการสมรสหรือการอยู่กินกันโดยชอบด้วยกฎหมายของคู่รักเพศเดียวกัน

เมื่อประเมินสภาพสังคมตามความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้จะเป็นปัญหาประเด็นกฎหมายคาบเกี่ยวกับสังคมที่น่าจะก่อให้เกิดแรงต้านระดับหนึ่ง ตลอดช่วงเวลาที่กฎหมายนี้อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติไปจนคลอดรอดออกมาเป็นกฎหมาย ที่น่าจะมีการต่อสู้ถกเถียงกันอย่างหนักแน่นอน และน่าจะมากขึ้นอีกในช่วงที่กฎหมายใกล้ๆ จะผ่านออกมาเป็นร่างสุดท้าย เนื่องจากปัจจุบันเรายังมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่จะพิจารณากฎหมาย รวมถึงกลไกตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องนำกฎหมายมาให้ประชาชนแสดงความ
คิดเห็นด้วย

ความเปลี่ยนแปลงของเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันนี้มีจุดร่วมก็คือจะเป็นครั้งหนึ่งที่การออกกฎหมายใหม่แล้ว “ล้มกระดาน” ความเคยชินของสังคมที่สั่งสมมายาวนาน ซึ่งแตกต่างจากเรื่องทรงผมนักเรียนอยู่มากทั้งในแง่ของน้ำหนักของเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่กว่า เพราะมันเกี่ยวข้องกับนิติฐานะของคน และความกว้างของผลกระทบที่มีต่อคนทั่วไปทั้งประเทศ รวมถึงจุดแตกต่างอันสำคัญคือความเคยชินในเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่กฎหมายสร้างขึ้นมาเท่านั้น แต่มันมาจากพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย

แต่วัฒนธรรมของสังคมนั้นก็เกิดจากกฎหมายมิใช่หรือ? การประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปี 2477 ก็ทำให้รูปแบบครอบครัวผัวเดียวหลายเมียที่มีมาแต่ช้านานของไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบผัวเดียวเมียเดียว

นี่ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่งเท่านั้นเองที่สังคมไทยเราจะปรับวัฒนธรรมและยอมรับว่ารูปแบบครอบครัวนั้นมีได้หลากหลายกว่าหญิงกับชาย พ่อกับแม่ ผัวกับเมีย ด้วยผลของกฎหมายซึ่งยังไม่แน่ใจว่าในที่สุดจะออกมาในรูปแบบใด

ประสบการณ์ของหลายคนคงรู้ว่าการเปลี่ยน แปลงความเคยชินบางเรื่องที่สั่งสมมานาน เช่นพฤติกรรมส่วนตัวนั้น บางครั้งการตัดจบหรือหักดิบไปเลยครั้งเดียวนั้นทำได้ง่ายกว่าความเชื่อว่าควรจะค่อยปรับไปทีละน้อย การเลิกนิสัยเรื้อรังบางครั้งมันก็เลิกได้ทันทีเมื่อจำเป็น เพราะถ้าจะรอให้ค่อยเป็นค่อยไป เอาเข้าจริงมันจะ “ค่อยเป็น” แต่จะ “ไม่ค่อยไป” เท่าไร

เหมือนครั้งหนึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในปี พ.ศ.2546 ว่ากฎหมายชื่อบุคคลฉบับเดิมที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องเปลี่ยนนามสกุลตามสามีหลังสมรสแบบไม่มีทางเลือกนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเรื่องความเสมอภาค เป็นผลให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวในภายหลัง ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มโหฬารว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะทำลายระบบสถาบันครอบครัว ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการสืบสกุล บ้างไปไกลถึงขนาดว่าการที่ให้ผู้หญิงสามารถเลือกใช้นามสกุลหลังสมรสเดิมก็ได้หรือเปลี่ยนตามสามีก็ได้ (และกรณีของชายก็เช่นกัน) นั้น จะทำให้พี่น้องที่ไม่รู้จักกันมาหลงตกล่องปล่องชิ้นเป็นผัวเป็นเมียกันให้ผิดจารีต
ผิดผีกันเลยทีเดียว (เสียดายว่าจำไม่ได้แล้วว่าเขาเชื่อมโยงไปได้อย่างไรขนาดนั้น)

แต่ปัจจุบันเราก็คงรู้แล้วว่าผลของคำวินิจฉัยนั้นไม่ได้ส่งผลอะไรต่อสถาบันครอบครัวหรือมีการล่มสลายอะไรเหลวไหลอย่างที่ว่ากัน ความเปลี่ยน แปลงจากผลคำวินิจฉัยและกฎหมายก็เพียงให้สิทธิผู้หญิงที่แต่งงานแล้วเลือกชื่อสกุลตัวเองก็มีผลตรงไปตรงมา ไม่ก่อผลอะไรไปมากกว่านั้น หลังจากนั้นยังมีการแก้ไขกฎหมายให้เลือกจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนคำนำหน้านามก็ได้ ปัจจุบันก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดา

ก่อนการเปลี่ยนแปลงนั้นเราจะจินตนาการไปไกลกว่าความเป็นจริงเสมอ และเมื่อมันเกิดขึ้นจริงแล้ว ไม่นานความเปลี่ยนแปลงนั้นจะกลายเป็นความเคยชินใหม่ทับรอยลงไปเป็นวิถีปัจจุบันจนเห็นเป็นเรื่องปกติ มันก็แค่นั้นเอง

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image