เดินหน้าชน : ยิ่งช้ายิ่งช้ำ : โดย สัญญา รัตนสร้อย

แม้จะยังไม่สามารถกำหนด “วัน ว เวลา น” ที่ชัดเจน แต่ก็มีความแน่นอนอย่างยิ่ง การปรับ
คณะรัฐมนตรีต้องเกิดขึ้น

อย่างน้อยเพื่อปรับบุคคลเข้าสู่เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แทน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่ประกาศลาออกจากหัวพรรครวมพลังประชาชาติไทย ตำแหน่งนี้มีเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ยืนรอไว้แล้ว

สำทับกับปรากฏการณ์ภายหลังพรรคพลังประชารัฐเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นผลให้ 4 ยอดกุมาร

อุตตม สาวนายน รมว.การคลัง พ้นจากหัวหน้าพรรค

Advertisement

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน พ้นจากเลขาธิการพรรค

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ้นจากรองหัวหน้าพรรค

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พ้นจากกรรมการบริหารพรรค

จนต่อมาสัปดาห์ก่อน ทั้ง 4 ยอดกุมารประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ถ้อยแถลงอาจ
ดูนุ่มนวล แต่ความหมายก็คือตัดขาดจากกัน

เก้าอี้รัฐมนตรีของ 3 ใน 4 ยอดกุมาร จึงมีความชัดเจนต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน และคงไม่กลับมาอีก เมื่อถอดรหัสจากการตอบคำถามนักข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ถึงโอกาสทั้ง 3 คนจะได้กลับมาเป็นรัฐมนตรี “ท่านเหล่านี้ก็ทำงานกับผมมาโดยตลอด มีความสำเร็จมามากมายพอสมควร แต่ก็ต้องไปดูว่ากลไกทางการเมืองว่ากันอย่างไร”

หาก “กลไกทางการเมือง” ก็คือกลไกในพรรคพลังประชารัฐ บทสรุปของคำตอบจึงมีอยู่ในตัวเอง

ปรับ ครม.เกิดขึ้นแน่นอน แต่ปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ การวางบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง จัดคนถูกต้องเหมาะสมกับงานอย่างไร

รวมไปถึงห้วงเวลาจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เร็วหรือช้า ล้วนมีผลต่อการบริหารประเทศ โดยเฉพาะท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรง

หนักหน่วงกว่าวิกฤต “ต้มย้ำกุ้ง” เมื่อ 2540 มากมาย

ครม.ชุดใหม่ยิ่งเนิ่นช้ายิ่งจะเป็นปัญหาการบริหารภายในรัฐบาลปัจจุบัน แม้รัฐมนตรีที่อยู่ในเป้าถูกปรับเปลี่ยนยังคงทำหน้าที่อยู่ และมีอำนาจเต็มในฐานะเจ้ากระทรวง แต่ในทางปฏิบัติการตัดสินใจเชิงนโยบายที่จะผูกพันไปถึงการใช้งบประมาณ ผูกพันไปถึงรัฐมนตรีคนใหม่ มักจะไม่ค่อยทำกัน

ระดับนโยบายไม่ตัดสินใจ ขณะที่ฟากข้าราชการประจำ อาจเกิดอาการ “เกียร์ว่าง” รอทิศทางจาก “นายใหม่”

การทำงานลักษณะ “รูทีน” เป็นภาวะน่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์ไม่ปกติที่กำลังเผชิญอยู่ ตัดสินใจล่าช้า ทอดเวลาขึ้นนานเท่าไหร่ การแก้ไขปัญหายิ่งยากลำบาก

มีการพูดถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการฯ เป็นตัวแปรต่อการตัดสินใจปรับ ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยเสียก่อน

หากเป็นเช่นนั้น ต้องย้อนไปตรวจสอบกรอบเวลาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับตั้งแต่ร่างกฎหมายส่งมาถึงสภา

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 64 ส่งมาถึงสภาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน หากยึดตามกรอบเวลาเต็มที่ ร่างกฎหมายจะผ่านวาระ 3 ก็ตกราวกลางเดือนกันยายน

หากรอถึงวันนั้น ไฟเศรษฐกิจอาจลุกลามเกินควบคุม

คงต้องลุ้นกัน พล.อ.ประยุทธ์จะรวบรัดตัดสินใจปรับ ครม.เร็วขึ้น ตามที่บอกเป็นนัยกับนักข่าว “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น”

ได้แต่ภาวนาจะเป็นเช่นนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image