รายงานหน้า 2 : ‘สุระชัย’ยกเครื่อง‘ขสมก.’ ใช้รถใหม่‘อีวี-ลดมลพิษ’ ปรับเส้นทาง-สนองประชาชน

‘สุระชัย’ยกเครื่อง‘ขสมก.’ ใช้รถใหม่‘อีวี-ลดมลพิษ’ ปรับเส้นทาง-สนองประชาชน

‘สุระชัย’ยกเครื่อง‘ขสมก.’
ใช้รถใหม่‘อีวี-ลดมลพิษ’
ปรับเส้นทาง-สนองประชาชน

หมายเหตุสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “มติชน” โดยนายสุระชัยเป็นหนึ่งในวิทยากรในงานเสวนา-สัมมนามติชน ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563

เรื่องของแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. อย่างที่ทราบกันดีว่า ขสมก.ประสบปัญหาในเรื่องนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ประมาณ ปี 2556-2557 จนถึงปัจจุบันก็ยังจัดทำแผนไม่แล้วเสร็จสักที ซึ่งปัญหาของ ขสมก. มีอยู่หลายเรื่อง อาทิ เรื่องรถเก่า ประมาณ 2,511 คัน ที่บางคันมีอายุเฉลี่ย 20 ปี เพิ่งมีรถใหม่ประมาณ 485 คัน

ซึ่งเมื่อรถเก่า ปัญหาแรกที่ต้องเจอคือในเรื่องของค่าซ่อมแพง เสียหายง่าย ทำให้เกิดมลภาวะ และไม่ตอบโจทย์กับสังคมสูงอายุของไทย ซึ่งมองว่าไทยควรจะมีรถชานต่ำ เพื่อให้บริการคนชรา คนพิการ และเด็กที่เดินทางขึ้นรถลำบาก ดังนั้นเรื่องการเปลี่ยนรถจึงเป็นสิ่งสำคัญในแผนฟื้นฟู

Advertisement

ในส่วนของกรอบคร่าวๆ ของแผนฟื้นฟู ได้แก่ การเปลี่ยนรถใหม่เพื่อลดภาระของ ขสมก., การใช้เทคโนโลยีแทนคนเป็นเรื่องของความสำคัญในการลดต้นทุน, การปรับเส้นทาง เพื่อให้เกิดความกระชับและต่อเนื่องได้ และแนวทางการจัดเก็บค่าโดยสารแบบตั๋ว 30 บาทต่อวัน ที่เป็นสาระสำคัญแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. และถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนารถเมล์โดยสารของ ขสมก.ในอนาคต

สากลศึกษาระบุชัดเจนว่า แบบต่อวันราคา 30 บาทเดินทางกี่เที่ยวก็ได้ เมื่อนำมาเฉลี่ยกับอัตราค่าโดยสารที่ประชาชนเสียค่าโดยสารในรถปรับอากาศปัจจุบัน ประชาชนจะลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยเฉลี่ยมากกว่า 20%

ซึ่งแผนนี้จะปรับใช้เมื่อ ขสมก.เปลี่ยนเป็นรถเมล์อีวีทั้งหมดแล้ว หรือภายในปี 2564 ซึ่งกรอบแผนฟื้นฟูดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะเสนอในเดือนกันยายนนี้ต่อไป

สำหรับการเปลี่ยนรถใหม่ ขสมก.จะใช้วิธีการเช่ารถเมล์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งผู้ที่จะมาให้เราเช่าก็ต้องลงทุน จำนวนประมาณ 2,500 คัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ที่ผู้ให้เช่าจะต้องลงทุน โดยคาดว่าจะเช่าเพียง 1-2 รายเท่านั้น เพื่อลดความซับซ้อนของเทคโนโลยี ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนภายในประเทศ ที่เป็นเรื่องสำคัญมากในตอนนี้ เนื่องจากทาง ขสมก.ได้มีการกำหนดให้ประกอบชิ้นส่วนรถในไทย 50% ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ เกิดการผลิต และเกิดการเรียนรู้ทางเทคโนโลยี เพื่ออนาคตของรถเมล์ ไฟฟ้าในลำดับต่อไป

ในส่วนของกรอบเวลาในการส่งมอบรถจำนวน 2,500 คัน ขสมก.ได้ตั้งกรอบเวลาไว้ประมาณ 18 เดือน นับตั้งแต่วันที่เซ็นสัญญา ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนกันยายน 2563 รถกลุ่มแรกที่ควรจะได้ต้องมีการส่งมอบในเดือนเมษายน 2564 ในเรื่องนี้คือในส่วนของการเช่ารถใหม่ ซึ่งที่ใช้วิธีในการเช่ารถมองว่าบริหารง่ายครบกำหนดก็ส่งคืนเจ้าของน่าจะเป็นประโยชน์กับ ขสมก.มากกว่าการซื้อ

แต่อย่างไรก็ดีองค์ประกอบของแผนฟื้นฟูต้องเดินหน้าควบคู่กันไป ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี ที่จะต้องมาทดแทนพนักงานเก็บตั๋วโดยสาร ซึ่งจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายให้กับพนักงานที่เกษียณก่อนกำหนด

ซึ่งมีแผนจะปรับลดพนักงานเหลือ 8 พันคน จาก 1.3 หมื่นคน เรื่องของภาระหนี้สินที่ต้องมีการปรับหนี้ และการปรับโครงสร้างองค์กรให้สามารถรองรับกับสิ่งใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องกันไป

แนวทางการฟื้นฟูฐานะการเงินของ ขสมก.ในอนาคต ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้วางเป้าหมายให้ผลประกอบการของ ขสมก.หลุดพ้นการขาดทุนรายปี ผลประกอบการกลับมาเป็นบวกในปี 2572 ไม่มีผลประกอบการขาดทุน ที่กลายเป็นภาระงบประมาณ ที่รัฐบาลต้องมาชดเชยในอนาคตอีก

แต่การที่องค์กรจะกลับมามีผลกำไรเป็นบวกได้ ต้องมีการปรับโครงสร้างครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่ง ขสมก.ถือเป็นองค์ใหญ่ที่มีพนักงานอยู่หลายตำแหน่ง ส่งผลให้มีต้นทุนในการจ้างงานสูง จึงต้องมีการปรับลดพนักงานลงและนำเทคโนโลยีเข้ามาแทน ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นรูปลักษณ์ใหม่ของ ขสมก.ได้ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564

ส่วนในเรื่องของการปฏิรูป ตามแผน จะมีเส้นทางเดินรถที่ไม่ทับซ้อนกันรวม 162 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางของ ขสมก. 108 เส้นทาง ของเอกชน 54 เส้นทาง

โดยเส้นทางจะมีทั้งหมด 4 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.ไลน์เนอร์ คือการวิ่งรถระยะยาว แบบเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก 2.ฟีดเดอร์ คือการวิ่งรถระยะสั้น เชื่อมจากรถระยะยาวเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า 3.เซอร์เคิล คือการวิ่งรถแบบวงกลม เชื่อมระหว่างรถระยะยาวกับรถระยะสั้น และ 4.เอ็กซ์เพรส คือการวิ่งรถบนทางด่วน อาทิ เส้นทางงามวงศ์วาน-อนุสาวรีย์ชัย สมรภูมิ เป็นต้น

ซึ่งเมื่อเส้นทางเหล่านี้เชื่อมต่อกันการนำมาตรการ 30 บาทต่อวันมาใช้ก็ถือว่าจะช่วยให้ประชาชนได้ประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย และช่วยประหยัดระยะเวลาในการเดินทางอีกด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสิ่งที่ส่งผลกระทบกับระบบรถขนส่งสาธารณะรวมทั้ง ขสมก. และรถประจำทาง ที่ประสบปัญหาอยู่ตอนนี้

เรื่องแรกที่ได้ผลกระทบ คือยังมีการให้บริการกับประชาชนที่ยังต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะเพื่อไปทำงานและกลับบ้าน มีนักเรียนที่ต้องเดินทางไปโรงเรียนและกลับบ้าน มีผู้คนที่ต้องเดินทางไปจับจ่ายใช้สอย

ดังนั้นรถประจำทางจึงเป็นหัวใจของการเดินทาง การที่มีโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การกำหนดมาตรการรักษาระยะห่าง หรือโซเชียลดิสแทนซิ่ง ได้ส่งผลถึงบริการของ ขสมก.ไม่สามารถนำคนขึ้นรถเหมือนเดิมได้

ยกตัวอย่างในสถานการณ์ปกติ รถเมล์ 1 คันสามารถให้บริการประชาชนได้ประมาณ 60-70 คน แต่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ที่เริ่มมาตรการรักษาระยะห่าง ช่วงแรกประชาชนสามารถขึ้นรถได้เพียง 50% ของพื้นที่รถเท่านั้น

แต่ในปัจจุบันจำกัดที่นั่งและที่ยืนบนรถมีเพิ่มมาเป็น 70% ของพื้นที่รถ ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถขึ้นครบ 100% ได้จนกว่าสถานการณ์จะเข้าอยู่ภาวะปกติ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การบริหารจัดการการเดินรถต้องเปลี่ยนไป แทนที่ออกรถได้เท่าเดิมและรับผู้โดยสารได้เท่าเดิม ต้องเปลี่ยนเป็นออกรถให้มีความถี่มากกว่าเดิมแต่รับผู้โดยสารได้น้อยลง

รวมทั้งเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้โดยสารโดยต้องขอความร่วมมือให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้ ขสมก.ได้เพิ่มแอลกอฮอล์เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ รวมถึงการฉีดพ่นแอลกอฮอล์ทำความสะอาดรถก่อนทุกครั้ง

สิ่งเหล่านี้เป็นภาระที่ ขสมก.จำเป็นต้องทำ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีเพียง ขสมก. ที่มีภาระเพิ่มเพียงผู้เดียว มองว่าเป็นภาระร่วมกันของ ขสมก. ที่เป็นผู้ให้บริการกับประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนที่อยู่บนรถ

ถึงแม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีข้อมูลปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 บนรถ แต่ก็ไม่อยากให้ประชาชนหรือทุกคนที่อยู่บนรถสาธารณะการ์ดตก ต้องร่วมมือกันจนกว่าจะมั่นใจว่าทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

รัฐบาลจึงได้เรียกการปฏิบัติตัวในช่วงนี้ว่าเป็นรูปแบบนิวนอร์มอล

ในส่วนของงบประมาณ ที่ออกมาช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 ซึ่งมีหลายส่วนที่จะต้องเบิกจ่ายงบประมาณ อาทิ หน้ากากอนามัย ถุงมือ น้ำยาเช็ดรถ และแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในอดีตเราไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้และคาดว่าต้องใช้ไปตลอดนับจากนี้

อีกหนึ่งปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาคือในเรื่องของการรับผู้โดยสาร ที่จากปกติรับได้ 50-70 คน ต้องออกรถมากเพื่อรับคนจำนวนน้อยทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่รายได้ลดลง

ซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลกระทบอย่างมากกับ ขสมก. ในช่วงแรกมีผู้คนเดินทางด้วยรถเมล์น้อย จากวันละ
1 ล้านคน ลดเหลือ 300,000 คน

แต่ในปัจจุบัน ประชาชนกลับมาเดินทางด้วยรถเมล์แล้วประมาณ 8 แสนคนต่อวัน และเชื่อว่าจะกลับมาเดินทางประมาณ 1 ล้านคนต่อวันในเร็วๆ นี้

แต่ไม่สามารถขึ้นรถ 100% ได้จึงทำให้มีต้นทุนเพิ่มเติม ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นต้นทุนที่เพิ่มมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่มองว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น

ในส่วนเรื่องของการยื่นขอใช้งบประมาณในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท เบื้องต้น ขสมก.ได้เสนอขอไป 3 เรื่อง มูลค่าประมาณ 500-600 ล้านบาท กรอบระยะเวลา 6 เดือน

ได้แก่ เรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยให้กับพนักงานและผู้โดยสาร ในช่วง
โควิด-19, เรื่องค่าโดยสารที่หายไป และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเรื่องการดูแลผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ของ ขสมก. ทั้งเช่าไปลงอาหาร และผู้ที่เช่าพื้นที่โฆษณานอกรถ ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณา โครงการดังกล่าวในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

ส่วนการปรับโฉมใหม่ของ ขสมก. ทั้งในเรื่องของการเช่ารถใหม่ จุดประสงค์ ก็เพื่อต้องการตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ในเรื่องของการลดมลพิษ เพิ่มความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงในเรื่องของการปรับเส้นทางให้มีการเชื่อมต่อถึงกันทั้งระบบ ทุกเรื่องล้วนแต่ทำเพื่อประชาชนทั้งสิ้น

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน อย่างน้อยที่สุดที่จะได้เห็น คือ รถใหม่ ที่จะช่วยในเรื่องของการลดมลภาวะ, ระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีทิคเก็ต เพื่อสะดวกในเรื่องของการจ่ายเงิน และเรื่องการปรับเส้นทางให้รถวิ่ง

ซึ่งย้ำอีกครั้งว่าเรื่องเหล่านี้ล้วนแต่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image