สถานีคิดเลขที่ 12 กลับสู่ภาวะธรรมชาติ โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 กลับสู่ภาวะธรรมชาติ โดย ปราปต์ บุนปาน

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ ให้รัฐบาลยุบสภา, หยุดคุกคามประชาชน และแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ดำเนินกิจกรรมคราวนี้ นิยามว่านี่คือ “การชุมนุมใหญ่” ไม่ใช่ “แฟลชม็อบ” เหมือนเมื่อหลายเดือนก่อน

ก่อนช่วงเย็นวันเสาร์ หลายฝ่ายเชื่อว่าความเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นคงไม่ได้มีสภาพเป็น “การชุมนุมใหญ่” เพราะระดมกำลัง-โฆษณาประชาสัมพันธ์กันแค่ในโซเชียลมีเดีย ภายในระยะเวลากระชั้นชิด ท่ามกลางความวิตกเรื่องโควิด-19 อาจกลับมาระบาดรอบสอง

ทว่าจนถึงช่วงค่ำของวันเดียวกัน สังคมก็ได้ประจักษ์ว่าการชุมนุมคราวนี้มีขนาด “ใหญ่” เกินความคาดคิดของใครหลายคน หากพิจารณาจากจำนวนและความหลากหลายของผู้เข้าร่วมชุมนุม

Advertisement

นี่แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังเบื่อ-โกรธผู้นำ, รัฐบาล และระบอบอำนาจปัจจุบัน ทั้งยังพร้อมจะลงถนน เพื่อระบายออกซึ่งอารมณ์เบื่อหน่ายโกรธแค้นดังกล่าว

หากมองจากมุมของรัฐบาล ผู้ครองอำนาจ และกองเชียร์ที่สนับสนุน “ลุงตู่” ซึ่งมักยึดมั่นเอาความสงบเรียบร้อยเป็นแก่นแกนสำคัญของสังคมการเมือง

การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันเสาร์ และความเคลื่อนไหวต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นตามมา ย่อมถือเป็น “ภาวะผิดปกติ” หรือ “ความปั่นป่วนวุ่นวาย” ที่ไม่ควรถือกำเนิดขึ้น หรือไม่ควรดำรงอยู่อย่างยืดเยื้อยาวนาน

Advertisement

ดีไม่ดีถ้าโควิดระลอกสองหวนกลับมา ส่วนปัญหาปากท้องของประชาชนยังมีแนวโน้มหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นเรื่อยๆ “ม็อบนักศึกษา” ก็อาจกลายสภาพเป็น “แพะรับบาป” ของคนกลุ่มนี้ได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม หากมองโลกในอีกแง่หนึ่ง การชุมนุมที่ริเริ่มโดยกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” อาจถือเป็นปรากฏการณ์ซึ่งบังเกิดขึ้นตาม “ภาวะปกติ” หรือ “ธรรมชาติ” ทางการเมือง

นี่คือความปกติที่แสดงอาการออกมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ก่อนจะระงับลงชั่วคราวในห้วงการแพร่ระบาดอัน “ไม่ปกติ” ของเชื้อไวรัสโคโรนา

นี่คือปฏิกิริยาต่อสภาพการเมือง ที่ถูกมองว่าดำเนินไปบนกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรม ภายในระบบโครงสร้างอันบิดเบี้ยว ด้วยทัศนคติของเครือข่ายอำนาจที่ไม่สนไม่แคร์ใคร

นี่คือปฏิกิริยาต่อสภาพเศรษฐกิจ ที่แปรเปลี่ยนจากอาการซึมลึก ผู้คนตรงฐานรากไม่มีกำลังจับจ่ายใช้สอย มาสู่สภาวะตกต่ำ และกำลังมีปัญหาเรื่องการจ้างงาน

นี่คือปฏิกิริยาต่อสภาพสังคมที่ทวีความเหลื่อมล้ำ โดยชนชั้นนำ-คนมั่งมีส่วนน้อยที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือไม่ลำบากยากแค้นจากนานาปัญหาซึ่งรุมเร้าประเทศอยู่ นั้นดูจะพึงพอใจในการธำรงรักษาสถานภาพของตนเองและรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมชนิดเดิมเอาไว้ ขณะที่คนระดับล่างๆ ลงมา เริ่มจะอดรนทนไม่ไหว

ถ้ามองในแง่นี้ การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คือสิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิด และอย่างไรเสียก็ต้องเกิด

เรื่องสำคัญที่ฝ่ายมีอำนาจต้องครุ่นคิด จึงได้แก่การพยายามตีโจทย์ว่าตนเองควรจะรับมือหรือเผชิญหน้ากับ “สภาวะปกติธรรมชาติ” ดังกล่าวอย่างไร

จะฝืนธรรมชาติด้วยการควบคุม หยุดยั้ง ปราบปราม สลายการชุมนุม ด้วยหลักการที่ว่าหากคนรุ่นใหม่ “แรง” (ทางความคิด) มา เจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถ “แรง” (ทางกำลังหรือมาตรการกฎหมาย) กลับไป

หรือจะหาช่องทางรวบรวมข้อเสนอ-เสียงเรียกร้องบนท้องถนน เข้าสู่ระบบของสถาบันการเมืองต่างๆ อันจะนำไปสู่การพูดคุย ปรึกษาหารือ ตลอดจนการปฏิรูปร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน/สังคม

ดูเหมือนเวลาในการขบคิดถึงปัญหาเหล่านี้ของคณะผู้ถือครองอำนาจ จะเหลือน้อยลงทุกที

หรือบางคนอาจเห็นว่าถ้าประเมินจากสภาพอาการต่างๆ ในปัจจุบัน ทุกอย่างนั้นคล้ายจะช้าและสายเกินการณ์ไปหมดแล้ว

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image