นักวิชาการหนุน-เปิดเวทีถก รณรงค์’เสรี’ร่าง รธน.


หมายเหตุ
– นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

โคทม อารียา

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี

มหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

ส่วนตัวมีความคิดจะชวนคนที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้มาเสนอความเห็นกัน โดยเชิญคนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้มาพูดจา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อทำความเข้าใจให้ชัดขึ้น

ตามหลักแล้ว เวลานี้ยังไม่ควรเสนอว่าไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย ยังมีร่างสุดท้ายที่จะตามมาอีกในเดือนข้างหน้า ถ้ามีร่างสุดท้ายแล้วค่อยว่ากันอีกทีว่าจะรับรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายหรือไม่ อย่างไร ฉะนั้น ในเวลานี้คิดว่าต้องเสนอว่าจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นอย่างไรให้ร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายพอเป็นที่ยอมรับของประชาชนได้

ส่วนตัวที่มีข้อติดขัดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่แทบจะทำไม่ได้ เรียกได้ว่าลงยันต์ไว้ให้แก้ไขอะไรไม่ได้ จะแก้ไขทั้งทีก็กำหนดให้ทุกพรรคการเมืองต้องเห็นด้วย ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก เพราะโดยธรรมชาติของพรรคการเมืองนั้นไม่เห็นด้วยกันเองอยู่แล้ว ดังนั้นควรเปิดกว้างให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายกว่านี้ รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็กำหนดให้แก้ง่ายกว่านี้ทุกฉบับ แต่ก็ไม่เห็นจะแก้ไขอะไรกันมากนัก ฉะนั้น ในขั้นนี้ควรเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นก่อน ส่วนร่างสุดท้าย หากจะรับ หรือไม่รับ ก็ควรระบุด้วยว่าที่รับหรือไม่รับเพราะเหตุผลอะไร

Advertisement

อีกประการหนึ่ง อยากเสนอว่า จากนี้ถ้าจะไปสู่กระบวนการลงประชามติ ช่วยบอกหน่อยว่าหากรับรัฐธรรมนูญนี้แล้วประชาชนจะเจออะไร และหากไม่รับจะเจออะไร จะได้เลือกโดยรู้เท่าถึงการณ์ เพราะเป็นเรื่องใหญ่

ในเวลาที่ความขัดแย้งสูงเช่นนี้ เมื่อมานำเสนอความเห็นกันต้องไม่ถกเถียงกันเพื่อเอาแพ้เอาชนะ อยากให้คนเห็นต่างกันมาเสวนา แลกเปลี่ยนความเห็นต่างกันได้เป็นปกติ และเวทีต้องเป็นเวทีที่ปลอดภัยและเปิดกว้าง คนที่เข้ามาร่วมเสวนาควรเป็นคนที่พร้อมรับฟังผู้อื่นมากกว่าจะพูดเรื่องของตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว

พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องการจัดเสวนาถกเถียงเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนั้น ควรจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลและ กรธ.ชุดนี้อาจจะอ้างว่ามีการรับฟังข้อคิดเห็นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่กำหนดไว้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญต้องฟังเสียงของประชาชน ทั้งที่ข้อเท็จจริงเราก็ไม่เคยได้เห็นว่า กรธ. จะเดินสายเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนมากเท่าไรนัก

การรณรงค์ต่างๆ ที่ควรจะต้องจัดได้อย่างเสรี ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ไม่เห็นด้วย ถ้าว่ากันตามหลักการแล้วใครจะรณรงค์อย่างไรก็ย่อมได้ โดยในส่วนนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะรับหน้าที่ในการจัดและการออกระเบียบต่างๆ แต่ส่วนตัวเกรงว่าอาจจะมีวิธีการว่าถ้ารณรงค์สนับสนุนสามารถทำได้ แต่หากเป็นการต่อต้านอาจจะทำไม่ได้ และโยงไปว่าเป็นการต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ในต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย สามารถที่จะรณรงค์กรณีต่างๆ ที่จะมีการทำประชามติได้อิสระและเสรีเต็มที่ รวมถึงการระบุในรัฐธรรมนูญว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่บ้านเราหลงทางกัน โดยมีนักวิชาการออกมาชี้ว่า มีเพียง 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็พอแล้ว ซึ่งเป็นการชี้นำในทางที่ผิด

รวมไปถึงการชี้นำว่าไม่มีประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ และพยายามเขียนสิ่งที่ทำลายหลักประชาธิปไตยเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะความพยายามในการทำลายอำนาจประชาชนในการปกครองตนเอง ทำลายตัวแทนของประชาชนให้อ่อนอำนาจลง ยักยอกอำนาจประชาชนไปไว้ให้คนกลุ่มเดียว และพยายามที่จะสืบทอดอำนาจ เป็นสิ่งที่เราเห็นชัดเจนจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image