ปรับครม.-เเฟลชม็อบ อำนาจ‘บิ๊กตู่’ อำนาจ‘ประชาชน’

รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เริ่มแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ

ล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

หากเป็นจริงตามนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ถือเป็นบทสรุปของตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ตำแหน่งนี้มีความหมายสำหรับการปรับ ครม.ครั้งนี้

Advertisement

ทั้งเพราะหลังจาก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็เกิดกระแสข่าวมาตลอดว่าเก้าอี้ตัวนี้มีการแย่งชิง

ระหว่าง “คนนอก” กับ “คนของ พปชร.”

หากการลาออกของนายสุพัฒนพงษ์ คือการลาออกเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจริง

Advertisement

เท่ากับว่า เก้าอี้รัฐมนตรีพลังงานอยู่ในมือของ “คนนอก”

ส่วนแรงผลักดัน “คนในพรรคพลังประชารัฐ” ที่มีมติพรรคผลักดัน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้น คงเป็นเพียงแค่ข้อเสนอ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงให้ได้เห็นว่า คนที่มีอำนาจปรับ ครม. คือ นายกรัฐมนตรี

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลกำลังมีสมาธิกับการปรับ ครม. ปรากฏว่าทั่วประเทศกลับเกิดแฟลชม็อบขึ้นมาอีกครั้ง

แฟลชม็อบที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เรียกร้องประชาธิปไตย ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเลือกตั้งใหม่

แฟลชม็อบของนักเรียนนิสิตนักศึกษานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วช่วงเวลาก่อนโรคโควิด-19 ระบาด แต่พอเกิดโรคระบาดขึ้น รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศล็อกดาวน์เพื่อสกัดการระบาดของไวรัส

ณ เวลานี้ แฟลชม็อบได้หายไป ทุกคน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ” ป้องกันมิให้ตัวเองติดไวรัส และป้องกันมิให้ตัวเองแพร่ไวรัส

กระทั่งสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถึงเวลาเปิดเทอมอีกครั้ง

แฟลชม็อบก็กลับมา

น่าสนใจตรงที่การกลับมาครั้งนี้ เป้าหมายของนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่ตั้งเวทีปราศรัย แสดงถึงทรรศนะทางการเมืองที่มีการศึกษาสถานการณ์

สามารถวิจารณ์การได้มาของนายกรัฐมนตรี กลไกของรัฐธรรมนูญ การทำหน้าที่ของ ส.ว. รวมถึงมีข้อเสนอต่างๆ เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยตามที่กลุ่มเยาวชนมองเห็น

พลังนักเรียนนิสิตนักศึกษาเหล่านี้แม้จะชุมนุมกันแบบแฟลชม็อบ คือ ใช้เวลาในการรวมตัวกันไม่นาน แต่ปริมาณการร่วมชุมนุมเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นลำดับๆ

การวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาของประเทศ ทั้งการเหลื่อมล้ำ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมือง นับวันจะตรงใจกับคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

การใช้สิทธิในการชุมนุม อภิปราย เสนอความคิดเห็นเช่นนี้ เหล่านักเรียนนิสิตนักศึกษาอ้างสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย

อ้างถึงอำนาจของประชาชนที่สามารถทำได้

แม้ทุกครั้งที่กลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษาออกมาจะมีข่าวสะพัดกล่าวหาว่ามีพรรคการเมืองหนุนหลัง

หลายครั้งคงเคยได้ยินว่านักศึกษาถูกหลอก หลงเชื่อนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

เหมือนกับที่คนรากหญ้าเคยถูกกล่าวหาว่าถูกหลอก รับเงิน หรือหลงเชื่อนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอำนาจรัฐ

แต่สำหรับข้อกล่าวหานักเรียนนิสิตนักศึกษาครั้งนี้ กลับไม่มีพลังเท่ากรณีการกล่าวหาคนรากหญ้า

ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายรัฐเองกลับกลายเป็นฝ่ายที่ไม่น่าไว้วางใจ

กรณีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อเนื่องไปทีละเดือน คือ ข้อหวาดระแวงว่ารัฐจะใช้เพื่อสยบเเฟลชม็อบ

รัฐบาลจึงต้องมีวิธีการที่ไม่ใช่การใช้อำนาจในการบริหารจัดการให้ประเทศชาติอยู่ในความสงบ

การที่ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกมายืนยันว่า จะไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อสกัดม็อบ นั่นเป็นการลดความหวาดระแวง

การที่รัฐสภานำเรื่องนักเรียนนิสิตนักศึกษาเข้าไปหารือ และเสนอตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมารับฟัง

นั่นก็เป็นอีกทางออกที่ต้องการลดกระแส

แม้การใช้วิธีการทาง “การเมือง” มาบริหารจัดการกับแฟลชม็อบแทนการใช้ “กฎหมาย” จะแลดูดี แต่หากปัญหาหลักของประเทศไม่สามารถแก้ไขได้

ข้อเสนอเรื่องประชาธิปไตยที่มีความเห็นแตกต่างกันยังไม่มีข้อยุติ

ถ้าความยากลำบากทางเศรษฐกิจยังเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ถ้ามีการใช้อำนาจอย่างเหลื่อมล้ำ การกระจายทรัพยากรไม่เที่ยงธรรม

การดำเนินการต่างๆ ก็จะเป็นเพียงแค่การถ่วงเวลา เพราะหากปัญหาที่แท้จริงยังไม่สามารถแก้ไข ในที่สุดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็จะปะทุ

ประชาธิปไตยนั้นมีทางออกเพื่อ “เริ่มต้นใหม่” เมื่อเกิดความขัดแย้ง นั่นคือ การยุบสภา เพื่อโยก “อำนาจ” ของรัฐบาลไปให้ประชาชน

จัดเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ประชาชนตัดสินความขัดแย้ง

แต่สำหรับสถานการณ์ที่รัฐบาลมีความต้องการความต่อเนื่องในการบริหารประเทศ นับจาก คสช. มาสู่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

จึงเกิดความไม่แน่นอนว่ากลไก “เริ่มต้นใหม่” จะมีประสิทธิภาพในการแก้ไขข้อขัดแย้งหรือไม่

ณสถานการณ์เช่นนี้ แม้ว่าในปรากฏการณ์การปรับ ครม. ความเคลื่อนไหวล่าสุดจะบ่งชี้ว่า การปรับ ครม.เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี

แต่สำหรับการเผชิญหน้ากับแฟลชม็อบ อ้างสิทธิเสรีภาพซึ่งเป็นอำนาจของประชาชนนั้น รัฐบาลคงต้องอ่านสถานการณ์ด้วยความรอบคอบ

ต้องไม่มองว่านักเรียนนิสิตนักศึกษาที่ออกมาแสดงความคิดเห็นและยื่นข้อเรียกร้อง เป็นศัตรูคู่อริ

เพราะถ้ารัฐบาลเป็นคู่อริกับประชาชน ย่อมส่งสัญญาณให้ทราบว่า ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในอันตราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image