‘วัลลภ’ เยือนชายแดนภาคใต้ เดินสายรับฟังพูดคุยเพื่อสันติสุขในพื้นที่

‘วัลลภ’ เยือนชายแดนภาคใต้ เดินสายรับฟังพูดคุยเพื่อสันติสุขในพื้นที่

 

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่โรงแรมซีเอส จ.ปัตตานี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และคณะทำงาน เดินสายลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นครั้งที่ 2 เพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเเดินทางรับฟังแลกเปลี่ยนกับกลุ่มต่างๆ หลังจากหยุดชะงักจากสถานการณ์โควิด-19 ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดที่ได้จากทุกกลุ่ม มาประเมินและนำไปสู่การดำเนินการพูดคุยครั้งต่อไป ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้พบกับหลายๆ กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มผู้นำศาสนาคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กลุ่มผู้แทนสภาเครือข่ายปัญญาชน จชต. (กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง-PNYS.) กับ กลุ่มสมาคมนักศึกษามุสลิมในต่างประเทศ กลุ่มผู้แทนเครือข่ายชาวพุทธ จชต. กลุ่มนักธุรกิจ และผู้แทนหอการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้และประชุมร่วมกับผู้แทนคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของ สล.3 รับข้อเสนอต่อกระบวนการพูดคุยฯอีกด้วย จากนั้นคณะได้เยือนพิพิธภัณฑ์ ฮัจยีสุหลง (มูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลง อับดุลกอร์เดร์ โต๊ะมีนา) และเยี่ยมคารวะแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายเด่น โต๊ะมีนา อดีต รมช.มท. ซึ่งสถานการณ์ที่ผ่านมา มีความต่อเนื่อง และคืบหน้าอยู่พอสมควร

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า สำหรับการลงมาในครั้งนี้ที่ได้มาพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่หลายๆ กลุ่ม และได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และหลากหลายเป็นอย่างมาก จะได้นำไปวิเคราะห์ นำไปกลั่นกรองให้ตกผลึก ประมวลให้เป็นเสียงของภาคประชาสังคมในพื้นที่ทั้งหมด ว่ามีความต้องการอย่างไร ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาแม้มีปัญหาในเรื่องการเดินทาง แต่เรายังมีการต่อสายถึงการพูดคุยกันอยู่ตลอด กับผู้อำนวยความสะดวกทางมาเลเซีย เพื่อไม่ให้มีการหยุดชะงักแต่อย่างใด โดยในช่วงต้นนี้เรายังคงคุยกับกลุ่ม BRN แต่กลุ่ม MaRa pattani หรือกลุ่มอื่นๆ ก็เปิดโอกาสด้วย และในอนาคตเราตั้งใจพูดคุยให้ครบกับทุกๆ กลุ่มเพราะถ้าหากว่าเราสามารถพูดคุยกับทุกๆ กลุ่มได้แล้ว จะสามารถรับฟังแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้รอบด้านมากขึ้น

ที่ผ่านมาช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถือว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกและสถานการณ์การประกาศหยุดยิงนั้น เราเห็นด้วยกับการหยุดสถานการณ์ความรุนแรงนี้ ซึ่งเราได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว ตรงกับความต้องการของเลขาธิการสหประชาชาติ เพราะหลายประเทศที่มีปัญหาความรุนแรงต่างก็หันหน้ามาแก้ไขปัญหาโควิดก่อน ทางรัฐบาลไทยเองก็เช่นกันในระดับพื้นที่เองทุกภาคส่วนทุกองค์กรก็พยายามแก้ไขปัญหาเองอย่างเต็มที่และได้รับความชื่นชมจากนานาชาติด้วย กระทรวงต่างประเทศเองเห็นชอบในหลักการและร่วมแก้ปัญหาด้วย

Advertisement

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ขณะนี้ลดลงมาก เราก็ประเมินอยู่ว่าที่ลดลงเพราะว่าสถานการณ์โควิดหรือการแถลงการหยุดยิงขณะนี้ยังประเมินกันอยู่ และแม้สถานการณ์โควิดจะยังคงยาวไปถึงต้นปีหน้า แต่การพูดคุยสันติสุขยังคงต้องดำเนินต่อไป ไม่มีการหยุดชะงักแน่นอน เราจะหาวิธีใหม่ๆ ต่อการพูดคุยครั้งต่อไป เพราะเป็นแผนระดับนโยบายยุทธศาสตร์ระดับชาติ ก็ต้องดำเนินการต่อไป ส่วนการพูดคุยครั้งต่อไปจะมีความชัดเจนเมื่อไหร่ต้องรอดูสถานการณ์โควิดในประเทศเพื่อนบ้านก่อนว่าจะจบลงเมื่อใด

น.ส.ละม้าย มานะการ คณะประสานงานพูดคุยสันติสุขด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้ยกประเด็นของโครงการอุตสาหกรรมจะนะ ว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ โครงการครั้งนี้ควรจัดทำให้มีความเหมาะสม สำหรับชาวจะนะ ควรออกแบบให้มีความเหมาะสมกับทุกๆ กลุ่ม การสร้างการพัฒนา ที่ผ่านมาคนจะนะเองมีส่วนในการออกแบบเมือง มาตั้งแต่แรกตั้งแต่ก่อนปี 2540 แต่ ครม.กลับมีมติเร่งด่วน ให้มีการจัดทำเปลี่ยนผังเมืองจากผังเมืองสีเขียวกลายเป็นสีม่วงนี้ ไม่มีการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่เลย และการจัดเวทีของทาง ศอ.บต.ที่ผ่านมานี้ให้กับกลุ่มที่เห็นด้วยเท่านั้น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเลย อาจเป็นเวทีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากสีเขียวเป็นสีม่วงเลย โดยถามทุกคนไหมว่าเห็นด้วยมากแค่ไหน ในทางเวที สล.3 เองก็ต้องการพูดคุยกับกลุ่มทีมที่เห็นคัดค้านด้วย แต่ยังไม่สำเร็จเพราะมีเงื่อนไขบางประการ จริงๆ แล้วส่วนใหญ่คนจะรู้และมองเห็นกลุ่มอยู่เพียงแค่ 2 กลุ่มเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงยังมีกลุ่มอีกหลายๆ กลุ่ม และในนี้ยังมีกระบวนการต่อรอง ที่ไปไกลมากด้วย อันนี้คือการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมยังไม่ดำเนินการตั้งแต่ต้น จึงขอฝากกลุ่มที่เกี่ยวข้องและทางคณะได้พิจารณากรณีนี้ด้วย

นาย มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน ผู้ช่วยเลขานุการคณะประสานงานสันติระดับพื้นที่ กล่าวว่า ผมมองว่าสถานการณ์โดยรวมมีทิศทางที่ดียิ่งขึ้น ประเด็นของการเสนอความคิดเห็นนี้ผมเห็นว่ายิ่งมีความถี่มากเท่าไหร่ การแสดงออกก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น ที่ผ่านมาเราเห็นว่าชาวบ้านที่เมื่อก่อนนี้ไม่รับฟังประเด็นการพูดคุย แต่เมื่อเราจัดเวทีรายงานให้เห็นเรื่องการพูดคุย ทำให้ประชาชนกลับมาเห็นความสำคัญมากขึ้น หลังจากที่พวกเรานำผลการดำเนินการพูดคุยไปให้ชาวบ้านได้รับรู้ พวกเขามาสนใจมากขึ้น ทั้งนี้ ในกลุ่มของทางคณะ สล.2 และ สล.3 เองต้องมีการรวมกันเพื่อระดมหาทางออกร่วมกันได้ให้มีการนำข้อเสนอออกมาได้มากที่สุด เพราะยังมีข้อเสนออีกหลายชั้น มารวบรวมข้อเสนอนั้นมา จะได้มีความต่อเนื่องไม่ให้มีช่องว่างเกิดขึ้น การทำให้ไม่ให้มีช่องว่างจะทำให้เกิดความชอบธรรมต่อกระบวนการพูดคุย และต่อไปเห็นว่าสมควรให้ความรู้กับประชาชนต่อการพูดคุยสันติสุขให้ถึงระดับชาวบ้าน ประชาชนไปจนถึงผู้นำหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ที่เป็น actor ทั้งหมด ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมได้ ทั้งหมดที่มีอยู่ในนี้อาจมีการต่อสายตรงช่องทางพิเศษกับกลุ่มเห็นต่างที่อยู่ในพื้นที่เอามาคุยได้ (ทางลับ) เพื่อเอาเสียงที่ได้มานำเสนอในที่นี้ด้วย ในอนาคตอาจเป็นไปได้ถ้าเราเปฺิดพื้นที่มากขึ้น และในคณะ สล.2 และ สล.3 ต้องเร่งทำงานเพื่อนำเสียงอื่นๆ ตัว actor ใหม่ๆ ทั้งหมด มานำเสนออีก ทุกคนต้องมีบทบาทในการนำไปสู่กระบวนการพูดคุยสันติสุขต่อไปด้วย

Advertisement

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image