แสงไฟในสายลม : เมื่อความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ปรากฏตัว โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ คงยังไม่สามารถประเมินกันได้ในระยะยาวว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ และการตอบโต้ของรัฐนั้นจะเป็นไปในทิศทางไหน

ผมได้แต่สังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถชี้ชัดอะไรลงไปได้ เพราะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการประท้วง ทั้งในแง่การเมืองเรื่องการประท้วง หรือยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีในการประท้วง ประเภทที่สามารถธิบาย “สูตรสำเร็จ” ของการประท้วงได้ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ และจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงไหม แค่ไหน เพียงไร ควรทำอย่างไร ฯลฯ

1.จากประสบการณ์ที่มีโอกาสพบปะกับ “เด็ก” หลายคน (“เด็ก” ในความหมายนี้คือเรียกกันตามอายุ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายจะให้คุณค่าใดๆ ว่ารู้น้อยกว่า หรือไม่รู้ หรือไม่พร้อม) ซึ่งภายหลังก็ทราบว่าอ้าว เจ้านี่ เจ้านั่นเองเหรอเนี่ย ผมไม่เคยพบว่าเขาถามอะไรผมว่าควรจะทำอะไร และในอีกด้านหนึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร เชื่ออะไร หรือถ้าผมมีทรรศนะเรื่องใดผมก็พบว่าบางคนก็ชี้แจงเลยว่าเขาไม่คิดแบบที่ผมคิด นี่ผมกล่าวรวมๆ ในสถานการณ์ 6 ปีที่ผ่านมาเลยนะครับ

เมื่อตอนหกปีก่อน ภายหลังการทำรัฐประหาร ผมเป็นคนหนึ่งที่ถูกเชิญตัวไปคุยในค่ายทหาร (ไม่ถูกเรียกอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ) หนึ่งในบทสนทนา คือ ความห่วงใยของเจ้าหน้าที่รัฐต่อสถานการณ์บ้านเมือง (ในแบบของเขา) และเขา (หลายคน) ยังขอความร่วมมือว่าให้ช่วยอธิบายให้เด็กๆ รุ่นใหม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง ไม่นับว่ามีการสอบถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างผมกับบรรดาผู้มีอิทธิพลทางความคิดหลายท่าน)

Advertisement

มาถึงหลังจากนั้น บรรยากาศการเรียนเอง เด็กก็รู้อะไรมากขึ้น ไม่ได้รู้จากห้องเรียน ขนาดนั่งเรียนพวกเขายังเปิดอินเตอร์เน็ตไปไหนต่อไหน อย่าไปเชื่อว่าพวกเขาไม่สนใจเรียน บางทีพวกเขาอ่านอะไรที่น่าสนใจกว่าสิ่งที่สอนในห้องเรียน หรืออ่านอะไรเพื่อตรวจสอบสิ่งที่สอนในห้องเรียนด้วยซ้ำ (ผมเคยแอบเห็นสิ่งที่เด็ก ม.ต้นคนหนึ่งอ่านบนรถไฟฟ้า ผมถึงกับไม่เชื่อสายตาตนเอง)

ดังนั้น ความเข้าใจเรื่องแกนนำ เรื่องขบวนการนักศึกษา การปลุกระดมนั้นไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของมหาวิทยาลัย หรือในห้องเรียนแล้วครับ ต่อให้อาจารย์หลายคนที่ถูกหมายหัวว่ามีอิทธิพลกับเด็กสมัยนี้ ลองไปดูในชั้นเรียนได้ครับ เขาอาจไม่ใช่อาจารย์ที่สอนสนุก สอนเก่ง แต่คนที่ติดตามเขาอาจจะไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยนั้นหรือในห้องเรียนนั้นด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่ผมเห็นก็คือ เด็กสมัยนี้หลุดพ้นจากประวัติการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเส้นตรง ไม่เหมือนคนรุ่นผมที่ต้องมีคนเดือนตุลาเป็นหมุดหมาย ต้องฟัง ต้องอ่าน ต้องตาม เด็กสมัยนี้เขารู้จักโลกที่กว้างไกลกว่าที่เรารู้จัก และทำอะไรที่เรานึกไม่ถึงก็มาก หลายปีก่อนผมเองยังไม่รู้จักโจชัว หว่องเลย จำได้ว่าเจ้าเนติวิทย์เพิ่งเข้าคณะมา แล้วก็บอกว่าอยากจะจัดงาน 6 ตุลาฯ จุฬาฯมองอนาคต แล้วก็เมื่อจะมีงาน ลูกศิษย์ผมอีกกลุ่มซึ่งก็คือรุ่นพี่เจ้าแฟรงค์ที่อยู่ในฝ่ายความมั่นคงเองก็มาเล่าว่า พวกเขาก็ยังงงว่าเจ้าโจชัวนี่มันคือใคร ตอนไปประชุมการตั้งรับสถานการณ์การจัดงานนี้โดยเจ้ารุ่นน้องสุดแสบคนนี้

Advertisement

มาถึงการย้อนกลับไปที่ 2475 นี่ก็คงจะเป็นเรื่องอีกด้านหนึ่ง ที่คงไม่มีใครคาดถึง อย่าลืมว่าช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ การเคลื่อนไหวย้อนกลับไปที่ 1984 มากกว่า คืออ่านหนังสือ 1984 ในที่สาธารณะของเจ้าแชมป์ แล้วโดนจับโดนลาก

ผมจำได้ว่าในงานเมื่อเร็วๆ นี้ที่ FCCT ตอนรำลึก 24 มิถุนา เจ้าแชมป์นี่เองก็มาให้ความเห็นในงานว่าทำไม 2475 จึงกลายเป็นประเด็นสำหรับคนรุ่นนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากความหมดหวังของคนรุ่นเขาต่อคนเดือนตุลาในฐานะต้นแบบ

2.การเคลื่อนไหวในปัจจุบันนั้น ไม่ใช่แค่การเชื่อมประสานโลกออนไลน์กับ โลกออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างง่ายๆ แต่เอาเข้าจริง มันมีโลกสี่โลกที่ซ้อนกันอยู่ในจินตกรรมของเขา

โลกแรก คือ โลกออฟไลน์คือชีวิตประจำวันของเขา ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้ปล่อยทุกอย่างออกมาหมด แต่จำต้องแสดงอะไรอีกมากมาย อย่างเช่นการพยักหน้าว่าเข้าใจในห้องเรียน เขียนข้อสอบด้วยการเก็งว่าตอบอย่างไรจึงจะถูก (ใจ) เพราะเขาอาจไม่เชื่ออย่างนั้น เรื่องนี้อย่ามามองว่าอาจารย์ล้างสมอง เพราะไปถามว่าเด็กสายวิทย์ที่ตอบข้อสอบ เขาตอบตามนั้นมันไม่ได้หมายความว่าเขาตอบตามความจริง เขาอาจจะตอบเพราะเขาต้องการคะแนนเช่นกัน ไม่ได้แปลว่าเขาแคร์หรือ give a shit กับสิ่งนั้น

โลกที่สอง คือ โลกออนไลน์ ที่เราคิดว่าเขาจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะระบบออนไลน์พยายามบังคับให้เรามีตัวตนที่แท้จริงเพิ่มขึ้น เช่นมี พ.ร.บ.คอมพ์มากำกับ มีการยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการ ดังนั้นพวกเขาก็ต้องแสดงออกอีกตั้งหลายอย่างที่จะหลบรอด เช่น การพูดอ้อม การพูดด้วยรหัส การเข้าโปรแกรมที่ตรวจจับยากขึ้น การสร้างระบบบัญชีที่ไม่ระบุตัวตนในบางโปรแกรม เช่น การสร้าง “แอคหลุม” เพื่อตามและโพสต์ในทวิตเตอร์

โลกใบที่สาม คือโลกแห่งจินตนาการ คือการถอดสิ่งที่ถูกสร้างในจินตนาการเช่น นิยายต่างๆ ออกมาทำให้จริง เช่น การอ่าน 1984 แล้วถูกจับ การชูสามนิ้วซึ่งเป็นฉากที่แสดงการต่อต้านระบอบในภาพยนตร์ The Hunger Game เรื่องเหล่านี้ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ไม่จริงนั้นกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่จริง และกลายเป็นความจริงใหม่ที่เกิดขึ้น

โลกใบที่สี่ คือ โลกแห่งความกึ่งจริงกึ่งเท็จ แต่มีความหมาย โดยเฉพาะในบ้านเราการมีชีวิตอยู่กับข่าวลือต่างๆ ที่บางทีถูกเสริมเติมแต่ง หรือบางทีก็เป็นข่าวจริง แค่เราเข้าไม่ถึง หรือเป็นข่าวจริงแต่ถูกตีตราจากคนมีอำนาจว่าเป็นข่าวปลอม หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ข่าวลือ/ข่าวปลอมก็คือข่าวจริงที่รัฐปฏิเสธนั่นแหละครับ

3.“การเคลื่อนไหว” บางครั้งก็ไม่เหมือนกับ “ความเคลื่อนไหว” เพราะการเคลื่อนไหวมักถูกมองว่ามีขบวนการ มีการจัดตั้ง มีแกนนำ มีท่อน้ำเลี้ยง แต่ความเคลื่อนไหวคือความเคลื่อนไหว ไม่ได้แปลว่ามันเกิดของมันเอง แต่มันเกิดได้ด้วยเหตุปัจจัยอีกชุดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดในแบบที่ควบคุม หรือวางแผนได้ทั้งหมด เช่น การออกไปแสดงความคิดเห็นบางประการแบบคนเดียว แต่พอถูกคุกคาม คนที่เห็นก็เกิดมีความรู้สึกที่คิดว่าฉันพร้อมจะทำอะไรสักอย่างเพื่อแสดงออกในสิ่งที่ฉันคิด

หลายคนมองเห็นว่า ความเคลื่อนไหวในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยคนหน้าใหม่ที่ไม่มีประวัติ (หมายถึงรัฐไม่ได้เก็บ หรือติดตาม) สิ่งที่ควรจะถามกลับก็คือ ระบอบการเมือง แบบไหนล่ะที่ “ไม่เห็น” พวกเขา

คำตอบก็คือ ระบอบการเมืองที่ไม่นับเขาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองและการบริหารไงครับ เพราะมุ่งแต่จะมองว่าคนที่เห็นต่างที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาล รัฐและระบอบการเมืองเป็นพวกไม่หวังดี มุ่งไปจัดการคนพวกนั้น ลืมมองผู้ชม หรือผู้ที่ไม่ได้เชียร์ และมองไม่เห็นปัญหาหรือทุกข์ของพวกเขา ตั้งแต่เรื่องการไม่มีงานทำหลังเรียนจบ กฎระเบียบสถานศึกษาที่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมและความพึงใจและผลประโยชน์ของผู้บริหาร การบริหารสถานการณ์โควิดที่ทำให้เด็กต้องเจอคุณภาพการสอนออนไลน์แบบตามมีตามเกิด พ่อแม่ตกงาน
หรือเจอแรงกดดันทางเศรษฐกิจ การแปลงรูปเปลี่ยนร่างกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

ความเคลื่อนไหวในวันนี้จึงไม่ได้ซ้อนทับการเคลื่อนไหวที่เป็นมา จะไปดักตีหัว ดักอุ้ม ก็ยังงงๆ ไอ้ทำนะทำได้ แต่ทำแล้วไม่รู้ว่าจะเจอความเคลื่อนไหวที่ไม่มีขบวนการได้อย่างไร ไอ้ครั้นจะจัดทำผังก็ทำได้ แต่การทำผังเป็นการทำผังแบบที่เชื่อว่ามันเกี่ยวโยงกัน ทั้งที่อาจไม่เกี่ยวโยงกันจริงๆ แบบที่คนทำมุ่งหวังจะทำให้เป็น

4.ความเคลื่อนไหวไม่ได้แปลว่าสำเร็จ หากสำเร็จแปลว่าล้มรัฐบาล จัดตั้งรัฐบาลใหม่ หรือเปลี่ยนกฎกติกาอะไรได้

ความเคลื่อนไหวก็คือความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวคือการระบายออกซึ่งความรู้สึก แต่สิ่งที่ชัดเจนในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ก็คือการได้เคลื่อนไหว และการลดทอนความชอบธรรมของรัฐบาล รัฐ และระบอบการเมืองลง

อย่าประเมินง่ายๆ ว่ารัฐเผด็จการนั้นอ่อนแอลง บางทีเขาอาจจะแค่อ่อนไหวแต่ไม่ได้อ่อนแอ หรืออ่อนแอแต่ไม่ได้พังทลายลงในวันเดียว

หากความสำเร็จหมายถึงการล้มรัฐบาล สิ่งนี้ทำไม่ได้ด้วยการชุมนุมอย่างเดียวหรอกครับ แต่มันทำได้หรือประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลนั้นเปิดมาแต่ละแผลของความผิดพลาด หรือความไม่มีมาตรฐาน

ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำนั้นเอาเข้าจริงไม่ใช่เงื่อนไขที่ประชาชนจะลุกฮือง่ายๆ หรือล้มรัฐบาลได้ เพราะที่ไหนก็มีปัญหา

ปัญหาอยู่ที่ฝีมือและนโยบายที่ออกมาแก้ต่างหากที่ทำให้เห็นว่าไม่เข้าใจวิธีแก้ หรือไม่เข้าใจสังคม เช่น คาดการณ์ว่ามีคนหลุดระบบการช่วยเหลือเดิมแค่ 3 ล้าน ทั้งที่จริงๆ มี เกือบ 9 ล้าน

ที่หนักกว่านั้นคือการออกมาให้สัมภาษณ์ของผู้รับผิดชอบที่เติมเชื้อไฟลงไป

และที่สำคัญในท้ายที่สุด กฎระเบียบและวีไอพีของรัฐบาลทั้งนั้นที่ทำให้การแพร่ระบาดนั้นมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีก

พูดอีกอย่างคือ คนจน (จะ) หมดประเทศออกมาที่ถนน เขาก็ไม่ได้มาไล่รัฐบาลทันที โดยทั่วไปเขามาร้อง มาขอให้เกิดการแก้ปัญหา แต่เมื่อทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ทำแต่ไม่สำเร็จ แล้วยังเติมเชื้อไฟด้วยทรรศนะแย่ๆ อันนี้แหละครับ ปัจจัยด้านอารมณ์มันก็เลยปะทุออกมา

หรือกรณีของการจัดการเรื่องคดีทายาทนักธุรกิจชื่อดังที่สร้างข้อกังขาให้กับประชาชน มากมายถึงกระบวนการยุติธรรมในบ้านเรา

อีกมิติที่สำคัญคือ การโค่นล้มรัฐบาลในหลายประเทศไม่ได้เกิดจากการลุกฮือของประชาชนโดยตรง หรือโดยฉับพลันทันที แต่อาจจะหมายถึงการที่ฝ่ายกุมอำนาจเริ่มแตกกัน และขาดเอกภาพ หรือเปลี่ยนทิศทางและการหันมาเข้าร่วมกับฝ่ายเรียกร้องมากขึ้น ซึ่งไม่ได้แปลว่าเปลี่ยนจุดยืน แต่อาจจะทำไปเพื่อรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้ก็ได้

5.ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะบอกว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่มีส่วนทำให้สถานการณ์มาจนถึงวันนี้ แต่จะบอกว่าพรรคอนาคตใหม่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ในขณะนี้คงไม่เป็นธรรม และไม่ถูกต้อง

ถ้าการทำรัฐประหารไม่ลากยาวมาจนถึงหกปีแล้วยังสืบสานอำนาจกันอย่างโจ๋งครึ่มแบบวันนี้ จะมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นไหม นี่คือบทเรียนของพวกที่เชื่อว่าการทำรัฐประหารนั้นต้องจัดให้ยาว ต้องเปลี่ยนทุกอย่าง “อย่าให้เสียของ” เพราะลืมผลที่ไม่ได้คาดคิดว่าระบอบที่ลากยาวด้วยอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เวลาพังจะพังยาวมาก เหมือนรอบที่แล้วที่ลากกันมาตั้งแต่ 2501-2516 เป็นต้น (พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าโต้กลับ หรือกลับมาอีกไม่ได้ แต่มันมีราคาต้องจ่ายกันทุกฝ่าย)

เมื่อการปิดระบบการเมืองลากยาวมากขึ้น มากกว่ามาตรฐานเดิมๆ ที่ใช้เวลาไม่นานในการ
กลับสู่คนรุ่นใหม่ที่เติบโตทางการเมืองก็มากขึ้น มีจำนวนเสียงเพิ่มขึ้น คนรุ่นเก่าที่รู้สึกอับตันกับขั้วขัดแย้งเดิมก็เพิ่มขึ้น และอาจมองว่าคนที่ควรจะเป็นความหวังให้กับเขาก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตามความคาดหวังของพวกเขา การเกิดพรรคแบบอนาคตใหม่ที่เสนอตัวเปลี่ยนแปลงระบบจากภายในระบบเอง ก็ทำให้เกิดอาการช็อกจากคนหลายฝ่าย โดยเฉพาะทั้งสองขั้วการเมืองเดิม บางคนในขั้วการเมืองเดิมก็รู้สึกว่าอนาคตใหม่ให้คำตอบกับสิ่งที่พวกเขาต้องการ และชัยชนะของอนาคตใหม่นั้นก็ยังมาจากการออกแบบระบบกติกาที่เชื่อว่าฝ่ายคนที่กุมอำนาจจะได้เปรียบด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ท่ามกลางข้อกังขาและถกเถียงว่าพรรคควรถูกยุบไหม (คนละเรื่องกับความผิดของคณะกรรมการบริหารที่ผิดได้ ถูกตัดสิทธิได้) พร้อมกับกระบวนการดูดและบีบให้พรรคก้าวไกลอ่อนแอลง สิ่งที่เกิดขึ้นนับแต่นั้นก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า พรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่นั้นเมื่อถูกยุบลง การขับเคลื่อนนอกสภาก็ย่อมจะมีเพิ่มขึ้น การไม่คงไว้ซึ่งพรรคการเมืองในฐานะสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่ศัตรูทางการเมือง ทำให้สถานการณ์ที่พรรคอนาคตใหม่อาจจะเป็นตัวแทนที่รวบรวมข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายเข้าไปทำงานในรัฐบาลนั้นเป็นไปไม่ได้ หรือเรียกว่าชนะการเดินครั้งหนึ่ง แต่อาจแพ้ทั้งกระดาน แทนที่พรรคอนาคตใหม่จะทำงานในสภาและกติกาที่คนมีอำนาจร่างเอาไว้ ก็กลายเป็นว่าทุกอย่างไหลลงมาตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งถนน และอินเตอร์เน็ต

อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้พรรคอนาคตใหม่เองก็มีปัญหาภายในที่สมาชิกหลายคนไม่พอใจเช่นกัน อาทิระบบการคัดสรรภายใน ซึ่งจะจริงหรือไม่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่มันก็สะท้อนว่ามันมีความหลากหลายที่ยังไงพรรคของเขาก็ต้องเอาให้อยู่อยู่ดี

6.สำหรับคนที่สนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนี้ ผมคิดว่าหนังสือที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ ได้แรงบันดาลใจ หรือมีบทสนทนากับสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงนี้ (ไม่ได้แปลว่าเห็นใจหรือเห็นด้วย) กับสิ่งที่เกิดขึ้นในความเคลื่อนไหว หรืออ่านแล้วเปรียบเทียบปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมี5เล่ม

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ 2545 เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง กรุงเทพฯ openbooks.

ประจักษ์ ก้องกีรติ 2548 และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จันจิรา สมบัติพูนศิริ 2558 หัวร่อต่ออำนาจ : อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี กรุงเทพฯ มติชน

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ 2552 จุดไฟในสายลม : รัฐธรรมนูญ รัฐประหาร นายกฯ พระราชทาน และตุลาการภิวัตน์ กรุงเทพฯ openbooks.

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง.2562.มันทำร้ายเราได้เท่านี้แหละ.กรุงเทพฯ : อ่าน. 

สิ่งที่ผมเห็นในวันนี้คงไม่ใช่การ “ถั่งโถมโหมแรงไฟ” แต่เป็นการเรืองแสงที่บางทีเรามองเห็นว่าเป็นหิ่งห้อย บ้างก็ว่าเป็นแค่ดาวเคราะห์ หรือสิ่งที่สว่างได้เพราะมีไฟกระทบ

หรือพวกเขาอาจจะเป็นเสมือนดาวฤกษ์มากมายที่กำลังเปล่งประกายในการท้าทายและกำหนดอนาคตของพวกเขาเอง

… ท่ามกลางพายุแห่งอารมณ์อันเชี่ยวกราก หรือแม้กระทั่งความรู้สึกอันงุนงงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นใน “ชีวิตวิถีใหม่ทางการเมือง” ในวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image