สถานีคิดเลขที่ 12 ‘เข้าใจ’ คนรุ่นใหม่ โดย ปราปต์ บุนปาน

 

กระแสม็อบนิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่เริ่มต้นโดยคนรุ่นใหม่ในนามกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” นั้น “จุดติด” ไปแล้วเรียบร้อย

แต่ก่อนที่ทั้งสังคมจะเคลื่อนตัวไปสู่ประเด็นอื่นที่สลับซับซ้อนและคุยกันยากมากขึ้น รวมทั้งการหาข้อตกลงว่าเราจะหาทางออกให้ประเทศร่วมกันอย่างไร

กุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่ต้องเร่งค้นหากันให้พบ ณ เบื้องต้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่อง “ความเข้าใจ”

Advertisement

เมื่อสังคมมีคนจำนวนมากอีกหนึ่งกลุ่มที่กำลังรวมตัวกันอย่างเข้มข้นเข้มแข็ง ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ และประกาศตนเป็นหุ้นส่วน-ผู้มีปากเสียงกำหนดทิศทางประเทศไทย อย่างเต็มตัว

ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วย เห็นต่าง ใส่ใจ ไม่แคร์ เป็นมิตร หรือเป็นศัตรู กับคนเหล่านี้อย่างไร คุณควรต้องพยายาม “ทำความเข้าใจ” พวกเขา ในฐานะตัวแปรที่เพิ่งถูกค้นพบ/ปรากฏชัดในสมการการเมืองร่วมสมัย

ลำดับแรกสุด ที่ต้องตั้งโจทย์ให้ถูกต้อง ก็คือ เวลาพูดเรื่องการ “ทำความเข้าใจ” นั้น ใครเป็นฝ่ายต้อง “เข้าใจ” ใคร?

ในกรณีนี้ ดูคล้าย “ผู้ใหญ่” (ซึ่งมิได้หมายถึงคนแก่ผู้สูงวัยเท่านั้น หากหมายถึงคณะบุคคลที่ถือครองอำนาจ-ทุน และกำหนดความเป็นไปต่างๆ ของสังคม) ควรจะต้องหันมาพยายาม “เข้าใจ” บรรดาคนรุ่นใหม่มากกว่า

เพราะที่ผ่านมา ชนชั้นนำกลุ่มนี้มีโอกาสและช่องทางได้อธิบาย-โฆษณา-ประชาสัมพันธ์ การกระทำ การตัดสินใจ และชุดเหตุผลต่างๆ ของตนเองมาอย่างมากมาย

ไม่ว่าคำอธิบายพวกนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ จะจริงหรือเท็จแค่ไหน

แต่ไม่อาจปฏิเสธว่าคนรุ่นใหม่ได้ประพฤติตนเป็น “ผู้รับสาร” ของ “ผู้ใหญ่” มามากพอและนานพอแล้ว กระทั่งพวกเขาน่าจะพอประเมินได้ว่า “ผู้ใหญ่” ใน “ความเข้าใจ” ของตนนั้นเป็นอย่างไร พวกเขา “เข้าใจ” หรือ “ไม่เข้าใจ” เหตุผลทางการเมืองที่ชนชั้นปกครองใช้และอ้างอิงอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่นแทบทุกคนต่าง “ไม่เข้าใจ” ว่าทำไมคดี “บอส อยู่วิทยา” จึงมีบทสรุปที่ปราศจากความยุติธรรมได้ขนาดนั้น ทว่าพวกเขาก็มีประสบการณ์ในการ “ไม่เข้าใจ” เรื่องราวทำนองนี้มาจนคุ้นชิน

จนสามารถ “เข้าใจ” กระจ่างแจ้ง ว่าอะไรคือแบบแผนเบื้องหลังแห่งความวิปริต อัปลักษณ์ บิดเบี้ยว และบิดเบือน อันนำมาสู่ “ความไม่เข้าใจ” ดังกล่าว

ตรงกันข้าม บรรดา “ผู้ใหญ่” นั่นแหละ ที่ “ไม่เข้าใจ” หรือ “ไม่ค่อยเข้าใจ” อะไรเลย เกี่ยวกับเยาวชนซึ่งกำลังรวมตัวแสดงพลังในพื้นที่สาธารณะ

“ผู้ใหญ่” ทั้ง “ไม่เข้าใจ” สัญลักษณ์ “ไม่เข้าใจ” วัฒนธรรมป๊อปที่ยึดโยงคนรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน “ไม่เข้าใจ” วิธีการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย รวมทั้ง “ไม่เข้าใจ” สารหลักๆ ที่วัยรุ่นป่าวร้องออกมา และกระบวนการสร้างเหตุผลข้อถกเถียงของพวกเขา

เราจึงได้กลายเป็นประจักษ์พยานของปรากฏการณ์ผิดฝาผิดตัว เมื่อฝ่ายหนึ่งพากันร้องเพลง “แฮมทาโร่” เพื่อประท้วงผู้มีอำนาจ (ซึ่งคงเกาหัวและไถ่ถามกันว่า “เพลงอะไรของมันวะ?”) ขณะที่อีกฝ่ายยังคงอ้าง “ทฤษฎีสมคบคิด” ราวกับสังคมการเมืองไทยไม่เคยมีพลวัตความเปลี่ยนแปลงใดๆ

เอาเข้าจริง แม้แต่การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีสถานะเป็นสถาบันการเมืองที่ก้าวหน้าและหลากหลายที่สุด ณ ตอนนี้ ก็ยังไม่สามารถอธิบายให้สังคมได้ “เข้าใจ” เหล่า “เยาวชนปลดแอก” ที่เคลื่อนตัวลงสู่ท้องถนนอย่างครบถ้วนครอบคลุม

ภารกิจแรกสุดที่ “ผู้ใหญ่” ในบ้านเมืองควรทำ จึงได้แก่ การ “เปิดใจ” แล้วหาทาง “ทำความเข้าใจ” ถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมและความต้องการทางการเมืองของเยาวชนให้แจ่มชัดเสียก่อน

ถ้าท่านยังคิดว่าพวกเขาก็เป็นเจ้าของประเทศ เป็นอนาคตของสังคม และไม่ต้องการลงมือก่อความขัดแย้งรุนแรงกับพลังใหม่ๆ กลุ่มนี้

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image