หน้า2 : ‘บิ๊กตู่’จับเข่าคุยนศ. รันเวย์-แก้ปัญหาม็อบ?!

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านเสนอแนะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าพูดคุยรับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาโดยตรงนั้น

รศ.ดร.โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ถ้าจะคุยกัน แนะนำว่าอย่าคุยต่อหน้าสื่อมวลชน เพราะหากยังจำเหตุความตึงเครียดภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ พวกเราซึ่งพยายามคุยกับทั้ง 2 ฝ่ายว่าให้เขาไปคุยกันเอง ปรากฏว่ามีผู้เสนอขึ้นมาว่าต้องการความโปร่งใส แนะนำให้คุยกันต่อหน้าสื่อ ผลที่ออกมาคือไม่ได้คุยกัน เพราะเป็นการคุยผ่านสื่อให้คนทางบ้านที่เป็นแนวร่วมฟัง จึงไม่ได้อะไร

คิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะคุยกันก็ได้ แต่ต้องดูวัตถุประสงค์ของการคุย มีการตั้งใจฟัง สื่อสารกันด้วยความจริงใจต่อกัน เปิดใจกว้างก็เป็นประโยชน์แน่นอน ทั้งนี้ ควรมีผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการพูดคุย

Advertisement

ซึ่งผู้นั้นน่าจะมีสถานภาพพอสมควร แม้จะเป็นการคุยกันวงแคบหรือเงียบๆ ก็ตาม อาทิ สามารถเป็นนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้หรือไม่

ดังนั้น ขอเพียง 2 อย่างคือ 1.ให้การพูดคุยเป็นแบบเงียบๆ ส่วนภายหลังจะจัดแถลงหรือไม่อย่างไรก็แล้วแต่ หรือจะคุยกันอีก 2-3 ครั้งแล้วไม่แถลงก็ได้ และ 2.ขอให้มีผู้ดำเนินการพูดคุยที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกจริงๆ ไม่เข้าไปแทรกแซง

หากอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าทั้ง 2 ฝ่ายคือนายกรัฐมนตรีและฝ่ายนักศึกษาตกลงกันแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงก็เกิดปัญหา หรือตกลงกันไม่ได้

Advertisement

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามคิดว่าน่าจะให้เหมือนเป็นปลายเปิดเล็กน้อย เช่น หากตกลงกันได้แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติ ก็มาคุยกันใหม่ว่าเหตุใดจึงไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง หรือถ้ามีข้อติดขัดตรงไหน ควรจะขยับอย่างไร

ถ้าส่วนตัวเป็นเยาวชนก็รู้สึกกดดัน จนอาจไปอธิบายว่าทำไมไม่ฟังกันเลย จะต้องให้พวกเราร้องอีกกี่เพลงกันหรือ ซึ่งกลุ่มเยาวชนเหล่านี้มีการแสดงออกที่คิดว่ามีลีลา สีสัน ซึ่งเขาคงแสดงออกกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ต้องมองว่าการแสดงออกของเยาวชนที่ผ่านมาไม่มีความรุนแรงเลย อาจมีความก้าวร้าวบ้างก็แล้วแต่คนมอง แต่ถือว่าอยู่ในกรอบที่ไม่รุนแรง เพราะถ้ารุนแรงทางวาจาคือการด่า

แต่ขณะนี้เสมือนกับเหล่าเยาวชนตำหนิติเตียน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ความรุนแรงแต่อย่างใด

หากมีการเจรจาเกิดขึ้นเร็วได้เท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะจะช่วยลดความเคลื่อนไหวลงไปส่วนหนึ่ง ไม่ต้องเหนื่อยแรง หมายถึงว่าการแสดงออกแล้วมีคนรับทราบ รับฟัง ซึ่งคือเป้าหมาย เพราะเมื่อมีคนรับทราบ รับฟัง วิธีการนำไปปฏิบัติก็คงเป็นเรื่องที่ดี

นี่คือจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็คิดว่าอาจต้องการคำตอบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ก่อนหน้านั้นจะจัดระบบเลือกตั้งใหม่ไหม จะลดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯหรือไม่ จัดเวทีให้มีทางลงสำหรับผู้ครองอำนาจอยู่หรือไม่ พร้อมๆ กับแข่งขันกันในวิถีทางปกติ ไม่ต้องมีตัวช่วยเยอะเกิน

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ถ้าดูจากข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนคิดว่าแนวทางการพูดคุยโดยตรงกับนายกฯ ถ้านายกฯไปรับฟังเองก็สามารถทำได้ แต่ปัญหาน่าจะยังไม่จบ เพราะปัญหาของข้อเรียกร้อง หรือปัญหาของขบวนการนิสิต นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ 3 ประเด็น เรื่องยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญ และหยุดคุกคามประชาชนแล้ว คิดว่าไปไกลกว่านั้น

แต่เป็นการจัดโครงสร้างทางสังคมใหม่เพื่ออนาคตของพวกเขา โดยเฉพาะความคาดหวังที่จะเห็นสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ดีกว่า ต้องการความเสมอภาคและเป็นธรรมกว่านี้ เพราะข้อเสนอเหล่านี้อาจจะได้รับฟัง และนำมาสู่การแก้ปัญหาแบบชั่วคราว เข้าใจว่าแม้นายกฯจะไปฟังเอง แต่สุดท้ายก็จะกลับมาที่ชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ย่อมเป็นการประวิงเวลาไปเท่านั้นเอง

ส่วนตัวต้องการเห็นความจริงใจของรัฐบาล และความใจกว้างของผู้ใหญ่ในประเทศนี้ เพราะ 1.ถ้านายกฯเป็นผู้รับฟังความเห็นเอง นายกฯต้องให้คำมั่นสัญญากับประชาชน กับคนหนุ่มสาวว่าเมื่อมารับฟังแล้วจะทำจริง 2.บรรดาอภิสิทธิ์ชน ชนชั้นนำต้องเตรียมใจไว้ว่าข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นอาจกระทบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ต่อตนเองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 3.ข้าราชการอาจต้องเตรียมใจว่าผลประโยชน์ หรือสิ่งที่ตนเคยได้ก่อนหน้านี้อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ สัญญาประชาคมโดยนายกฯต้องไม่บิดพลิ้ว และที่สำคัญนายกฯต้องปรับวิธีการปฏิรูปใหม่ เพราะหากยังจำกันได้ช่วงก่อนหน้านี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ

ซึ่งเมื่อดูแล้วพบว่ามีแต่ผู้อาวุโสทั้งสิ้น ในความเป็นจริงจึงคิดว่าโอกาสนี้เป็นโอกาสสำคัญในการรื้อกรรมการชุดนั้น เพื่อนำคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ที่จะต้องอยู่กับสังคมต่อไปไปร่างอนาคตของเขาเอง ภายใต้การปฏิรูป แล้วให้ผู้ใหญ่ที่อยู่ในคณะกรรมการชุดก่อนถอยมาเป็นที่ปรึกษาได้หรือไม่

ที่สำคัญคือต้องนำไปสู่การปฏิบัติจริง เพราะตอนนี้มีคณะกรรมการปฏิรูป แต่คิดว่าคงไม่ปฏิบัติจริงอยู่แล้ว น่าจะเป็นเพียงเอกสาร แล้วกินภาษีประชาชนไปเรื่อยๆ

ดังนั้น หากนายกฯและรัฐบาลมีความจริงใจจะต้องไม่ใช่เพียงการรับฟัง แต่ต้องนำข้อเสนอเหล่านั้นมาปฏิบัติจริง

รวมทั้งจะต้องไม่เข้าสู่ชั้น กมธ.เพื่อยื้อเวลา ตลอดจนต้องเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวเข้ามามีส่วนในการปฏิรูปประเทศตามกลไกรัฐธรรมนูญ 2560

เท่าที่ประเมินตอนนี้คือ กระแสความเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา ได้ขยายวงกว้างขวางไปถึงโรงเรียนมัธยม พร้อมๆ กับการขยายพื้นที่ไปในทุกๆ จังหวัดทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ รัฐบาลเองยังไม่มีความจริงใจพอต่อเงื่อนไขเวลา 2 สัปดาห์ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก อย่างน้อยก็ทำได้แค่จะไปรับฟังความคิดเห็น ซึ่งก็ยังไม่พอ

ฉะนั้น เวลา 2 สัปดาห์นี้น่าจะเห็นปรากฏการณ์ใหญ่ต่อข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร หากไม่ใช้ฉบับ 2560 แล้วจะร่างใหม่อย่างไร รวมทั้งหากรัฐบาลจะลาออกแล้วจะรับผิดชอบอย่างไร

เรื่องเหล่านี้ภายในเวลา 2 สัปดาห์น่าจะเห็นชัด เพราะก่อนหน้านี้เรื่องข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

อย่างที่กล่าวว่าการจัดชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่อาจเร็วเกินไป หรือข้อเสนอยังไม่ตกผลึกพอ ทั้งนี้ ต้องถามว่ารัฐบาลพร้อมหรือไม่ บรรดาอภิสิทธิ์ชนจะกล้าต่อข้อเสนอเหล่านี้หรือไม่ หากรัฐบาลไม่กล้า

ท้ายที่สุดแล้วอาจใช้กระบวนการอย่างอื่น อาทิ การจัดตั้งมวลชนที่เป็นนักศึกษาอาชีวะให้มาต่อต้านกลุ่มนักศึกษา เมื่อมีกระบวนการจัดตั้งเช่นนี้ แสดงว่ารัฐบาล ชนชั้นนำ และอภิสิทธิ์ชนไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในระยะยาว

ซึ่งจะนำไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างม็อบทั้ง 2 ได้ และนี่เป็นข้อกังวลหลังจากเงื่อนเวลา 2 สัปดาห์

เวลาของรัฐบาลนี้ขึ้นอยู่กับการวางยุทธศาสตร์ของบรรดานิสิต นักศึกษา หากเขาวางยุทธศาสตร์นำการเสนอที่มีเหตุ มีผล มีข้อมูลกระจ่างชัด ซึ่งตอนนี้พวกเขาเหล่านี้โดนเรื่องการใช้ถ้อยคำล่อแหลมและไม่สุภาพ

หากตั้งหลักใหม่ นำเสนอข้อมูลชัดเจน มีเหตุ มีผล สร้างพันธมิตรร่วมกับกลุ่มประชาชนที่มีปัญหาสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นอีอีซี ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน

อีกทั้งต้องนำประเด็นสำคัญเข้ามาเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้ นั่นคืออภิสิทธิ์ชนกรณีทายาทกระทิงแดงที่ทำให้คนเห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากกลไกของรัฐ หากวางยุทธศาสตร์แบบนี้คิดว่ามีผลสะเทือนต่อรัฐบาลแน่นอน

ปัญหาที่ลึกลงไปในความขัดแย้งของคนหนุ่มสาวเป็นผลมาจากโลกทัศน์ของพวกเขากับคนรุ่นเก่าที่มาถึงจุดแตกหักแล้ว สังคมไทยสร้างโลก 2 ใบที่อยู่ห่างไกลกันมาก คือโลกของผู้ใหญ่ที่มีโลกทัศน์ ความคิด ความเชื่ออย่างหนึ่ง

แต่ปรากฏว่าพฤติกรรมของพวกผู้ใหญ่เองก็ย้อนแย้งในตัว จนเด็กตั้งคำถามต่อพฤติกรรมและโลกทัศน์ของเขา

ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมีความพยายามครอบงำเด็กด้วยความอาวุโส แต่คนรุ่นใหม่ต้องการเหตุผล ซึ่งผู้ใหญ่ไม่มีเหตุผลอะไรให้เขาเลย นั่นคือโลกเก่าเต็มไปด้วยซากปรักหักพังที่ผู้ใหญ่สร้างไว้

ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็มีสิทธิและโอกาสคิดถึงอนาคตและโลกของเขาเอง ภายใต้ความสัมพันธ์แบบใหม่เช่นกัน

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องไปคุยกับนักศึกษา ตามที่บางฝ่ายมีข้อเสนอแนะ เนื่องจากแฟลชม็อบของนักศึกษาไม่มีตัวแทนกลาง ดังนั้นจะแนะนำนายกรัฐมนตรีไปคุยกับใคร และนักศึกษาก็คงไม่ต้องการคุยกับนายกรัฐมนตรี หรือถ้าคุยแล้วจะจบจริงหรือไม่ ขณะที่นายกรัฐมนตรีควรออกมาแถลงให้ชัดเจนใน 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องจากข้อเรียกร้อง

ส่วนพรรคการเมืองทุกพรรค ก็ควรออกมาตอบรับในสิ่งที่นักศึกษาพูด ระบุว่าแต่ละพรรคควรจะมีจุดยืนอย่างไร

โดยเฉพาะนักการเมืองในพรรคฝ่ายค้านควรมีการแถลงจุดยืนที่ชัดเจน ในเรื่องที่นักศึกษาออกมาแสดงความเห็นหรือไม่ จากนั้นนำไปหารือในสภาผู้แทนราษฎรว่าจะมีความเห็นอย่างไร

สัปดาห์หน้ากลุ่มนักศึกษาปลดแอก ก็จะออกมาทวงสัญญาเมื่อครบเวลา 2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรีควรออกมาแถลงจุดยืนจากข้อเรียกร้องทั้ง 3 ประเด็นก่อนครบกำหนด ซึ่งไม่ควรที่จะต้องมีการต่อรอง เพราะประเด็นแรกการยุบสภาเป็นเรื่องการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ส่วนการหยุดคุกคามเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานด้านความมั่นคง การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรโยนให้นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว

แต่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองเพราะคนในระบอบการเมืองจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทุกวันที่ไปทำงานในสภา นักการเมืองจะตอบคำถามนี้ให้กับนักศึกษาและประชาชนได้หรือไม่ ที่สำคัญพรรคการเมืองฝ่ายค้านจะออกมาอธิบายได้หรือไม่ว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำไมจึงล่าช้า

ปฏิกิริยาของแฟลชม็อบหากมีการชุมนุมต่อเนื่องเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ เนื่องจากมีหลายกลุ่มหลายพวกที่เคลื่อนไหว และหากไม่มีม็อบนักศึกษา ความรู้สึกของประชาชนก็ยังมีเสียงสะท้อนในเรื่องเหล่านี้พอสมควร

ขณะที่คดีของนายบอสถือเป็นเรื่องใหญ่ คดีนี้ทำให้เอกภาพของฝ่ายเชียร์รัฐบาลหายไปกว่าครึ่ง ส่วนปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้มีผลกับการเมืองโดยตรง แต่ปัญหานี้อยู่ที่ฝีมือและท่าทีในการแก้ไขของรัฐบาลเป็นหลัก

ส่วนตัวประเมินว่า รัฐบาลนี้จะอยู่รอดถึงสิ้นปี 2563 เพราะรัฐบาลแค่อ่อนไหวแต่ไม่ได้อ่อนแอ องคาพยพเดิมยังอยู่กับรัฐบาลทั้งหมด วันนี้มีฝ่ายความมั่นคงหรือมีใครออกมาพูดอะไรในสิ่งที่ตรงข้ามกับรัฐบาลทำหรือยัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image