รายงานผลการวิจัย “ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562”

รายงานผลการวิจัย “ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562”

ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย “ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562” พร้อมด้วยคณะผู้วิจัยประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ ไชยนันท์ จากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร. วิโรจน์ สุทธิสีมา จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รายงานผลโครงการวิจัยเรื่อง “ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562” ต่อผู้เข้าร่วมฟังจากสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไป ทั้งที่มาร่วมงานและผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุม Mitr-ting Room สามย่านมิตรทาวน์

ทั้งนี้ ห้องแห่งเสียงสะท้อน หมายถึง ปรากฏการณ์ทางการสื่อสารที่ผู้คนเลือกรับเฉพาะสิ่งที่ตรงตามความชอบของตัวเองโดยมีอัลกอริทึม (ขั้นตอนวิธีการ) ของสื่อสังคมออนไลน์คอยคัดสรรข้อมูลที่น่าจะชอบมาให้ ขณะเดียวกันผู้ใช้ออนไลน์ก็สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกับตน จนอาจนำไปสู่การรวมกลุ่มแบบแบ่งขั้วของคนที่คิดและชอบเหมือนๆ กัน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ซึ่งอาจส่งผลกระทบในแง่การขาดความหลากหลายทางความคิด พร้อมๆ การสร้างความสุดโต่งและไม่อดทนต่อความเห็นต่างในสังคม ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ

โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปี 2562 เป็นการศึกษาแบบพหุวิธีมี 4 วิธีการวิจัย คือ การสำรวจโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกทั่วประเทศรวม 3,286 คน การจัดสนทนากลุ่ม 8 พื้นที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคกับผู้เข้าร่วม 87 คน การทดลองติดตามและมีปฏิสัมพันธ์กับเพจเฟซบุ๊กเพื่อศึกษาภาวะฟองสบู่ ตัวกรองทางการเมือง และการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าและเครือข่ายสังคมของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกบนทวิตเตอร์ 1,500 บัญชี ที่สุ่มเลือกมาจากการคัดกรองโดยใข้แฮชแท็กยอดนิยมในช่วงการเลือกตั้ง

Advertisement

ผลการวิจัยพบว่ามีองค์ประกอบของห้องแห่งเสียงสะท้อนในการสื่อสารการสื่อสารการเมืองผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ในช่วงระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ซึ่งพบได้จากหลายวิธีวิจัย แต่ไม่ได้เป็นห้องเสียงสะท้อนที่ปิดโดยสิ้นเชิง และไม่ได้อยู่ในระดับที่เป็นอันตราย คนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกมีการเปิดรับสื่อหลากหลาย ใช้พื้นที่ออนไลน์เรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มีลักษณะแนวระนาบและมีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็กำลังปรับเปลี่ยนนิยามของประชาธิปไตยในรูปแบบใหม่เพื่อแสดงออกถึงอัตลักษณ์ ค่านิยมร่วมของกลุ่ม และตำแหน่งแห่งที่ในพื้นที่สาธารณะแบบต่อต้าน อันสะท้อนบทบาทของคนรุ่นใหม่ในฐานะผู้กระทำการทางการเมือง และความเป็นพหุนิยมของสังคมที่เพิ่มขึ้น

Advertisement

งานวิจัยยังพบปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะห้องแห่งเสียงสะท้อนมาจากอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย ทัศนคติทางการเมืองตามบริบทแบบแบ่งขั้ว สถานการณ์แวดล้อมที่สร้างกระแส/วิวาทะในโลกออนไลน์ พฤติกรรมการสื่อสารการเมืองที่เลือกสรรเฉพาะสิ่งที่ตอกย้ำความคิดความเชื่อเดิม ตลอดจนวิถีชีวิตที่ผูกพันกับภูมิทัศน์ของสื่อออนไลน์ของคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ ยังมีข้อค้นพบที่น่าสนใจอื่นๆ อีกดังต่อไปนี้

– ผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกส่วนใหญ่มีทัศนคติที่โน้มเอียงไปแนวคิดแบบเสรีนิยม มีศรัทธาต่ำ ในระบบการเมืองเชิงสถาบันที่ขับเคลื่อนโดยนักการเมืองและพรรคการเมือง แต่ยังยึดมั่นในแนวคิดประชาธิปไตยและเชื่อในบทบาทและการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

– พฤติกรรมการสื่อสารและการมีส่วนร่วมทางการเมืองผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในพื้นที่ออนไลน์จะแตกต่างกันไปตามประเภทเครือข่ายที่ตนเป็นสมาชิกร่วมอยู่ เช่น เครือข่ายความสัมพันธ์ฉันญาติมิตร เครือข่ายในชุมชนหรือสังคมในชีวิตจริง และเครือข่ายตามประเด็นความสนใจ เป็นต้น

– อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เนื้อหาข้อมูลข่าวสารการเมืองมีลักษณะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทัศนคติทางการเมืองของผู้ใช้ กล่าวคือมีความสอดคล้องกับฝั่งที่ผู้ใช้เลือกติดตามและมีปฏิสัมพันธ์ด้วย อีกทั้งยังมีความเข้มข้นมากขึ้นตามประสบการณ์ของผู้ใช้ ซึ่งส่งผลให้มีบ่อรวมของข้อมูลและข้อถกเถียงที่จำกัดในกลุ่มแบ่งขั้วหรือเครือข่ายแบบแบ่งขั้ว

– ผลการวิเคราะห์เครือข่ายสังคมบนทวิตเตอร์แสดงให้เห็นการจับตัวเป็นกลุ่มก้อนเครือข่ายย่อยของคนที่มีความคิดเห็นเหมือนกัน มีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้ที่มีขั้วความคิดเดียวกัน อาทิ อนุรักษ์นิยม – อนุรักษ์นิยม หรือเสรีนิยม – เสรีนิยม ปรากฏชัดเจนกว่าที่มีขั้วความคิดต่างกัน อาทิ อนุรักษ์นิยม – เสรีนิยม อนุรักษ์นิยม – กลาง ๆ หรือ เสรีนิยม – กลาง ๆ กล่าวคือ ผลสะท้อนให้เห็นเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เกิดจากพฤติกรรมการเลือกปฏิสัมพันธ์กับคนที่คิดหรือมีทัศนคติแบบเดียวกัน มากกว่าจะเป็นเวทีเปิดที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างความคิดเห็นที่หลากหลาย

ข้อเสนอแนะจากทีมวิจัยเพื่อลดความเสี่ยงจากห้องแห่งเสียงสะท้อน มีดังนี้

1.ส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของห้องแห่งเสียงสะท้อนต่อประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ และเรื่องระบบอัลกอริทึมของสื่อสังคมออนไลน์

2. จัดกระบวนการต่อรองกับผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นผลกระทบของห้องแห่งเสียงสะท้อน

3. สร้างเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งทางวิชาชีพและทางการเชื่อมโยงกับสังคมให้กับสื่อ ทั้งแนวราบ และแนวดิ่ง เพื่อสร้างพื้นที่ตรงกลางโดยยึดถือประโยชน์สาธารณะ ที่เคารพความแตกต่างหลากหลายและมุ่งสร้างความเข้าใจในเชิงพหุนิยม

4.ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการศึกษาพฤติกรรมการสื่อสารในยุคดิจิทัลด้วยรูปแบบพหุวิธีวิจัย เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์อันซับซ้อนให้รอบด้านและลุ่มลึกมากขึ้น

ภายหลังการนำเสนอผลวิจัย คณะผู้วิจัยได้นำเสนอคลิปสั้นเพื่อรณรงค์ความรู้เกี่ยวกับห้องแห่งเสียงสะท้อน #EchoChamber และต่อด้วยการเสวนาเรื่อง “#EchoChamber กับการเมืองออนไลน์ของคน รุ่นใหม่” โดยมีคุณสฤณี อาชวานันทกุล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นผู้นำการอภิปราย
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้กล่าวถึงบริบทของสังคมไทยที่มีลักษณะแบ่งขั้วทางการเมืองสูงซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลซึ่งกันและกันให้เกิดปรากฏการณ์ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์ เช่นเดียวกับในประเทศอื่นที่มีการแบ่งขั้วทางการเมืองในลักษณะเดียวกัน เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฟิลิปปินส์ เวเนซูเอลา ตุรกี และฮังการี เป็นต้น ทั้งนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ยังได้ตอบประเด็นคำถามที่ว่าสื่อสังคมออนไลน์ทำให้การแบ่งขั้วแตกแยกลงลึกมากขึ้นหรือไม่

“ในทางรัฐศาสตร์มีการถกเถียงกันว่าห้องแห่งเสียงสะท้อนเป็นสาเหตุ หรือ เป็นอาการของการเมือง ที่แบ่งขั้วกันแน่ หากพิจารณาว่าแต่เดิมสังคมมีลักษณะของความเป็นพหุนิยม แต่ถดถอยกลายเป็นสังคมสองขั้วมากขึ้น ในแง่นี้สื่อสังคมออนไลน์ย่อมเป็นสาเหตุสร้างปัญหาห้องแห่งเสียงสะท้อนขึ้นมา จึงต้องแก้ไข ที่สื่อมวลชนและห้องแห่งเสียงสะท้อน แต่หากมองในอีกแง่หนึ่งในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง มีลักษณะเป็นกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย พื้นที่ทางการเมืองไม่สามารถสะท้อนความหลากหลายทางความคิดได้ จนเกิดลักษณะการเมืองแบ่งขั้วปรากฏอยู่ก่อนแล้ว ปรากฏการณ์ห้องแห่งเสียงสะท้อนก็จะไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเอง แต่เป็นภาพสะท้อนอาการของปัญหารากฐานการเมืองและเศรษฐกิจ”

ผศ.ดร.ประจักษ์ ยังให้ความเห็นว่า ในการเลือกตั้งในปี 2562 สื่อสังคมออนไลน์ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นเป็นครั้งแรกในสังคมไทย ซึ่งนับว่ายังเป็นช่วงเรียนรู้และทดลองใช้พื้นที่ออนไลน์ในการสื่อสารและเรียนรู้การมีส่วนร่วมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลหนึ่งของปรากฏการณ์ห้องแห่งเสียงสะท้อนที่อาจนำไปสู่การแบ่งขั้วแบบสุดโต่งและเป็นอันตราย หากการสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองไม่ได้เป็นไปโดยธรรมชาติระหว่างประชาชนด้วยกัน แต่มีฝ่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐ (Information Operation) เข้ามาเกี่ยวข้องในพื้นที่ออนไลน์

ทางด้าน คุณสฤณี อาชวานันทกุล ให้ความเห็นต่อข้อค้นพบของงานวิจัยว่า โดยปกติมนุษย์มีแนวโน้มที่จะสร้างห้องแห่งเสียงสะท้อนอยู่แล้ว เพราะในทางจิตวิทยานั้นมนุษย์จะแสวงสิ่งที่ทำให้รู้สึกอุ่นใจ ดังเช่นรับฟังความคิดที่ตรงกับความเชื่อดั้งเดิมอยู่ก่อน และหากใครที่เชื่ออะไรมานานๆ ย่อมต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ฟังแล้วอาจทำให้รำคาญใจ ซึ่งปัญหาที่จะเกิดในสังคมก็คือ การไม่ออกไปนอกพื้นที่ดั้งเดิมของตนเองเลย หรือการออกไปแล้วเจอผลักดันกลับมาจน ไม่ออกไปแสวงหาความแตกต่างและหลากหลายอีก

“นอกจากนี้ ยังคิดว่าปัจจัยหลัก 2 อย่างที่ก่อให้เกิดปัญหามากไปกว่าการสื่อสารในห้องแห่งเสียงสะท้อนคือ สื่อมวลชนมืออาชีพผลิตซ้ำเนื้อหาที่ยุยงสร้างความเกลียดชัง ผลักให้เกิดการแบ่งขั้วมากยิ่งขึ้น และฝ่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐ ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าส่งผลให้สังคมแบ่งขั้วเพิ่มมากขึ้นเพียงใด”
คุณสฤณีกล่าวปิดท้ายถึงการแก้ปัญหาว่า ในระดับปัจเจกบุคคลนั้นการรับฟังหรือประนีประนอมต่อความเห็นต่างควรจะเกิดขึ้น กรณีเมื่อมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน โดยเฉพาะถ้าคนนั้นไม่ใช่บุคคลสาธารณะ ก็ไม่ควรทำให้ “ถูกล่าแม่มด” รวมไปถึงควรระมัดระวังถ้อยคำในการถกเถียงกัน โดยเสนอให้ตั้งจุดมุ่งหมายของการพูดคุยเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อรับฟัง ไม่จำเป็นต้องเอาชนะ

ในตอนท้ายของการเสวนา ผู้ร่วมอภิปรายได้แนะนำให้มีการสานต่องานวิจัยในเรื่องห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์ต่อไปในสังคมไทย โดยเสนอให้มีการศึกษาและเก็บข้อมูลในกลุ่มประชากรอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก เช่น กลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มผู้สูงวัย หรือกลุ่มผู้มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองอื่นๆ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image