เสียงเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญ ทิศทางโอกาสความเป็นไปได้

เสียงเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญ

ทิศทางโอกาสความเป็นไปได้

หมายเหตุความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และนักวิชาการ ถึงแนวทางและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องพรรคการเมืองและกลุ่มผู้ชุมนุมนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้

คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

Advertisement

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ตามที่หลายฝ่ายเรียกร้อง รวมทั้งข้อเสนอล่าสุดของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่เสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272 และมาตรา 279 สามารถเสนอได้ แต่ต้องถามกลับว่าข้อเสนอของพรรค ก.ก.เป็นมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่

ประเด็นที่สำคัญ ต้องเข้าใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้ ต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันโดยเสียงของ 3 ฝ่าย คือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามหมวด 15 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 255 มาตรา 256 กำหนดขั้นตอนไว้ 9 ขั้นตอน ที่สำคัญการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 และ 3 จะต้องมีเสียงของ ส.ว.ให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คน การที่รัฐธรรมนูญกำหนดวิธีการแก้ไขไว้เช่นนี้ เข้าใจว่าเพื่อให้ทุกฝ่ายได้หาฉันทามติร่วมกัน ก่อนที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในบททั่วไป หมวดพระมหากษัตริย์ หมวดวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวดเรื่องคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมวดของอำนาจศาลและองค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องทำประชามติด้วย รวมทั้งต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยว่าสามารถแก้ไขได้หรือไม่

Advertisement

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเคยเสนอไว้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ แล้วว่า ควรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมของรัฐสภา เพื่อให้มีตัวแทนของ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ได้มาพูดคุยและศึกษาถึงเนื้อหาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง เพื่อเห็นชอบร่วมกันก่อน แต่เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ขึ้นมาแล้ว เพื่อหาแนวทางและข้อสรุปว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องใดบ้าง ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรจะต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายวุฒิสภา เพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจกันก่อน

เมื่อมีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา แน่นอนบางฝ่ายที่อยากแก้ไข ไม่อยากให้มี ส.ว.รวมตัดอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีออก ก็ต้องอภิปรายในประเด็นนี้ ถ้าไม่ทำความเข้าใจกัน ส.ว.บางคนอาจไม่เข้าใจ จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปยาก เพราะสุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเสียงของ ส.ว.ให้ความเห็นชอบด้วย

โดยส่วนตัวรวมทั้ง ส.ว.ส่วนใหญ่ ไม่มีใครยึดติดและหวงแหนว่าจะต้องมีอำนาจ มีตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา เพราะเข้าใจดีกว่าทุกประเทศทั่วโลกต้องมีการปรับเปลี่ยนและต้องฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่
หลังเจอกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กฎและกติกาที่ไม่สอด คล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกก็จำเป็นที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข

สำหรับข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เสนอให้แก้ไขในหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญเพื่อปลดล็อก แก้ไขหลักเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความง่ายขึ้น ประเด็นนี้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ต้องมาพูดคุยในทางปฏิบัติว่าจะกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร จะกำหนดให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้เนื้อหาในส่วนใดบ้าง จะเกิดได้ก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่กำหนดไว้ก่อน

ส่วนตัวและ ส.ว.ทุกคนไม่ได้ขัดข้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทำให้ประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง และไม่อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้เกิดความขัดแย้งเหมือนในอดีต

เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเนื้อหาและประเด็นใดบ้างนั้น จะต้องพูดคุยให้ทุกฝ่ายเข้าใจและเห็นชอบร่วมกันเสียก่อน โดยเฉพาะเสียงของ ส.ว.ถือเป็นหนึ่งในสามฝ่ายที่ร่วมถือกุญแจในการปลดล็อกร่วมกันเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ข้อเรียกร้องของนิสิต นักศึกษา เป็นการแก้ไขเรื่องหลักการของรัฐธรรมนูญก่อน เพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยตัวหลักการนั้นคือ การที่ในระยะ 5 ปีนี้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ขณะที่ ส.ว.มาจากการสรรหาโดย คสช.แต่งตั้ง ไปเกี่ยวอะไรกับการโหวตเลือกนายกฯ ที่ควรจะมาจากการเลือกตั้ง นักศึกษามองประเด็นนี้ว่า หลักการพื้นฐานที่สำคัญของรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

ระยะเวลาที่คาบเกี่ยวไว้ถึง 5 ปี กล่าวคือ 5 ปีแรกหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะให้ ส.ว.เลือกนายกฯด้วย หมายความว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ลงต่อจนครบวาระ 4 ปี จะสามารถเป็นนายกฯได้ถึง 2 วาระ รวม 8 ปี เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้วางกลไกให้ ส.ว.มีส่วนร่วมได้ถึง 5 ปี ฉะนั้นเราจะเจอ พล.อ.ประยุทธ์อีก 1 วาระ นี่คือกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง

หากจะคลายล็อกได้ต้องแก้ที่มาตราที่กำหนดให้ ส.ว.มีสิทธิโหวตนายกฯ ซึ่งก็คือบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ส่วนมาตรา 256 เป็นมาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากไม่แก้ไขที่จุดนี้จะไปต่อไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบให้แก้ไขได้ยาก ด้วยกลไกที่จะต้องผ่าน ส.ว. ถามว่าหากจะแก้จะไปขอเสียงจาก ส.ว. 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 เสียงมาจากไหน ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่าต้องแก้ที่วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน แล้วจึงลงไปถึงการแก้หลักการของรัฐธรรมนูญ คือการปลดล็อกมาตรา 272

อย่างไรก็ดี ถ้าจะแก้ไขในระยะเร่งด่วนควรแก้ไขเป็นครั้งคราวไป เหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ที่มีการแก้ไขหลายครั้งในหลายประเด็น เช่น การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการเมือง ซึ่งหากปลดล็อกวิธีแก้ไขให้แก้ไม่ยากได้แล้ว ทุกอย่างจะง่ายขึ้น ส่วนจะแก้ไขอย่างไร กลไกมาตรา 256 ขอให้แก้ผ่านระบบรัฐสภา ปัญหาคือไม่มีวิธีการแก้อื่น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ล็อกไว้แล้วว่าต้องแก้ไขได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีว่า ส.ว.บางส่วนเริ่มออกมารับหลักการมากขึ้น แต่เราไม่รู้กลไกข้างในของ ส.ว. เพราะไม่เคยดูการประชุมของ ส.ว. จึงไม่ทราบว่ามีแนวทางอย่างไร ต้องดูกันต่อไป

มีอีกทฤษฎีที่ผมคิด แต่ไม่ได้ถูกรับรองโดยกฎหมาย คือการมี ส.ส.+ ส.ว.ลงมติ โดยอาจะให้ใช้เสียงที่มากเป็นพิเศษ เพื่อลงมติว่าให้เอารัฐธรรมนูญ ปี 2534 แก้ไขครั้งที่ 8 มาใช้ไปพลางก่อน ในเรื่องการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะหากแก้มาตรา 256 ดีไม่ดี พล.อ.ประยุทธ์อาจจะเป็นนายกฯ อีก
ถึง 3 วาระก็ได้

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

หลักการของรัฐธรรมนูญปี 2560 มีหลักการแก้ยากอยู่ 2 ประการ คือ 1.ตัวกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีเงื่อนไขแก้ได้ยาก 2.ประเด็นปัญหาการเมืองของ ส.ว.ที่อาจจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดความยุ่งยากมาก เพราะประเด็นข้อเรียกร้องไปกระทบกับผลประโยชน์ของ ส.ว. คือการที่ไม่ให้มี ส.ว.กระบวนการนี้จึงไม่ง่าย

ส่วนตัวจึงมองว่า เป็นเรื่องการเมืองของนักการเมืองที่จะประวิงเวลาเท่านั้น เพราะอย่างน้อยหากรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องกลับไปสู่กระบวนการเดิม คือ ตั้งอนุกรรมการ กรรมาธิการ ศึกษาประเด็นต่างๆ เพื่อประวิงเวลาเท่านั้น จึงมองเป็นเรื่องการเมืองเพราะเกิดขึ้นได้ยาก อีกทั้งเจตจำนงที่
แท้จริงของนักการเมือง ของ ส.ว. หรือ ส.ส.เอง ผลก็ไม่มั่นใจว่าเป็นเจตจำนงเดียวกันกับคนหนุ่มสาวหรือไม่ แต่หากเข้าสู่รูปการณ์นี้ ก็ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดทุเลาเบาบางลงมาได้ในระดับหนึ่ง

หากจะปลดล็อกเงื่อนตายก็ต้องแก้ที่มาตรา 256 ก่อน เพื่อเปิดให้มีการแก้ไขได้ จากนั้นนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.ซึ่งไม่ง่าย และจะเป็นการทำให้เรื่องเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้เกิดความล่าช้า นี่คือเทคนิคทางการเมืองเท่านั้น ที่สำคัญแก้ไปแล้วก็ไม่ได้ทำให้การเมืองไทยกลับมามีความเป็นประชาธิปไตย เพียงแค่เกิดการเลือกตั้งใหม่ โดยฝ่ายค้านและผู้เรียกร้องหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ จะไม่กลับมามีอำนาจ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องผิวเผินเกินไป กล่าวคือ หากไปแก้เฉพาะเรื่อง ส.ว.กลไกการเลือกตั้ง และกลไกการนับคะแนน สุดท้ายปัญหาจะกลับมาสู่จุดเดิมอีก การเมืองไทยคิดความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาขั้นพื้นฐานของประชาชน กับการเมืองไม่ออก จึงเห็นปัญหาประชาธิปไตยไทยวนอยู่กับการเลือกตั้ง ทำได้เพียงแค่ออกแบบดีไซน์กติกาเท่านั้น สุดท้ายก็วนกลับไปสู่วังวนเดิม

ดังนั้น ต้องตรงไปตรงมากับปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง ต้องทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นผลประโยชน์ร่วมในการกำหนดและจัดสรรทรัพยากรทางสังคมและเศรษฐกิจก่อน กล่าวคือรัฐธรรมนูญต้องวางหลักประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ให้ทุกคนได้ทรัพยากรที่สมดุลและเหมาะสม หลังจากนั้นค่อยมาออกแบบโครงสร้าง หรือกฎหมายทางการเมือง ให้สอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากนั้นสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบเป็นประชาธิปไตย

ประการต่อมา เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย หลายครั้งที่รัฐธรรมนูญล้มเหลว เพราะไร้ซึ่งการบังคับใช้ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่เท่าทันของสังคม และความเจ้าเล่ห์ของกลไกราชการ ที่เลือกจะไม่ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำให้ปัญหาหลายอย่างไม่ได้ถูกแก้ไข

หากต้องการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลยว่า เราจะสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจอย่างไร เช่น การกระจายทรัพยากร กระจายที่ดิน กระจายความมั่งคั่ง ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เรื่องการศึกษา รักษาพยาบาล พยายามทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ต้องรักและหวงแหน และมีประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

ดังนั้น จึงต้องเอาปัญหาปากท้องของชาวบ้านมาอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วย

หากจะตั้งโจทย์อย่างปัจจุบันจะต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่หากคำว่าประชาธิปไตยตั้งต้นจากประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม แล้วขยับไปทางการเมือง หากกำหนดทิศทางเช่นนี้เราจะเห็นอนาคต

ถามว่าการจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีโอกาสหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการต่อรอง แต่สังคมไทยไม่ค่อยรับรู้การเมืองในความหมายนี้ สุดท้ายไปได้แค่การออกแบบ ไปได้เฉพาะประชาธิปไตยทางการเมืองเท่านั้น สังคมไทยติดหล่มตรงนี้ เราไม่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยว่า เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image