กรมคุ้มครองสิทธิฯ แจงยูเอ็น กม.ประชามติ ให้เสรีภาพแสดงความเห็น แต่มีบทลงโทษกันวุ่นวาย

กรมคุ้มครองสิทธิฯ แจงยูเอ็น พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ให้เสรีภาพแสดงความเห็น แต่จำเป็นต้องมีบทลงโทษผู้ทำผิด เพื่อรักษาความสงบวุ่นวาย ดูเป็นรายกรณี ความผิด

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่กระทรวงยุติธรรม นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ แถลงข่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

นางกรรรณิการ์ กล่าวว่า ตามที่ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights : OHCHR) ได้เผยแพร่ความเห็นของผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเกี่ยวกับการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้กำหนดหลักประกันเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เป็นกฎหมายที่รองรับหลักประกันดังกล่าว ทั้งยังเป็นกฎหมายสำคัญที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้ในการดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ การออกเสียงประชามติ และการประกาศผลการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามที่กฎหมาย มาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีเจตนารมณ์ในการรับรองสิทธิของชนชาวไทย ในการ แสดงความคิดเห็นโดยการออกเสียงประชามติ โดยจะต้องไม่มีผู้ใดแทรกแซงด้วยการก่อความวุ่นวาย ก่อให้การออกเสียงเกิดความไม่เรียบร้อย

Advertisement

นางกรรณิการ์ กล่าวอีกว่า การที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ จำเป็นต้องมีบทกำหนดความผิดและโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามบทบัญญัติมาตรา 61 วรรคสอง นั้น เป็นการกำหนดโดยคำนึงถึงความจำเป็นตามหลักของกฎหมายเพื่อป้องกันการแสดงความคิดเห็นอันมีความมุ่งหวังเพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง รวมทั้งการก่อความวุ่นวาย อันจะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของสังคมในภาพรวม โดยมีเจตนารมณ์เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ตลอดจนเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะร่วมการลงประชามติ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญโดยสุจริต ซึ่งสอดคล้องกับหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนสากล

นางกรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ บทบัญญัติฯดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 19 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (ก) และเป็นไปตามโดยชอบด้วยกฎหมายดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการจับกุมผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯมองว่าไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมุนษยชนใช่หรือไม่ นางกรรณิการ์ กล่าวว่า เราต้องดูว่าการจับกุมแต่ละครั้งนั้นเป็นเรื่องอะไร ซึ่งความจริงอาจจะเป็นข้อหาอื่นนอกจาก มาตรา 61 ก็ได้ เราจึงต้องดูเป็นกรณี ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร เพราะบางส่วนอาจเป็น มาตรา 61 และบางส่วนอาจจะนอกเหนือจากนี้

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นของบรรยากาศการทำประชามติที่มีข่าวเกี่ยวกับการจับกุม การแสดงความคิดเห็นที่มีการโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ จะทำให้ประชาชนไม่กล้าออกแสดงความคิดเห็นหรือไม่ นางกรรณิการ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่เป็นอย่างนั้น ในส่วนของมาตรา 61 ที่มีการบัญญัติไว้ ซึ่งในวรรคสองก็ได้มีการอธิบายความไว้อยู่แล้วว่ามีการกระทำอะไรบ้างที่สามารถทำได้และไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image