‘กมธ.ฟังความเห็นฯ’ ขีดเส้นไม่เกิน 45 วันจบ เดินสายรับฟังนศ. ลุยส่งกมธ.ไปม็อบทันที

‘ภราดร’ นั่งปธ.กมธ.รับฟังนศ. ขีดเส้นไม่เกิน 45 วันจบ เชิญสตช.-อดีตคนเดือนตุลาฯ ร่วมคุย พร้อมส่งกมธ.ไปม็อบ เริ่มวันหยุดนี้ จ.ศรีษะเกษ ที่แรก ด้าน โฆษกฯ ประสานเสียง ตั้งใจจริง ไร้เตะถ่วง-ซื้อเวลา

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ รับฟังความเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เป็นนัดแรก เพื่อพิจารณาเลือกตำแหน่งสำคัญของกมธ. โดย นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกกมธ.แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติให้นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นประธานกมธ. โดยมีรองประธานกมธ. 4 คน นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ เป็นรองประธานกมธ.คนที่ 1 นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองประธานกมธ.คนที่ 2 น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นรองประธาน กมธ. คนที่ 3 และ น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองประธาน กมธ. คนที่ 4 ขณะที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีษะเกษ พรรคภูมิใจไทย เป็นเลขานุการกมธ. และมีตนกับ นายคณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ อดีตผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโฆษกกมธ.

นายกรวีร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือกรอบการทำงาน และแนวทางการดำเนินงาน โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน กระแสสังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษ แม้จะได้รับกรอบการทำงานจากสภาฯ 90 วัน แต่กมธ.คาดว่าจะสามารถรับฟังความคิดเห็นของนิสิตและนักศึกษา เพื่อสรุปประเด็นสำคัญต่างๆให้สั้นที่สุด อาจจะใช้เวลา 30-45 วัน เพื่อเสนอเข้าสู่สภาฯให้สั้นที่สุด ก่อนเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป อย่างไรก็ตาม การทำงานของกมธ.จะมีแนวทางรับฟังความเห็นนิสิตนักศึกษา โดยเชิญตัวแทนกลุ่มนิสิตนักศึกษาในกลุ่มที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนกันกมธ.ในเบื้องต้นเพื่อพิสูจน์ความตั้งใจของกมธ. รวมไปถึงการลงพื้นที่แบบดาวกระจายเพื่อสังเกตการชุมนุมด้วย โดยจะเริ่มที่จ.ศรีษะเกษ กมธ.จะส่งนายสิริพงศ์ ในฐานะส.ส.พื้นที่ร่วมสังเกตการณ์และรับฟังข้อเสนอจากการชุมนุมในช่วงในสุดสัปดาห์นี้ และที่อื่นๆด้วย

ด้าน นายคณวัฒน์ กล่าวว่า แม้เบื้องต้นกมธ.จะติดลบในมุมมองของนิสิตนักศึกษา แต่ยืนยันว่า กมธ.จะพยายามรับฟังทุกข้อเสนอ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทราบมุมมองของนิสิตนักศึกษาว่า อยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางใด โดยกรอบการทำงานกมธ.จะมีการเชิญสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาให้ข้อมูลเรื่องการดำเนินคดีต่างๆที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมต่างๆ รวมไปถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยของการชุมนุมด้วย และจะมีการเชิญอดีตแกนนำนักศึกษา ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 มาให้ข้อคิดเห็นด้วย โดยยืนยันว่า กมธ.ชุดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเตะถ่วงใดๆทั้งสิ้น หรือซื้อเวลา แต่เป็นความตั้งใจของกมธ.เพื่อให้ได้เห็นภาพสุดท้ายว่านิสิต นักศึกษาอยากให้ปรเทศเป็นอย่างไร แล้วมาพูดคุยกันถึงวิธีการ ทางออก ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าต่อไป โดยไม่มีการนองเลือด ไม่มีการชนกันในระหว่างกลุ่มบุคคล กลุ่มรุ่น และทำอย่างไรที่จะหาทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image