“บิ๊กป้อม” เดินหน้าแก้ภัยแล้ง-ที่ทำกิน เป้าหมายประชาชนอยู่ดีกินดี

ยังคงปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่แม้ต้องเพิ่มเติมความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

แต่งานด้านการบริหารบ้านเมืองเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ก็เป็นงานหลักที่อยู่ในความสนใจอยู่ตลอด

และที่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คืองานด้านแก้ปัญหาภัยแล้ง และระบบการจัดการน้ำในภาพรวม ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

@ แก้แล้ง-เพิ่มน้ำใต้ดิน

Advertisement

โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร เดินทางไปเป็นประธานพิธีเติมน้ำใต้ดิน ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

พร้อมกำชับให้ขยายผลโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำทั่วประเทศ

โดยการประชุมได้มีการนำเสนอแนวทางและให้ความรู้ เพื่อนำไปดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ พร้อมมอบคู่มือการเติมน้ำใต้ดิน ให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปถ่ายทอดผ่านผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ให้มีความเข้าใจ และเกิดการเรียนรู้ การยอมรับ เห็นคุณค่าการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ ได้แก่น้ำท่วม น้ำหลาก และน้ำแล้ง ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของตน

สามารถมีน้ำที่มีคุณภาพดีทั้งก่อนเก็บและหลังเก็บ ได้อย่างยั่งยืน ตลอดไป ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณการแก้ปัญหาน้ำได้เป็นอย่างดี

พร้อมมอบหมายให้สทนช. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นเจ้าภาพหลัก ในการศึกษาและกำหนดแนวทางการเติมน้ำใต้ดิน เพื่อนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงน้ำท่วม-น้ำหลาก หรือจากน้ำฝนที่ตกลงมา เติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลด้วยวิธีการที่เหมาะสม กับสภาพพื้นที่ เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ และเป็นการฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาล

แก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และเพิ่มน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต

@ ย้ำปรับใช้ทฤษฎีแก้มลิง

พล.อ.ประวิตรยังกำชับให้ผู้ปฏิบัติงานน้อมนำศาสตร์พระราชา ทฤษฎีแก้มลิงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างจริงจัง พร้อมกำชับ ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้กำกับดูแล และควบคุมท้องถิ่นที่ดำเนินการเติมน้ำใต้ดิน จะต้องทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำน้ำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเกษตรกรเมื่อจำเป็นต่อไป

และไม่ใช่แค่มอบนโยบาย ยังลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์จริง โดยวันที่ 15 ก.ค. พล.อ.ประวิตร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เดินทางตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตร

โดยได้เยี่ยมชมการสาธิตขุดเจาะบ่อเติมน้ำแบบบ่อวงคอนกรีต และผลผลิตทางการเกษตรจากน้ำบาดาล รวมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการความร่วมมือของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ณ ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

จากนั้นมอบนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำท้องถิ่น โดยย้ำให้น้อมนำศาสตร์พระราชา ทฤษฎีแก้มลิง มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาน้ำพื้นที่ทุ่งบางระกำ ซึ่งประสบวิกฤตน้ำท่วมขังทุกปีให้เป็นผล และมอบให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งขับเคลื่อนโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อนำน้ำฝนที่ตกลงมาเติมลงสู่ใต้ดินผ่านระบบบ่อวง จำนวน 500 บ่อ ให้ทันฝนปีนี้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังและหมุนเวียนนำน้ำกลับมาใช้ในฤดูแล้ง

กำชับขอความร่วมมือผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ อำเภอบางระกำ ช่วยกันดูแลทรัพย์สินของทางราชการ และกำกับควบคุมการเติมน้ำใต้ดินให้เป็นไปตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งร่วมกันใช้ทรัพยากรน้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า เพื่อให้ทุกคนมีน้ำใช้ร่วมกันอย่างเพียงพอตลอดปี

สั่งการกระทรวงมหาดไทยประสานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกจังหวัด เร่งพิจารณาพื้นที่น้ำหลากจัดขุดเจาะทำบ่อเติมน้ำใต้ดินจำนวนอย่างน้อย 1 บ่อในทุกตำบล ช่วยดักน้ำดึงลงใต้ดิน เก็บกักน้ำต้นทุนเป็นธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมและหมุนเวียนกระจายน้ำใต้ดินกลับมาใช้ในหน้าแล้งให้ทันรับฤดูฝนนี้ และแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบ

@ อนุมัติงบกลาง 500 ล้าน แก้ปัญหายั่งยืน

ไม่เพียงแค่นั้นยังนำเสนอให้ครม.อนุมัติงบกลาง เพื่อเตรียมการรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝน ป้องกันความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนในวงกว้าง และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ทั่วประเทศ

เนื่องจาก แม้ปัจจุบันจะเข้าฤดูฝนแล้ว แต่ฝนยังไม่ตกตามฤดูกาล หลายหน่วยงานยังเดินหน้าแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องเตรียมเก็บกักน้ำในฤดูฝน ลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบกับประชาชน รวมทั้งดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร

จึงเห็นชอบในหลักการให้ใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2563 งบกลาง เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับโครงการของกรมชลประทาน มีโครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง แผนงานขุดลอกคลองสายหลักและคลองสาขาในกรุงเทพฯ พื้นที่หนองจอก 3 คลอง (6โครงการ) และ แผนงานกำจัดวัชพืชเพื่อเตรียมความพร้อมการเร่งระบายน้ำหลากในช่วงฤดูฝน 215 แห่ง โครงการของ สทนช. ประกอบด้วย การจัดทำแบบจำลองทางกายภาพลุ่มน้ำเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 17 ลุ่มน้ำ

ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และโครงการ กทม.แผนการดำเนินการขุดลอกคลองหลัก 7 คลอง และคลองสาขา 53 คลอง ใน กทม. พื้นที่หนองจอก 60 โครงการ

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ยืนยันรัฐบาลยืนยันพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกพื้นที่ ทั่วถึงอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ มีโครงการแหล่งน้ำใต้ดินทุกตำบลๆละหนึ่งแห่ง โดยมุ่งให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ น้ำมีคุณภาพ เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรและอุตสาหกรรม รองรับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ให้เติบโตและยั่งยืนตลอดไป

@ กำชับต้องไม่ขาดที่ดินทำกิน

ส่วนภารกิจอื่นๆ ที่นอกเหนือจากปัญหาภัยแล้ง พล.อ.ประวิตร เองก็ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปลูกป่า เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและหมอกควันอย่างยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ค. พล.อ.ประวิตร ก็ร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ลงพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเปิดโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า อาทิ ต้นสัก กล้วยไม้ (เขากวางอ่อน) ชมฝายชะลอน้ำ และทำโป่งเทียม ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

นอกจากนี้ยังมีเรื่องทำกิน ที่ พล.อ.ประวิตร สั่งการให้ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน อดีตรอง ผบ.ตร. ประธานคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ให้เร่งดูแลประชาชนที่เดือดร้อนจากการไม่มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก และถูกบังคับคดี ให้กลับมามีที่ดินของตัวเอง พึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ซึ่ง พล.อ.ประวิตรเองก็กำชับให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเร่งดูแลประชาชนโดยเฉพาะประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา หลังจากช่วงโควิด-19 ระบาด และอาจจะถูกเลิกจ้างตกงาน

ก็ต้องดูแลให้มีที่ดินทำกินในภูมิลำเนา โดยต้องหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้แนวนโยบายถูกขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกำชับให้หน่วยงานราชการ และ ส.ส.ในพื้นที่ ไม่ทอดทิ้งประชาชน หาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม

เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี อย่างยั่งยืนในที่สุด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image