วงเสวนาชี้ คดี ‘บอส’ กลบความจริงยิ่งเป็นระเบิดเวลา กระบวนการยุติธรรมถูกท้าทาย

วงเสวนาชี้ คดี ‘บอส’ กลบความจริงยิ่งเป็นระเบิดเวลา กระบวนการยุติธรรมถูกท้าทาย

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) ร่วมกับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ(Pollce Watch) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) จัดเสวนาสาธารณะ “บทเรียนกรณีบอสกระทิงแดง : จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไร ไม่ให้คนผิดลอยนวล”

ร่วมเสวนาโดย นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา นางสาวรสนาโตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการ นายรณรงค์ แก้วเพ็ชร ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม นายนคร ชมพูชาติ ทนายความสิทธิมนุษยชน พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธุ์ ส.ส.ก้าวไกล และอดีตเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานคดีนายวรยุทธ และนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความอับอาย คับข้อง คุกกรุ่นของทุกคนในสังคม เพราะปัญหานี้ได้สั่นสะเทือนไปถึงรากฐานของสังคมไทย และระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยด้วย เนื่องจากสถานการณ์เวลานี้มีความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นอีกมิติหนึ่ง คือการเคลื่อนไหวชุมนุม ที่ทำให้เห็นภาพความขัดแย้งของคนสองรุ่น และทำให้คิดถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ที่ก่อนหน้านั้นมีคดีทุ่งใหญ่นเรศวร จนกระทั่งปะทุลุกลามจนเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในปี 2516

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ผู้ถือครองอำนาจรัฐเวลานี้ ควรที่จะต้องดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อให้นำไปสู่การตอบคำถามของสังคมให้ได้ และเห็นว่า ผู้ถือครองอำนาจรัฐเวลานี้ได้ตอบคำถาม และแก้ปัญหาไปแล้วอย่างน้อย 2 ประการ 1.ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธาน ซึ่งหลายคนเชื่อมั่นในตัวนายวิชาอยู่แล้ว และ 2.กรณีมีสั่งอายัดศพ นายจารุชาติ มาดทอง พยานคนสำคัญในคดีนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีได้ยินและรับรู้ความสำคัญของประเด็นเหล่านี้ และเห็นว่าสิ่งที่ควรจะทำต่อไปในอนาคตคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่อาจเริ่มต้นจากการเร่งส่งร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เข้าสู่การพิจารณาของสภา เพื่อนำไปสู่การเดินหน้าปฏิรูปทั้งระบบต่อไป

Advertisement

“เพื่อคลายความข้องใจของสังคม ผู้ครองอำนาจปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว 2 ขั้นตอน ทั้งนี้หากในอนาคตผู้ครองอำนาจรัตอบคำถามสังคมได้ไม่เคลียร์ ก็เชื่อว่าอาจจะเป็นชนวนของสิ่งที่ใหญ่กว่าเรื่องนี้ ส่วนจะเกิดอย่างไร หรือเกิดขึ้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่ตัวผมเองก็ไม่อาจจะพยากรณ์ได้เช่นกัน” นายคำนูณ กล่าว

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กล่าวว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่ใช่แค่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่น หากรัฐบาลปล่อยคดีนี้ไปโดยค้านสายตาประชาชน เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ เตือนว่าอย่าเสียสละระบบทั้งหมด เพื่อบุคคลบางกลุ่ม และถ้าพยายามกลบความจริงไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาได้

นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการประจำจังหวัดสุพรรณบุรี มองว่า อัยการมักตกเป็นแพะเสมอ ที่ผ่านมาตนจึงเรียกร้องการมีระบบที่ไม่ไว้ใจใครเลย ควรให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปรับรู้พยานหลักฐานร่วมกัน เพื่อปิดโอกาสที่จะบิดเบือนกฎหมาย บิดเบือนวิทยาศาสตร์ และบิดเบือนความจริง และเมื่อทุกฝ่ายรู้เท่ากัน การดำเนินคดีหรือทำสำนวนต่างๆก็จะเสร็จภายใน 3 เดือน เพราะหากยิ่งปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป ยิ่งเปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้น


ด้าน นายรณรงค์ แก้วเพ็ชร ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าวว่า ส่วนใหญ่กรณีประมาทร่วม อัยการจะสั่งฟ้องทั้งหมด แต่คดีนายวรยุทธ กลับสั่งไม่ฟ้อง จึงมีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งคำสั่งไม่ฟ้องนี้ก็กระทบต่อคนอื่นๆ ที่เกิดจากกรณีการประมาทร่วมว่าทำไมไม่เข้าถึงสิทธิแบบนายวรยุทธ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคนไทยมีความรู้สึกว่า คนจนและคนรวยเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ต่างกัน ซึ่งคดีนี้ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกนี้ชัดมาก อีกทั้งทำไมต้องไปยัดเยียดคนตายเป็นคนผิด ซึ่งคนที่ไม่ตายสามารถไปหาพยานมาเพิ่มจนสั่งไม่ฟ้องได้

“เมื่อเกิดภาพแบบนี้สังคมรับไม่ได้ ส่วนการรื้อคดีผมเห็นว่าเป็นเรื่องยาก เพราะอัยการสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว ยังไม่นับกรณีที่ประจักษ์พยานเสียชีวิตอีก ซึ่งผมก็สงสัยว่าพอจะมีคนไปสอบสวนพยาน แต่พยานก็เสียชีวิตก่อน เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้าพยานปากนี้ไม่เสียชีวิต สังคมจะรู้ความจริงว่าเป็นพยานเท็จหรือไม่ใช่พยานเท็จ เพราะผมไม่เชื่อว่าชาวบ้านธรรมดาจะทนการสอบสวนอย่างหนักของตำรวจได้ หลายคดีจะได้ความจริงออกมาส่วนหนึ่ง”

นายนคร ชมพูชาติ ทนายความสิทธิมนุษยชน และอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปัญหาสำคัญระหว่างอัยการกับพนักงานสอบสวน ที่สามารถเอื้อประโยชน์ระหว่างกันได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้เสียชีวิต เช่น เมื่อมีการกล่าวหาผู้เสียชีวิตว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ผู้เสียชีวิตก็ไม่มีสิทธิ์ปกป้องตนเอง

ขณะที่ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน เห็นว่า มีความพยายามช่วยนายวรยุทธ ตั้งแต่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการส่งพ่อบ้านมารับผิด ตลอดจนข้อมูลสำคัญหลายเรื่องหายไปจากคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ นอกจากนั้น ยังมีความพยายามร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง ที่ก่อนหน้านี้อัยการไม่ได้รับไว้พิจารณา เพราะไม่ปรากฏหลักฐานใหม่ จึงเป็นที่มาของการใช้ช่องทาง กมธ.กฎหมายฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

“กล่องดำของคดีนี้อยู่ที่ กมธ.กฎหมายฯ สนช. ต้องไปเรียกดูเอกสารให้หมด เชื่อว่ามีร่องรอยอยู่ในนั้น และเป็นกระบวนการในการตามหาคนผิด ส่วนเรื่องคดีของนายวรุยทธ เราไม่ต้องไปทำอะไร เพราะคำสั่งไม่ฟ้องนั้นไม่ชอบ เพราะไม่มีพยานหลักฐานใหม่ เมื่อไม่ชอบก็ไม่มีผล ดังนั้นคำสั่งฟ้องของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ยังสมบูรณ์อยู่ เพียงแต่เราต้องไปหาคนผิดให้ได้ว่า ขบวนการสมคบคิดและวางแผนนี้ ใครอยู่เบื้องหลัง” นายวีระ กล่าว

พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธุ์ ส.ส.ก้าวไกล และอดีตเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานคดีนายวรยุทธ กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่ได้คำนวณความเร็วขณะเกิดเหตุ พบว่าผลคำนวณได้ 177 กม./ชม. บวกลบไม่เกิน 17 กม./ชม. และปัจจุบันภาพจากกล้องวงจรปิดก็ถูกเปิดเผยอยู่ในสังคม นับเป็นพยานหลักฐานที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่มีความรู้ทางด้านฟิสิกส์ ก็สามารถหยิบขึ้นมาคำนวณใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในคดีความต่างๆ หากได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชน จะมีผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแข็งขันในการทำงานด้วย เช่นคดีนี้ ที่ตำรวจแข็งขันในช่วงแรก แล้วเงียบหายไปในช่วงท้ายๆ

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกท้าทาย เป็นความยุติธรรมที่อำมหิต และทำให้เห็นความฉ้อฉลคนละไม้คนละมือของผู้เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อย้อนดูคดีนี้ จะพบความผิดปกติหลายอย่าง ทั้งนี้ พยานบุคคลอันตรายมาก แม้จะสอบปากคำโดยสุจริตก็ผิดพลาดได้ ไม่เหมือนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

“สำหรับการคำนวณความเร็ว ก็มีข้อกังขา ตรงที่การไม่เชื่อผลคำนวณของเจ้าหน้าที่ แต่ไปเชื่อผลคำนวณของนักวิชาการคนหนึ่ง ที่บอกว่าความเร็วรถไม่ถึง 80 กม./ชม. ถ้าความจริงเป็นเช่นนั้น เห็นว่าคงต้องยุบสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (พฐ.) กันไปเลย เพราะคำนวณคลาดเคลื่อนขนาดนี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image