หน้า2 : หยั่งเสียงนักวิชาการ ไขทางแก้‘รธน.’ หลุดกับดักขัดแย้ง

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการกรณีที่คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มีมติเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้นและให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างทั้งฉบับ แต่มี ส.ส.และ ส.ว.บางส่วนเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทน เพราะการตั้ง ส.ส.ร.และการแก้ไขทั้งฉบับจะสิ้นเปลืองงบประมาณในการทำประชามติ


สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ว่าจะพลิกแพลงเพื่อแก้ไขแบบรายมาตรา แก้ไขทั้งฉบับ หรือกำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อร่างใหม่ ก็น่าจะมีความยุ่งยากพอสมควร เพราะติดเงื่อนไขในมาตรา 256 กำหนดวิธีการแก้ไขไว้ แต่ต้องยอมรับว่ากระแสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้ง จะมีทั้งกลุ่มที่ออกมาคัดค้านและสนับสนุน ไม่ต่างจากในอดีต โดยให้เหตุผลในการไปสู่จุดหมายปลายทางที่แตกต่างกัน

ดังนั้น เพื่อยุติปัญหา สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือการทำประชามติ เพื่อถามความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรแก้ไขหรือไม่ พร้อมคำถามพ่วงว่าจะแก้ไขทั้งฉบับจากการตั้ง ส.ส.ร. หรือแก้ไขรายมาตรา

Advertisement

แต่ส่วนตัวขอสนับสนุนแนวทางการแก้ไขทั้งฉบับ เพราะการแก้ไขรายมาตรามีความยุ่งยาก หลายมาตรามีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังนั้น ควรทำให้เสร็จในครั้งเดียวจากการตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากกระบวนการการมีส่วนร่วม ไม่ใช่ร่างโดยคนกลุ่มเดียว

การแก้ไขไม่ต้องเกรงใจคณะเดิมที่ร่างไว้ เพราะเห็นว่าล่วงรู้อนาคตของประเทศจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ได้ผ่านการทำประชามติมาแล้ว แต่อย่าลืมว่าก่อนจะให้ประชาชนไปใช้สิทธิ ก็มีการออกกติกาจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในบางเรื่อง หรือบอกเหมือนเป็นคำขู่ว่า หากไม่รับร่างฉบับปี 2560 คสช.จะเอาร่างฉบับไหนมาใช้ก็ได้ ทำให้การทำประชามติของรัฐธรรมนูญ 2560 คล้ายกับถูกมัดมือชก

ดังนั้น การเสนอให้ทำประชามติเพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. ที่เป็นตัวแทนคนทั้งประเทศ น่าจะเป็นทางออกในปมขัดแย้งได้ เพราะยังไม่มีโจทย์เพื่อล้มล้างอำนาจของ 250 ส.ว. และองค์กรอิสระ อย่างน้อยบรรดาแฟลชม็อบนักเรียน นักศึกษาก็น่าจะทุเลาลงไป และคงไปสรรหาประเด็นอื่นไปทำกิจกรรม รวมทั้งอาจจะรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

การทำประชามติ หากรัฐบาลสนใจแนวทางนี้ก็สามารถตัดสินใจได้ทันที ขณะที่คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ที่ไปศึกษาและเสนอแนวทางแก้ไข ทำให้มีข้อสรุปว่าทุกพรรคการเมืองแสดงเจตนาต้องการแก้ไข ส่วนกลุ่มที่ไม่ต้องการให้แก้ไขก็มีแค่ ส.ว.บางราย แต่แปลกใจที่ยังมี ส.ว.บางส่วนยินยอมให้แก้ไข

ถ้ารัฐบาลจริงใจจะแก้ไข เชื่อว่าเวลาอย่างน้อย 2 ปีประชาชนรอได้ เพราะยังมองเห็นอนาคตที่น่าจะสดใสมากกว่าการถูกครอบงำจากการวางยุทธศาสตร์ชาติไว้ล่วงหน้านาน 20 ปี ของบุคคลบางกลุ่ม

สำหรับการใช้เวลาร่างใหม่ 2 ปี รัฐบาลน่าจะพอใจ ดีกว่ายุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ถ้ารัฐธรรมนูญยังเหมือนเดิมปัญหาไม่จบ

สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ 2475 สาเหตุที่ยังติดกับดักปัญหาของรัฐธรรมนูญมายาวนาน เพราะมีคนบางกลุ่มหวงอำนาจไว้ให้พวกศักดินา เพื่อให้มีอำนาจในการบริหารระบบราชการและในระบบธุรกิจ และทุกครั้งที่มีปัญหาจากรัฐธรรมนูญเชื่อว่าทุกฝ่ายจะได้รับบทเรียนพอสมควร

รศ.พัฒนะ เรือนใจดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เป็นสัญญาณที่ไม่ดีจากฟาก ส.ว. เป็นไปตามการคาดหมายว่า ส.ว.จะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.ระบุว่าการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร. กระบวนการจะยาวมาก เสียทั้งงบประมาณและเวลา

หากจะแก้มาตรา 256 ต้องมีฝ่ายค้านร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 20% มี ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 รวมทั้งต้องผ่านการเห็นชอบจากศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนจะนำไปสู่การลงประชามติ เป็นการพูดแบบรวบรัดว่า มาตรา 256 ต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยเฉพาะเสียงจาก ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คนจาก 250 คน ถ้า ส.ว.ไม่เอาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำไม่ได้

เรามาถูกทางแล้วที่แก้มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ไปแตะเรื่องที่มานายกฯ คุณสมบัติรัฐมนตรี เรื่องที่มาของ ส.ว. หรือการคิดคะแนน ส.ส.
เพราะหากเแตะเรื่องแบบนี้เยอะไป ในที่สุดก็แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะจะไปกระทบกับอำนาจหลายส่วน

คิดว่ายังไงก็ต้องเริ่มจากฐานมาตรา 256 คือต้องให้ ส.ว.เอาด้วยถึงจะแก้ไขได้ ส่วนรูปแบบ ส.ส.ร.ที่คล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นมาทีหลัง ลำดับแรกนั้นต้องให้ ส.ว.เห็นด้วยก่อน แต่ที่ระบุว่าต้องใช้เวลา 1 ปี 11 เดือน คิดว่านานเกินไป

เราควรเริ่มแก้ไขมาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ต้องไปแตะเรื่องอื่น ซึ่งนั่นเป็นรายละเอียด คนที่จะไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะไปว่ากันอีกครั้ง เราต้องถามหาความจริงใจ โดยเฉพาะรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ต้องแสดงความจริงใจร่วมกับฝ่ายค้านว่าจะขอแก้ไข

ส.ว.ไม่ควรจะประกาศชัดว่าไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไปโยงว่าต้องเลือกตั้ง ส.ส.ร.จังหวัดละ 1 คน เป็นเรื่องสิ้นเปลืองงบ ซึ่งไม่ว่าเท่าไหร่เราก็ต้องยอม เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้บ้านเมืองนำไปสู่การพัฒนาในระบอบประชาธิปไตยที่ดีขึ้น

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

การแก้รัฐธรรมนูญทุกฝ่ายต้องแสดงความจริงใจ หากรัฐบาล พรรคการเมืองและ ส.ว.ไม่ร่วมมือกัน ก็ทำได้ยาก เพราะมีหลายขั้นตอน อาทิ ตั้ง ส.ส.ร. การทำประชามติ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันเชื่อว่าแก้ได้

ควรนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นตัวตั้งในการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมีการศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียมาแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของประชาชนมากที่สุด หรือนำรัฐธรรมนูญปี 2560 มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชน ประชาชนที่เคลื่อนไหวประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อน ดังนั้น รัฐบาลและพรรคการเมืองต้องมีเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นเยาวชนและผู้เห็นต่าง ก่อนนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรมีการถ่วงดุลอำนาจ 4 สถาบันหลัก คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระ อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจมากเกินไป ที่สำคัญทุกองค์กรต้องสามารถตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสได้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความศักด์สิทธิ์ เท่าเทียม และเป็นของประชาชนแท้จริง

การที่กลุ่มเยาวชนและนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้นายกฯลาออก ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ และแก้รัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นพลังบริสุทธิ์ ที่ไม่ได้จัดตั้งจากฝ่ายการเมือง เพราะเห็นว่าเงินกู้รัฐบาล 1.9 ล้านล้านบาท เป็นภาระหนี้สินที่กลุ่มดังกล่าวต้องรับผิดชอบในอนาคต ประกอบกับเศรษฐกิจชะลอตัว การแข่งขันประเทศถดถอย เป็นผลจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ดังนั้น รัฐบาล พรรคการเมือง ต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์โลก และความต้องการของประชาชน เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ถ้าฝืนกระแส อาจส่งผลให้รัฐบาลมีอายุสั้นกว่าเดิมได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image