บทนำ : ยังงัด-ยื้อแก้รธน.

ข้อขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเห็นชัดมากขึ้น เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้ประชุม ส.ส.พรรค พิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้มีมติเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 256 ที่พรรคได้ประกาศจุดยืนไว้ในตอนหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งนี้ มี ส.ส.ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง และจะนัดประชุม ส.ส.อีกครั้งเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้ ส.ส.พรรคได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในวันพุธที่ 5 ส.ค.นี้

ส่วนฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย แถลงว่า มีมติเอกฉันท์ให้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยขมวดปมให้ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้น โดยจะเสนอสภาให้เร็วที่สุดในวันที่ 4 ส.ค.หรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 6 ส.ค. พรรคมองว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่ได้มองว่าการทำประชามติเป็นกระบวนการที่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม จะเปิดโอกาสให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล และ ส.ว.ที่เห็นด้วยกับแนวทางของเราเข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขด้วยเช่นกัน โดยการยื่นญัตติประกบกับญัตติของ ปชป.

ส่วนทางวุฒิสภา แม้ ส.ว.หลายคนสนับสนุนการแก้ไข แต่อีกส่วนหนึ่งคัดค้านการตั้ง ส.ส.ร.มาแก้ไข หรือยกร่างทั้งฉบับ โดยระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติมาแล้ว ประเด็นที่ถกเถียงอยู่ในขณะนี้คือประเด็น ส.ส. ส.ว. การทำงานขององค์กรอิสระ หากมีเพียงเท่านี้ ไม่จำเป็นต้องมีการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งการคัดค้านของ ส.ว.ถือว่ามีผลมาก เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 ใน 2 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ ในชั้นรับหลักการ และลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่า ในขณะนี้มีพรรครัฐบาลสนับสนุนการแก้ไข ม.256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.แล้ว 1 พรรค ส่วนฝ่ายค้านเห็นด้วยทั้งหมด ขณะที่ ส.ว.ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจไว้มาก ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ ดังนั้น ทุกสายตาของสังคมจึงจับจ้องไปที่รัฐบาลว่า จะสนับสนุนการแก้ไขหรือไม่ เพราะหากรัฐบาลสนับสนุน ท่าทีของ ส.ว.และ ส.ส.รัฐบาลอื่นๆ ก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป แต่ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุน คาดว่าจะนำไปสู่ปัญหาการเมืองที่รุนแรงมากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image