อัยการ-ตร.โร่แจงกมธ. คดี ‘บอส’ ย้ำความเร็ว 177 ไม่มีในสำนวน-โคเคน หลักฐานไม่แน่น

กมธ.กฎหมาย-กมธ.ศาล เชิญอัยการ-ตร.แจงคดี “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา อัยการยันเหตุผลไม่สั่งฟ้อง เป็นไปตามพยานหลักฐานในสำนวน ด้าน อ.สายประสิทธิ์ ยันคำนวณตามหลักการทางวิชาการ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 5 สิงหาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการรัฐ วิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการเชิญ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้องในคดีของนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา และคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำคดีนี้ของฝ่ายอัยการ นำโดย นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม นายประยุทธ เพชรคุณ และ นายฤชา ไกรฤกษ์ อธิบดีอัยการ เจ้าของสำนวน พร้อมมีการเชิญ นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ที่ตรวจวัดความเร็วรถของนายวรยุทธ ได้กว่า 76 กม./ ชม. มาชี้แจงข้อเท็จจริงการทำคดีต่อกรรมาธิการ ซึ่งในวันนี้นายเนตร นาคสุข ไม่มาชี้แจง

นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา กล่าวว่า การสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดครั้งนี้ มีอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องเป็นไปตามพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งนายวรยุทธมีการร้องขอความเป็นธรรมอยู่หลายครั้ง รวมถึงการร้องต่อ สนช. ทำให้มีพยานยืนยันสอดคล้องตรงกันว่าความเร็วรถของนายวรยุทธ ไม่ถึง 80 กม./ชม. รวมทั้ง นายจารุชาติ มาดทอง โดยเฉพาะผลการคำนวณ นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประกอบกับตำรวจพิสูจน์หลักฐานที่ตรวจวัดความเร็วครั้งแรกว่า 177 กม./ชม. มายอมรับในการสอบสวนเพิ่มเติมว่ามีการตรวจวัดความเร็วคลาดเคลื่อน และยืนยันว่าความเห็นของ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไปร่วมคำนวณความเร็วในที่เกิดเหตุและระบุความเร็วที่ 177/ชม. ไม่มีอยู่ในสำนวนอย่างแน่นอน เพราะหากอยู่ อัยการไม่มีเหตุผลที่จะไม่สั่งฟ้อง

ด้านนายปรเมศวร์กล่าวว่า จากการตรวจสำนวนทั้งหมดตามข้อเท็จจริงอัยการเชื่อว่า ที่ว่าการชนมีการลากศพไป 200 เมตร นั้นไม่เป็นความจริง แต่ศพกระเด็นบนรถ แล้วรถยังไปต่อก่อนรถจะล้มลง ส่วนข้อมูลความเร็ว 177 กม./ชม. แต่แรกนั้นไม่มีผลการคำนวณยืนยัน เป็นเพียงเอกสารแผ่นเดียว ส่วนข้อเสนอจากการพิจารณาของกรรมาธิการ สนช.นั้นยอมรับว่าอัยการต้องรับฟังเพราะถือเป็นผู้แทนของประชาชน

พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่มีคำสั่งฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส กล่าวว่า โดยคำสั่งของ ผบ.ตร.กำหนดกรอบเวลาทำงาน 15 วัน ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าจะครบ ทางคณะกรรมการจะรวบรวมข้อเท็จจริงในส่วนของตำรวจ โดยมีการวางกรอบ การทำงานเอาไว้แล้วรวมถึงขั้นตอนที่ไม่เห็นแย้งของผู้ช่วย ผบ.ตร. กรณีอัยการไม่ฟ้องคดีนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และอยู่ระหว่างการสอบสวน ดังนั้นภายในสัปดาห์หน้าน่าจะสามารถชี้แจงให้พี่น้องประชาชนผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ

Advertisement

นายสายประสิทธิ์ยืนยันว่า เป็นการคำนวณตามหลักการทางวิชาการ โดยวิเคราะห์จากภาพที่เกิดขึ้น ตรวจสอบความเร็วจากหน้าปัดนาฬิกาที่โชว์บนคลิป และใช้สูตรปกติคือ ระยะทางหาด้วยเวลา แต่ภาพที่ได้มาเป็นลักษณะมุมเฉียงและเกิดขึ้นหลายปี ที่สำคัญการคำนวณความเร็วจากภาพก็ไม่ได้ยืนยันความเร็วที่เกิดขึ้นจริง อยู่บนสมมุติฐานและความเร็วในการถ่ายภาพเฟรม 25 เฟรม ก็ไม่ได้ยืนยันความเร็วของรถที่แท้จริง ซึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ เวลาคำนวณการใช้ถุงลมนิรภัยจะใช้กล้องความเร็วสูงประมาณ 500 เฟรมต่อวินาที ดังนั้น สมมุติฐานที่เกิดขึ้นเป็นการทำตามหลักการ และจะใช้หรือไม่ขึ้นอยู่ดุลพินิจของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ด้านนายฤชากล่าวว่า การสั่งคดีสั่งดำเนินการในฐานะพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน โดยสั่งฟ้อง 4 ข้อหา ซึ่งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหานี้พบการตรวจความเร็วจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งบริเวณที่เกิดเหตุและในความเห็นส่วนตัวของตนนอกจากการคำนวนความเร็วจากกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นพยานทางนิติวิทยาศาสตร์แล้ว ในฐานะที่เป็นอาจาย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ผู้ช่วยจะสอนน้องๆ เสมอว่าบางครั้งพยานนิติวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็น 100 % ถ้าเราวินิจฉัยได้จากพยานวัตถุ ที่โกหกไม่ได้หรือบิดเพี้ยนไม่ได้ กรณีนี้ดูกระจกหน้ารถยนต์ของผู้ต้องหาว่าแตกเป็นใยแมงมุมละเอียด ดูความเสียหายของรถและสภาพศพของผู้ตายหลังเกิดเหตุว่าน่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุนายวรยุทธ ขับรถด้วยความเร็วสูงมาก ในฐานะส่วนตัวความจริงพยานนิติวิทยาศาสตร์กรณีนี้บางครั้งอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในกรณีนี้เลย เพราะขับรถด้วยความเร็วสูงก็เป็นการประมาทแล้ว อย่างไรก็ตาม นายฤชาปฏิเสธที่จะชี้แจงในประเด็นที่ก้าวล่วงดุลพินิจของพนักงานอัยการท่านอื่นหลังจากรับสำนวนต่อเพราะเกรงว่าจะเป็นการทำลายชื่อเสียงองค์กร

Advertisement

ส่วนประเด็นข้อหายาเสพติด หลักการทำงานเมื่อรับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนเราจะพิจารณาข้อกล่าวหาจากที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี ข้อหาโคเคนไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหามาและเมื่อฟังคำชี้แจงพบว่า ผลการตรวจร่างกายไม่ได้พบสารโคเคนโดยตรง แต่พบสาร 2 ตัว ที่สามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 กรณีคือ การเสพโคเคนร่วมกับดื่มสุรา และอีกเหตุผลที่มีความเป็นไปได้ผลดังกล่าวเป็นผลลวงจากการกินยาแก้อักเสบ เพราะตามข้อเท็จจริงพบว่านายวรยุทธได้เข้ารักษาอาการครอบฟันเลื่อนก่อนเกิดเหตุ และแพทย์ได้ยืนยันว่าจ่ายยาแก้อักเสบให้นายวรยุทธจริง เมื่อประมวลแล้ว ไม่กล้าแนะนำให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีโคเคน เพราะหลักฐานไม่แน่น

อย่างไรก็ตาม นายปรเมศวร์ระบุว่าสัปดาห์หน้าจะส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ ส่วนระยะเวลาจะช้าหรือเร็วอย่างไรให้ขึ้นอยู่กับทางตำรวจ

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวว่า คดีนี้มีสิ่งผิดปกติไปจากแบบแผนของการทำคดี การสอบสวน และการติดตามตัวผู้ต้องหาหลายอย่าง ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติก็ถือเป็นคดีที่ธรรมดามาก โดยเฉพาะความผิดปกติของพยานหลักฐานและพยานบุคคล โดยพยานบุคคลนั้นไม่เคยมีใครออกมาพูดว่าแต่ละคนมีที่มาที่ไปอย่างไร หรือรู้เห็นในเหตุการณ์ตรงนั้นจริงหรือไม่ มีแต่พูดคำบอกเล่าของพยาน ซึ่งในวิชาชีพกฎหมายนั้นฟังไม่ได้ แต่คดีนี้กลายเป็นว่าคนที่ต้องชี้แจงถูกโอบอุ้มไว้ไม่ให้พูดกับใคร ทั้งนี้ ประเด็นหลักอยู่ที่พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการที่ใช้ดุลพินิจในการสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง ไม่มีใครตอบได้นอกจากคนทำ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องออกมาชี้แจงเองว่าเหตุผลที่สั่งเพราะอะไร หากผิดก็ต้องรับผิดส่วนตัว แต่กลับเอาองค์กรของตัวเองผ่านคนอื่นมาชี้แจง สรุปแล้วขณะนี้สังคมกำลังถูกคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจ มาอธิบายสิ่งที่คนอื่นทำ ส่วนคนที่ทำไม่ต้องพูด ตนถามว่ามันปกติหรือไม่

“ผมสงสัยว่าเพราะอะไรทั้ง 2 องค์กรถึงพร้อมใจกัน เอาชื่อเสียงเกียรติยศกระบวนการยุติธรรมของประเทศ มาเสี่ยงกับคนเพียงแค่ 2 คน แทนที่จะให้คน 2 สองคนนั้นมาชี้แจงกับสังคมเอง แต่กลับทำในสิ่งที่ท่านบอกว่าทำไม่ได้ ความเห็นส่วนตัวฟังไม่ได้ ในฐานะคนในวิชาชีพกฏหมาย ผมขอเถอะ อย่าทำให้สถาบันยุติธรรมของเราเสียหายไปมากกว่านี้ เอาเกียรติยศของผู้รักษากระบวนการยุติธรรมออกมา ใครผิดให้เขาผิดไป ใครถูกให้เขาชี้แจงเอง ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะเอาความเห็นส่วนตัวมาชี้แจงแทนคนอื่น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กมธ.กฎหมายฯ มีมติร่วมกันว่าจะส่งหนังสือเชิญบุคคลเข้าชี้แจงต่อ กมธ.อีกครั้ง อาทิ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา และอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช. และนายวรยุทธ อยู่วิทยา เป็นต้น

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image