“อนุกมธ.ด้านลงทุน-ศก. สว.” ชง 7 ข้อฟื้นฟูศก.ฐานราก ที่ได้รับผลกระทบวิกฤตโควิด

“อนุกมธ.ด้านลงทุน-ศก.สว.”  ชง 7 ข้อฟื้นฟูศก.ฐานราก ที่ได้รับผลกระทบวิกฤตโควิด

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ส.ว.ประธานคณะอนุกรรมาธิการการลงทุนและเศรษฐกิจฐานราก วุฒิสภา  เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการได้ทำรายงานศึกษาเรื่อง การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ด้านการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้นำส่งรัฐบาล โดยมีเนื้อหาดังนี้

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีการเริ่มการแพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 และ ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ได้แพร่ระบาดไปยัง 60 ประเทศ ทำให้ ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) และนับจากการระบาด ในประเทศจีน จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 3 กรกฎาคม 2563) พบว่ามีการระบาดใน 216 ประเทศทั่วโลก มีรายงานยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 10,662,536 ราย และมีผู้เสียชีวิตจาการติดเชื้อจำนวน 516,209 ราย การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง ในรอบ 150 ปี และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเสียหายในวงกว้าง ธนาคารโลกได้ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ว่าจะติดลบประมาณร้อยละ 5.2 และอาจทำให้ประชากรโลกกว่า 100 ล้านคนเข้าสู่ภาวะยากจนสุดขีด

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายประการ ได้แก่ ผลกระทบ ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตและการส่งออก วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตร เป็นต้น ประกอบกับสถานการณ์การปรับตัวลดลงรุนแรงของเศรษฐกิจและประมาณการค้าโลก การลดลงรุนแรงของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปัญหาภัยแล้ง และเงื่อนไขและข้อกำจัดที่เกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 จะปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ -8.1 (ข้อมูล ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563)

ประเทศไทยถือได้ว่ามีมาตรการชะลอการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ซึ่งในขณะนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 42 ราย และมีแนวทางในการเพิ่มระยะห่างทางสังคม “Social Distancing” เพื่อลดโอกาสในการสัมผัสเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในวงกว้าง รวมไปถึงการรณรงค์ให้ทำงานที่บ้าน เป็นต้น ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 รัฐบาลไทยบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุม การแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งยังมีการยกระดับมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมการเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นมา และคำสั่งห้ามอากาศยานขนส่งผู้โดยสารเข้าประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นมา มาตรการที่เข้มข้นส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สัมฤทธิ์ผล โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นมา

Advertisement

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ประกอบกับแนวโน้มของผลกระทบทางเศรษฐกิจในปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก ซึ่งถือเป็นรากฐาน ที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้มีรายได้ที่สูงขึ้น และทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น รัฐบาลจึงได้ดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ไปแล้วระดับหนึ่ง เช่น การออกพระราชกำหนดจะเป็นการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท อันประกอบไปด้วยดำเนินการใน 3 แผนงานหลัก ได้แก่ แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ และการสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (รวมวงเงิน 45,000 ล้านบาท) แผนงานหรือ โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ ช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (วงเงิน 555,000 ล้านบาท) และแผนงาน หรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (รวมวงเงิน 400,000 ล้านบาท) รวมทั้ง การออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือ ทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (พ.ศ. 2563) ซึ่งเป็นมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และเป็นแหล่งสร้างงานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน นอกจากสองมาตรการดังกล่าวข้างต้น ในส่วนของภาครัฐและเอกชนยังได้มีมาตรการ นโยบาย และการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับฐานราก ทั้งนี้ พระราชกำหนดทั้งสองฉบับนี้ อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจฐานราก ก่อให้เกิดภาวะที่เศรษฐกิจฐานรากต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับฐานวิถีชีวิตใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระเบียบ ปฏิบัติต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมของผู้บริโภค กระแสดิจิทัลที่กำลังผกผัน และความจำเป็นที่ต้องมีการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากต้องปรับตัวภายใต้ฐานวิถีชีวิตใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

คณะอนุกรรมาธิการการลงทุนและเศรษฐกิจฐานราก ในคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และ การอุตสาหกรรม วุฒิสภา จึงได้ศึกษาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้านการผลิตและ การค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้แนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักในการพัฒนาเศรษกิจฐานราก โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน/ภาคประชาสังคม กลุ่มวิสาหกิจ / ผู้ประกอบการรายย่อย และสถาบันการศึกษา สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

Advertisement

1.พิจารณาปรับแนวทางการนำนโยบายมาตรการการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐสู่ การปฏิบัติ : พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ. ศ. 2563 ควรพิจารณา ดำเนินการ และการปฏิบัติภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท ให้คำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวเนื่อง 5 ปัจจัย หรือ 5T ได้แก่ Titanic (การให้ความช่วยเหลือของรัฐต้องมีขนาดใหญ่มากพอที่จะครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง) Timely (การกำหนดมาตรการที่ต้องรวดเร็ว ทันเวลา ในการบรรเทาความเดือดร้อน) Targeted (การดำเนินการต้องตรงจุดผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง) Transparency (ในการดำเนินการต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้) และ Temporary (ควรเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น) และกรณีของพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจาก การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 นั้น เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือทางการเงิน แก่ผู้ประกอบวิสาหกิจอย่างแท้จริง ควรเปิดโอกาสให้สามารถนำสัญญา หรือผลการประมูลงานกับหน่วยงานภาครัฐมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ และในการดำเนินการดังกล่าว ต้องมีหลักเกณฑ์กำหนดให้สถาบันทางการเงิน สามารถยกเว้นการนับเป็นสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน

2.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ : ควรให้ความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ในชุมชนด้วยการเร่งเสริมสร้างความเข้าใจในแนวทางการค้า การให้บริการจัดจำหน่าย การส่งสินค้า และความมั่นใจในการทำธุรกรรมการซื้อขายสินค้าผ่านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การจัดการด้านโลจิสติกส์ การบริการหลังการขาย และการจัดทำเนื้อหาข้อมูลทางการตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และส่งเสริมให้กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ผู้ว่างงาน หรือ บุตรหลานในชุมชนซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทำหน้าที่ช่วยเหลือ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และ ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่

3.สร้างมาตรการที่ส่งเสริมความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน : กำหนดมาตรการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งการให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้กลุ่มสามารถพัฒนาศักยภาพ การผลิตและยกระดับมาตรฐานคุณภาพได้ นอกจากนี้ควรกำหนดนโยบายในการให้กองทุนหมู่บ้านเป็นกลไก ในการฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยจัดสรรงบประมาณให้กองทุนหมู่บ้านจัดทำโครงการและจ้างแรงงานคืนถิ่นที่ว่างงาน หรือถูกเลิกจ้างจากกิจการในเมืองใหญ่ ซึ่งมีความรู้ด้านเทคโนโลยี ธุรกิจออนไลน์ และการตลาดออนไลน์ มาช่วยงานวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชน และควรให้สถาบันการศึกษามีบทบาทในการพัฒนา ส่งเสริมการวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมรวมทั้งทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อการยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ระดับประเทศและระดับสากลให้มีขีดความสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีมาตรฐาน รวมทั้งต้องส่งเสริมให้เกิดการรับรองมาตรฐานสินค้าในระดับสากล และเร่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายที่ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ริเริ่มไว้ให้สามารถเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายทันสมัย และมีประสิทธิภาพ

4.สร้างมาตรการจูงใจแก่ภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก : ภาคเอกชนเป็นภาคส่วนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านเทคนิค เทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ในการผลิต ดังนั้น ควรสร้างมาตรการจูงใจด้านภาษี เพื่อให้ภาคเอกชน สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นการสนับสนุน ช่วยเหลืองานวิสาหกิจชุมชนมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ รวมทั้งควรมีมาตรการในการยกย่อง และเชิดชูเกียรติภาคธุรกิจเอกชนที่มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่วิสาหกิจชุมชนในรูปแบบต่างๆ

5.ยกระดับผลิตภัณฑ์จากพืชเกษตรเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และส่งเสริมพืชเกษตร
อัตลักษณ์พื้นถิ่น : ควรส่งเสริมการแปรรูปพืชเกษตร พืชอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมทั้งเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล โดยการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาสู่การแปรรูป และยกระดับมาตรฐานสินค้าแปรรูปจากพืชเกษตร และสร้างความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพให้แก่ผู้บริโภคและตลาดต่อผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของไทย สำหรับการสร้างโอกาสในการแข่งขันระดับสากล

6.สร้างมาตรการเพื่อกระตุ้นบรรยากาศในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ชุมชน : ออกมาตรการทางภาษีอากรหักค่าลดหย่อน ชื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยกรณีของค่าซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้นสามารถนำมาใช้เป็น ค่าลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งควรเร่งค้นหาผลิตภัณฑ์เด่นในจังหวัด เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์/สินค้า GI และสร้างการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว อันเป็นการสร้างบรรยากาศในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน

7.พัฒนาฐานข้อมูล (Big Data) เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก : ควรสร้างฐานข้อมูลภาครัฐ ด้านเศรษฐกิจฐานรากที่มีส่วนราชการรับผิดชอบหลัก และต้องมีการทำความเข้าใจในตรงกันระหว่างหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของความหมายของเศรษฐกิจฐานราก ลักษณะงาน และมีการแบ่งความรับผิดระหว่างหน่วยงานให้ชัดเจน โดยมีข้อมูลสารสนเทศที่สมบูรณ์ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เข้าถึง สืบค้น และวิเคราะห์ได้จากแหล่งข้อมูลกลางได้เพียงจุดเดียว และมีการบูรณาการข้อมูลเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ที่สำคัญต้องใช้ประโยชน์ในการศึกษาพฤติกรรมของการบริโภค และเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับการสร้างตลาดออนไลน์เพื่อการกระจายสินค้าสู่ตลาดอย่างสมบูรณ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image