การบ้าน‘ครม.ประยุทธ์2/2’ แก้โจทย์‘รธน.-ฟื้นเศรษฐกิจ’

การบ้าน‘ครม.ประยุทธ์2/2’ แก้โจทย์‘รธน.-ฟื้นเศรษฐกิจ’

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมือง
และการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

ถ้าเรียงประเด็นความสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อปลดล็อกให้มีการแก้ไข ก็ต้องพุ่งเป้าไปที่มาตรา 256 เพราะระบุถึงวิธีการแก้ไข เขียนให้แก้ไขได้ยากมาก สำหรับมาตรานี้มีจุดสำคัญ 3 ประเด็นที่ต้องตัดออก ประเด็นแรกบทบาทของ ส.ว.ในการร่วมลงมติเพื่อแก้ไขใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ทั้งในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ต่อมาเรื่องนำร้อยละ 20 ของ ส.ส.ที่พรรคไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี หรือตำแหน่งประธานสภา รองประธานสภา ร่วมเห็นชอบในวาระที่ 3 ประเด็นนี้อาจไม่เป็นที่สนใจ เพราะคาดว่าไม่สำคัญ แต่การเขียนไว้เอื้อให้ฝ่ายรัฐบาลเนื่องจาก ส.ส.ที่พรรคการเมืองไม่มีรัฐมนตรี ไม่เป็นประธานรัฐสภา หรือรองประธานฯ จะมีพรรครัฐบาลร่วมอยู่ด้วย และประเด็นสุดท้ายเรื่องการทำประชามติ หลังจากสภาได้ผ่าน 3 วาวะ การทำประชามติในวงเล็บแปด ต้องนำบางเรื่องออกไปโดยไม่จำเป็นต้องทำประชามติ

เมื่อแก้ไขมาตรา 256 แล้วจะต้องพ่วงอะไรเข้าไป เนื่องจากพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาอาจผลักดันให้แก้ไขเรื่องอื่นอย่างง่ายๆ ดังนั้นสิ่งที่เป็นหลักประกันว่าการแก้ไขเพื่อให้เป็นประโยชน์ส่วนร่วม ก็ควรตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)เพื่อทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เนื่องจากจุดที่ต้องมีการแก้ไขยังมีอีกมาก และไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย เนื่องจากหลายมาตรามีความผูกพันเกี่ยวข้องกัน

Advertisement

แต่โอกาสที่จะไปถึงจุดนี้ ต้องผ่านการประชุมร่วมกันของรัฐสภา จะต้องได้เสียงข้างมากที่เกินกว่า 375 เสียง ในจำนวนนี้ ส.ว.ต้องเห็นด้วย 1 ใน 3 คือ 84 เสียง จุดชี้ขาดอยู่ที่ ส.ว.จะยอมหรือไม่ เพราะมีการแก้ไขที่ตัดอำนาจของ ส.ว.ออกไป แต่เรื่องนี้ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันผลักดัน และทำให้เกิดการยอมรับเพื่อให้มีความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าไม่ง่ายนัก เพราะมองว่า ส.ว.ยังขาดอิสระในการตัดสินใจ ส่วนตัวถือว่ายากมาก

ในระยะ 3 เดือน 6 เดือน ถ้าจะมีความเปลี่ยนแปลง มีพรรคการเมืองส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างยื่นญัตติเพื่อให้มีการแก้ไข และมีรายงานของคณะกรรมาธิการฯก็น่าจะเรียบร้อยในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ จากนั้นจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรประมาณต้นเดือนกันยายน เพื่อให้ ส.ส.พิจาณาว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร จากนั้นจะมีการประชุมร่วมของรัฐสภา ถ้าหากว่าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงใจ ก็สามารถพิจารณาได้ในเดือนกันยายนนี้ก่อนปิดสมัยประชุม แต่ถ้าไม่ทันก็ต้องรอสมัยหน้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน เพราะฉะนั้นกรอบเวลาดังกล่าวภายใน 3-6 เดือนก็จะเห็นความชัดเจน

สิ่งที่สำคัญอยู่ที่รัฐบาลจะเห็นอย่างไร เพราะเชื่อว่าผู้มีอำนาจยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แม้กระทั่งในตัวแทนของรัฐที่ทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญฯก็เชื่อว่ายังไม่เคาะ และต้องรอสัญญาณว่าผู้มีอำนาจที่ส่งเข้ามามีความเห็นอย่างไร

ดังนั้นอย่าคิดว่าข้อเสนอของกรรมาธิการจะเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้า อาจมีการเสนอที่ประนีประนอมที่สุดก็เป็นไปได้ อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็เป็นไปได้ และสังคมอย่าคาดหวังกับกรรมาธิการมากนัก เพราะว่าในประเด็นขัดแย้งที่นำไปสู่การแตกหักของผลประโยชน์ที่รัฐบาลมีความได้เปรียบ จำนวนสัดส่วนของกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลมี 30 จาก 49 เสียง ฝ่ายค้านมี 19 โหวตยังไงก็แพ้ ไม่ว่าจะนำรายงานต่างๆมาประกอบการอธิบายเหตุผลให้ดี อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องนี้อาจมีการยื้อถึงการประชุมสภาสมัยหน้าแน่นอน เพราะท่าทีของรัฐบาลมีแนวโน้มจะไม่ผลักดันให้มีการประชุมร่วมภายในเดือนกันยายน ก็เป็นเรื่องที่พยายามยื้อออกไปให้นานที่สุด แต่ถ้าประชาชนเห็นว่าจะต้องผลักดันเร่งด่วนก็ต้องช่วยกันสะท้อน ให้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาภายในสมัยประชุมนี้ เชื่อว่ามีเวลาเพียงพอ และรัฐบาลไม่ควรอ้างว่าจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นการด่วน หลังสถานการณ์โควิด-19 และมีการปรับ ครม.ชุดใหม่ ก็อ้างได้ แต่ประชาชนจะให้ความเชื่อถือหรือไม่ต้องนำไปพิจารณาให้รอบคอบ

ทวิสันต์ โลณานุรักษ์
อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคอีสาน
และที่ปรึกษาหอการนครราชสีมา

จากกระแสการไขรัฐธรรมนูญ มาถึงวันนี้ ไม่แก้ไม่ได้แล้ว น่าจะเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะแก้อย่างไรถึงจะถูกใจประชาชน ที่น่าแก้มากที่สุดคือ มาตรา 256 เพราะมาตรานี้ล็อกไว้ถึง 9 เงื่อนไข หากไม่ปลดล็อกก็จะแก้ในมาตราอื่นได้ยาก รัฐธรรมนูญมี 16 หมวด 279 มาตรา คงมีหลายมาตราที่ควรแก้ไข เช่น ที่มาของผู้สมัคร ส.ส.ในมาตรการ 96 ระบุคุณสมบัติต้องห้ามน้อยเกินไป ควรเพิ่มเรื่องคดีทุจริต คดีอาญา ต้องห้ามสมัคร หากไม่แก้จะมีการเลือกตั้งซ่อมกันมากเสียค่าใช้จ่ายมาก

องค์กรอิสระ มาตรา 222 ที่มาของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ควรยกเลิก เพราะไม่สามารถควบคุมการเลือกตั้งได้ และมีการสับสนในการตีความ ควรแก้เป็นกรรมการเลือกตั้งที่เป็นอาสาสมัครแบบปี 2535 เพราะอาสาสมัครจะไม่เกรงใจนักการเมือง แต่ข้าราชการมักจะเกรงใจ ทำให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติ

หมวด12 ส่วนที่ 4 เรื่อง ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระที่ยึดโยงกับการเมืองมากเกินไป ทำให้ขาดอิสระในการทำงาน การทุจริตเพิ่มขึ้น มีคดีค้างมากและมีคดีหมดอายุความ ทำให้รัฐเสียหายต้องปรับกรรมการใหม่ วันนี้ภาคประชาชนที่ทำงานด้านนี้เป็นที่ยอมรับของสังคมมาก อย่างกรณี วรยุทธ อยู่วิทยา และบอส ที่คณะของอาจารย์วิชา มหาคุณ ได้รับการยอมรับมาก อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องจริงใจ อย่าไปทำเพื่อลกกระแสเด็ดขาด เพราะประชาชนให้ความสนใจมาก และเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาโดยเฉพาะที่มาของ 250 ส.ว.

ส่วนกรณีรัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มเพื่อหวังนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนั้น หนี้สาธารณะคือปัญหาของชาติ เรามีกติกาว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของ ต้องดำรงไว้ให้ได้ เพราะถ้าไปขยับสูงกว่านี้จะเกิดปัญหาด้านวินัยทางการเงินทันที พ.ร.ก.ฉบับแรก กู้เงินมาแก้วิกฤตแล้ว 1 ล้านล้านบาท และจะกู้จากธนาคารเอดีบีอีก อยากให้รัฐบาลทำแผนกู้เงินที่ต้องใช้ทั้งหมดไว้ เพราะถ้ามากู้เป็นงวดๆ แบบนี้จะบริหารยาก และจะเกิดการกู้เงินไม่รู้จบ ส่วน ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ ต้องเสนอแผนภาพรวมให้ประชาชนรับรู้ด้วย เพื่อร่วมมือกัน ประเทศคือครอบครัว ดังนั้น การเงินของครอบครัวสมาชิกทุกคนควรได้รับรู้

วโรดม ปิฏกานนท์
ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องต้องใช้เวลา เพราะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไข ต้องมีการคัดเลือกคน นำเข้าที่ประชุม กลั่นกรอง ต้องใช้เวลานานมาก หากจำได้ตอนร่างรัฐธรรมนูญยังต้องผ่านคณะกรรมการหลายขั้นตอน ขณะนี้จึงไม่น่าทัน ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ตอนนี้ แต่ตอนนี้ปัญหาสำคัญคือเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน ถึงจะแก้อะไรมาตอนนี้ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ประเทศตอนนี้ ผมเห็นว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน อยากให้รีบเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชนมากที่สุด

สำหรับการกู้เงินเพิ่มขึ้น หากไม่ได้ทำให้ยอดเงินสูงเกินจีดีพีของประเทศ ก็สามารถทำได้ และผมเห็นด้วย หากนำมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ นำมาช่วยผู้ประกอบการ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนลงมาในระบบเศรษฐกิจ เพราะนี่คือการช่วยเหลือประชาชนจริงๆ และการกู้เงินเขาจะมีระดับสัดส่วนหนี้สาธารณะ ตอนนี้ยังต่ำอยู่ และก่อนจะกู้ เขาต้องศึกษาระบบดีแล้วว่าจะไม่โอเวอร์เกินเกณฑ์ที่กำหนด จึงไม่น่ามีปัญหา และอยากให้รัฐบาลรีบเร่งช่วยเหลือประชาชน เพราะขณะนี้เม็ดเงินยังลงมาไม่ถึงประชาชนที่กำลังเดือดร้อน

ส่วนตัวเห็นว่า ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ใช้ได้นะ เพราะเท่าที่ติดตามเห็นว่าไม่ได้จะทำกันแค่คนสองคน หรือแค่รัฐมนตรีและทีมงานเท่านั้น แต่จะมากันแบบคณะทำงานชุดใหญ่เลย เพราะจะร่วมมือกับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นประธานหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม เรียกว่ามาระดมความคิดหาทางแก้ไขปัญหา น่าจะโอเค ในส่วนของภาคเอกชนขอเพียงให้เร่งผลักดันงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว เพราะขณะนี้เงินซอฟต์โลนจากธนาคารแห่งประเทศไทย 5 แสนล้านบาท ใช้ไปเพียง 20% เท่านั้น ส่วนอีก 80% ยังไม่ออกมาเลย ขอให้ช่วยปลดล็อกและหาวิธีให้เงินอนุมัติออกมาให้เร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image