จุดเริ่มต้นของจุดจบ 2516 : อวสาน “รัฐบาลสามทหาร”! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

ทุกคนที่เรียนประวัติศาสตร์การเมืองรับรู้กันอย่างดีถึงความสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เกิดในประเทศไทย… หากเปรียบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นดัง “การปฏิวัติครั้งแรก” ของสยามแล้ว ก็คงไม่ผิดนักที่จะต้องกล่าวยกย่องว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คือ “การปฏิวัติครั้งที่สอง” ของสังคมการเมืองไทย (คำว่า “ปฏิวัติ” ในบทความนี้ใช้ในความหมายของ “Revolution” ไม่ใช่ใช้ในความหมายของการรัฐประหาร เช่นที่คนในสังคมไทยคุ้นเคย และใช้ผิดความหมายมาโดยตลอด)

แน่นอนว่าการปฏิวัติครั้งนี้มีความรุนแรง มีการสูญเสีย และมีการเปลี่ยนแปลง ไม่แตกต่างกับการปฏิวัติทางการเมืองที่เกิดในหลายประเทศ แม้สุดท้ายแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนขนาดใหญ่ในเชิงโครงสร้างเช่นที่เกิดในบางประเทศก็ตาม แต่อย่างน้อยเหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์การเมืองไทยอย่างที่ไม่อาจปฎิเสธได้ และที่สำคัญก็เห็นถึงการพังทลายของระบอบทหารที่สืบทอดอำนาจมาอย่างยาวนานตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2490 นั้น ได้ถึงจุดจบลง

นัยสำคัญของเหตุการณ์นี้คือ เป็นครั้งแรกที่ระบอบทหารไทยถูกโค่นล้มลงด้วยการลุกขึ้นสู้ของประชาชน (popular uprising) ไม่ใช่ด้วยการรัฐประหารของชนชั้นนำหรือผู้นำทหารด้วยกันเอง เช่นที่เกิดจนกลายเป็นเหตุปกติของการแย่งอำนาจระหว่างผู้นำในการเมืองไทยในยุคหลัง 2490

ถ้าเช่นนั้นอะไรคือจุดจบของระบอบทหารไทยในปี 2516?

Advertisement

จุดจบในทางทฤษฎี!

ในภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติของวิชารัฐศาสตร์นั้น มีข้อสรุปที่ชัดเจนประการหนึ่งว่า ระบอบทหาร (ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะเต็มรูปหรือครึ่งรูปในแบบพันทาง) ดำรงอยู่ในอำนาจได้ด้วยการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของกองทัพและของชนชั้นนำที่มีอำนาจในสังคม และการสนับสนุนเช่นนี้จะต้องไม่เปลี่ยนแปรไปเป็นอื่น เพื่อให้ผู้นำทหารสามารถควบคุมการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยอำนาจของกองทัพ และที่สำคัญการควบคุมนี้จะต้องไม่ถูกท้าทายด้วยการประท้วงต่อต้านในสังคมอีกด้วย

แต่ถ้าเมื่อใดเกิดความท้าทายจากประชาชนที่ปฏิเสธอำนาจของผู้นำทหาร และขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาเอกภาพภายในกองทัพด้วยแล้ว เมื่อนั้นก็คือ “จุดจบ” ของระบอบนี้อย่างแน่นอน

ฉะนั้นอำนาจการปราบปรามด้วยการใช้เครื่องมือทางทหาร ที่ถูกออกแบบเพื่อการทำสงครามของรัฐ แต่กลับนำมาใช้ในการปราบปรามประชาชนนั้น มีความเปราะบางในตัวเองเสมอในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านขนาดใหญ่ของประชาชน เพราะเมื่อใดก็ตามที่ “กระสุนนัดแรก” ของการปราบปรามเริ่มดังขึ้น ความชอบธรรมของรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจต่อไปจะหมดลงทันที และการสูญเสียชีวิตของประชาชนจะกลายเป็นความชอบธรรมในตัวเองสำหรับประชาชนในการโค่นล้มรัฐบาลด้วย

Advertisement

จุดผลิกผัน

รัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 2507 หลังจากการเสียชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์นั้น เผชิญกับความท้าทายมาโดยตลอด และหลังจากความพยายามในการสร้างชอบธรรมโดยอาศัยการเลือกตั้งในปี 2512 กลับจบลงด้วยการรัฐประหารตัวเองในปลายปี 2514 ได้กลายเป็นจุดถดถอยทางการเมืองของรัฐบาลมาโดยตลอด

ความท้าทายเดินมาถึงช่วงปลายเมื่อรัฐบาลสูญเสียความชอบธรรมครั้งใหญ่จากกรณีล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรในตอนต้นปี 2516 พร้อมกันนี้เสียงเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ดังมากขึ้นหลังรัฐประหาร และนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในเดือนมิถุนายน ในอีกมุมหนึ่ง “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ได้เกิดขึ้น และรวบรวมคนที่มีสถานะในสังคมไทย 100 คนให้ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

แต่ภายในรัฐบาลเองกลับมีความสั่นคลอนในตัวเอง อันเป็นผลจากความขัดแย้งของกลุ่มผู้นำ จนกลายเป็น “มุ้งหลายหลัง” ทั้งในพรรคและในรัฐบาลเอง อีกทั้งการขยายบทบาทของ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งในรัฐบาลมีปัญหามากขึ้น และสมทบด้วยปัญหาการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจในสังคม

สภาวะเช่นนี้เริ่มเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการเสื่อมถอยของรัฐบาล โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือของตัวผู้นำหลักทั้งสามคือ จอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ. ณรงค์ ตกลงอย่างมาก รัฐบาลถูกมองว่า ไม่มีความชอบธรรมเหลือในการปกครองประเทศแล้ว ในขณะเดียวกันเสียงเรียกร้องรัฐธรรมนูญก็ดังมากขึ้นเรื่อยๆ และก็ไปตามธรรมชาติของรัฐบาลที่มีผู้นำทหารเป็นหัวหน้า ที่พวกเขาจะไม่ใส่ใจกับภาวะทางการเมืองที่เกิดขึ้น ยังเชื่อเสมอว่า รัฐบาลได้รับความสนับสนุนจากกองทัพ และไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับข้อเรียกร้องของประชาชน

จุดจบ!

ในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญออกเดินรฌรงค์ด้วยการแจกใบปลิว และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมทั้งหมด 11 คน ในที่สุดการจับกุมได้นำไปสู่การชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพและในต่างจังหวัดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แน่นอนว่า ไม่มีใครคาดคิดว่า การจับกุมในวันนั้นคือ “จุดเริ่มต้นของจุดจบ” ของรัฐบาล

การประท้วงกลายเป็นการลุกขึ้นสู้ของนิสิตนักศึกษาและประชาชน ตามมาด้วยการปะทะกับกองกำลังของรัฐบาล จนกลายเป็น “การปราบใหญ่” ในการเมืองไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใช้อาวุธปะทะกับนักศึกษาและประชาชนโดยตรงอย่างชัดเจนบนถนน ภาพของนักศึกษาประชาชนที่เสียชีวิตจากอาวุธของทหารฝ่ายรัฐบาลทำให้ตัวรัฐบาลหมดความชอบธรรมลงโดยสิ้นเชิง

การปราบปรามทางการเมืองครั้งนี้เริ่มด้วยการจับกุม และตามมาด้วยการใช้กำลังคือ “จุดจบสุดท้าย” ของรัฐบาล เพราะไม่เพียงแต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้การสนับสนุนอีกต่อไป หากแต่กลุ่มผู้นำทหารระดับสูงบางส่วนก็ตัดสินใจแยกตัวเองออกจากกลุ่มอำนาจเดิมด้วย… อำนาจรัฐในมือรัฐบาลจอมพลถนอมสิ้นสุดลงแล้ว และนำไปสู่การลี้ภัยออกนอกประเทศของสามผู้นำ จนกลายเป็นสมญา “สามทรราช” ในการเมืองไทย ซึ่งแทบไม่เคยมีใครคิดมาก่อนเลยว่า นักศึกษาประชาชนจะสามารถโค่นล้มรัฐบาลทหารได้จริง

ท้ายบท

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อชวนท่านทั้งหลายช่วยกันรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ขณะเดียวก็หวังว่า บทความนี้จะเป็น “มรณานุสติ” แก่บรรดาผู้นำทหารที่เชื่อว่า อำนาจปืนอยู่เหนืออำนาจจิตใจของนักศึกษาประชาชน เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่เอากับรัฐบาลที่มีผู้นำทหารเป็นแกนนำแล้ว ต่อให้ปืนในกองทัพที่มีอำนาจเพียงใด ก็ไม่อาจทานฉันทามติของประชาชนได้
รัฐบาลที่ตั้งอยู่บนฐานคิดของการจับกุมและปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยความเชื่อในอำนาจปืน จึงเสมือนกับการมีนาฬิกาไว้เพียงเพื่อนับเวลาถอยหลังอายุขัยของตัวเองเท่านั้น… บทเรียน 14 ตุลาฯ ที่เห็นการโค่นล้ม “รัฐบาลสามทหาร” ลงด้วยพลังของนักศึกษาประชาชน ซึ่งแม้จะผ่านมานานจากปี 2516 แต่ก็ยังคงคุณค่าควรแก่การเตือนใจผู้นำทหารแบบอำนาจนิยมในทุกยุคเสมอ !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image