หน้า 2 : แนะรัฐดึงฟืนจากกองไฟ ป้องเหตุรุนแรงกับม็อบ หยุดคุกคาม-จริงใจแก้‘รธน.’

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการและนักการเมืองถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ที่ขยายวงมากขึ้น จะพัฒนาไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ และจะมีทางออกอย่างไร

อังคณา นีละไพจิตร
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ถ้าถามว่าการชุมนุมจะพัฒนาไปถึงความรุนแรงไหม ต้องบอกว่าในอดีต คนที่เริ่มใช้ความรุนแรงก่อนคือรัฐ ไม่ว่าจะในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 รวมทั้งเหตุการณ์ในปี 2553 ดังนั้น การจะบอกว่าการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไปในครั้งนี้จะพัฒนาเป็นความรุนแรงหรือไม่ จึงอยู่ที่ว่ารัฐต้องไม่ใช้ความรุนแรงก่อน

ส่วนตัวมองว่าเหตุที่เกิดขึ้นนี้เป็นความคับข้องใจ หรือสิ่งที่เยาวชนไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่แรก และต้องยอมรับว่าการเขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งแผนการพัฒนาต่างๆ รวมถึงเรื่องการศึกษา ต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้ เท่ากับว่าผู้ใหญ่วางแผนไปแล้ว 20 ปี และเด็กจะต้องเป็นตามนั้น คิดว่าแบบนี้ทำให้เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องการจัดการชีวิตของเขามากเกินไป

Advertisement

ที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วม ส่วนตัวยังมองไม่เห็นว่ารัฐบาลใจกว้างแค่ไหน ยอมรับการมีส่วนร่วมหรือไม่ เท่าที่ดูจากการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ล้วนเป็นคนกลุ่มเดียว หรือเป็นคนที่รัฐบาลไว้ใจ

อีกทั้งการตั้ง ส.ว.จำนวน 250 คน ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเลย ซึ่ง ส.ว.เองก็มีส่วนร่วมคัดเลือกองค์กรอิสระต่างๆ ล้วนเป็นผลกระทบไปหมด

ตอนนี้น่าจะเป็นข้อสรุปตรงกันว่าน่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แต่การแก้ไขต้องดูว่ารัฐบาลใจกว้างแค่ไหน เพราะเท่าที่ฟังดูแล้ว ส.ว.ก็ยังหวงอำนาจตัวเอง อาทิ ปรับบางมาตรา แต่อย่าแตะต้อง ส.ว. ซึ่งก็ไม่ได้ เพราะ ส.ว.ไม่ได้ยึดโยงประชาชนเลย ต้องดูว่าสิ่งที่รัฐมีท่าทียอมรับให้แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะนี่เป็นการนำไปสู่การปรับปรุงหรือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการซื้อเวลา

ขณะเดียวกันที่มีการตั้ง กมธ.รับฟังเด็ก แต่ก็คุกคามเด็ก เช่น นายภาณุพงศ์ จาดนอก ที่ไปชูป้ายไล่นายกฯที่ จ.ระยอง กับเพื่อนอีก 1 คน ซึ่งตำรวจได้นำตัวเขาไปโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา แต่เจ้าหน้าที่นำตัวไปปล่อยไว้ในที่แห่งหนึ่ง และทั้ง 2 คนแจ้งความว่าเจ้าหน้าที่คุมตัวโดยมิชอบ ปรากฏว่าเรื่องที่เขาแจ้งความกลับไม่คืบหน้า อีกทั้งไม่กี่วันที่ผ่านมาตำรวจได้ไปแจ้งความนายภาณุพงศ์ในข้อหาต่างๆ

ตลอดจนข่าวการคุกคามนิสิตที่พิษณุโลก โดยผู้แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่แวะเวียนไปยังที่พัก เหล่านี้เป็นการคุกคาม ดังนั้น หากรัฐบาลจริงใจ ไม่เสแสร้ง และไม่ซื้อเวลา ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ให้ยุติการคุกคามในลักษณะดังกล่าวทันที ไม่เช่นนั้นหากมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แน่นอนว่าไม่มีใครไว้ใจรัฐบาล

รัฐธรรมนูญมีปัญหามาก ดังนั้น คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรจะเข้าใจและยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ร่างขึ้นมาอย่างหวาดระแวง กลัวประชาชนมาก ดังนั้น ข้อจำกัดจึงมีอยู่เยอะไปหมด ถ้าหากว่า พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่าตัวเองเป็นรัฐบาลที่มาโดยวิธีประชาธิปไตย หรือ ส.ว.หนุนเข้ามาก็แล้วแต่ แต่ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ก็ควรให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ส่วนตัวเคยเป็นอดีตกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 บอกได้เลยว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะได้รัฐธรรมนูญที่ทุกคนชอบและพอใจ แต่เราต้องมีรัฐธรรมนูญที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ จึงเห็นด้วยว่าถึงเวลาแล้วที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

อยากเน้นเลยว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯต้องทำวันนี้คือการสั่งการอย่างเด็ดขาดว่าไม่ให้มีการคุกคามนิสิต นักศึกษา และประชาชน เพราะบางครั้งนักเรียนในโรงเรียนก็ถูกคาดโทษจากครู รัฐบาลต้องยืนยัน ต้องออกมาให้นโยบาย ไม่ว่าจะมาจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ต้องไม่คุกคาม ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย

คนเราสามารถเห็นต่างกันได้ แต่ต้องดูแลในเรื่องความปลอดภัย ไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง ที่สำคัญคือรัฐต้องยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนที่ผ่านมารัฐก็เป็นผู้ใช้ความรุนแรงก่อนทุกครั้ง ไม่ใช่ว่าประชาชนจะเป็นผู้ใช้ความรุนแรงก่อน

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คําว่าม็อบจุดติดแล้วหรือยัง ถือเป็นคำถามใหญ่ ถ้าพิจารณาจากจำนวนการเกิดขึ้นของม็อบที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง เป็นสัญญาณอย่างหนึ่ง แต่ต้องดูว่าการไปต่อ มีแกนนำหรือผู้เข้าร่วมหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างน้อยคือคนที่ขึ้นเวทีอภิปรายหรือปราศรัยเป็นคนหน้าใหม่แล้วหรือเปล่า ออกจากเครือข่ายของคนที่มีส่วนร่วมเดิมหรือยัง

สำหรับประเด็นข้อเรียกร้องอาจต้องมองเป็นส่วนๆ เพราะทั้ง 3 ข้ออาจไปด้วยกันในคราวเดียวไม่ได้ อย่าลืมว่าถ้ายุบสภา เลือกตั้งใหม่ ในขณะที่มีรัฐธรรมนูญ และกฎ กติกาแบบเดิม ภาพการเมืองหลังจากการเลือกตั้งหากเกิดขึ้นก็อาจจะยังเป็นแบบเดิม ดังนั้น คนที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองครั้งนี้ อาจต้องมองว่าอะไรทำได้ก่อน อะไรตอบโจทย์ของตัวเองก่อน

จุดประสงค์ที่คิดว่าต้องมองอย่างที่หนึ่งคือ ถ้าอยากเลือกตั้งใหม่แล้วนายกฯยังมีโอกาสเปลี่ยนไปจากขั้วเดิม ก็ต้องดูระบบการเลือกตั้ง อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. แต่ก็ต้องถอยกลับไปอีกว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน จะทำได้หรือไม่ แม้สภาจะมี กมธ.มา ก็ดูแค่ว่าจะแก้ได้หรือไม่ ไม่ใช่แก้อย่างไรด้วย

จริงๆ แล้ว ผู้เรียกร้องอาจต้องชัดเจนว่าประเด็นการหยุดคุกคามประชาชน ต้องเกิดขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก ข้อนี้ทำได้ง่ายที่สุด เป็นการแสดงความจริงใจจากภาครัฐได้ง่ายที่สุด แต่คำถามคือการคุกคามแบบนี้เกิดจากการประเมินสถานการณ์หรือ “โอเวอร์รีแอค” ส่วนตัวคิดว่าการประท้วงคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบหนึ่ง สามารถทำได้ ไม่ควรจัดการกับเรื่องนี้ในทำนองนี้

สำหรับประเด็นความรุนแรงต้องเกิดจากความสุกงอมของสถานการณ์ ไม่ใช่ว่ามีม็อบ 2 ฝ่ายออกมาแล้วจะต้องเกิดความรุนแรงเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับการจัดการภายในม็อบ และการรับมือของภาครัฐ ตามกฎหมาย ม็อบก็ยังทำได้ และถ้ามองไปมากกว่านั้น ม็อบในขณะนี้เป็นแฟลชม็อบ โอกาสที่จะทำให้เกิดความยืดเยื้อและรุนแรงน่าจะน้อย การวางกลยุทธ์ของการเรียกร้องเป็นส่วนสำคัญที่จะพาไปสู่จุดของการใช้ความรุนแรง
หรือไม่

ในตอนนี้ สิ่งที่ง่ายที่สุดคือ รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการกระทำทุกอย่าง ต้องยอมรับว่าในข้อเรียกร้องบางอย่าง สามารถทำได้เลย อย่างการหยุดคุกคาม แต่อาจต้องจัดกระบวนการรับฟัง ตอนนี้เราเห็นแต่สภาจัด แต่ยังไม่เห็นรัฐบาลหรือการมอบหมายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเข้าไปแสดงออกว่าจะรับฟังและพยายามหาทางออกร่วมกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้ง แต่เป็นผู้รับฟังข้อเสนอ ข้อเรียกร้อง หากมองว่าม็อบคือคู่ขัดแย้ง อาจไม่มีทางออกที่ดีร่วมกัน

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

การเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่ยกระดับมาเป็นกลุ่มประชาชนปลดแอกนั้น ถือเป็นสิทธิการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ

ประเด็นสำคัญในขณะนี้ถือว่า ทุกฝ่ายได้มาโฟกัสร่วมกัน คือข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 ข้อ ของกลุ่มประชาชนปลดแอก

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่าย รวมทั้งฝ่ายค้านเห็นตรงกัน คือ การยกร่าง โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของทุกฝ่าย และตรงกับข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีจุดยืนชัดเจนว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์

สิ่งที่ผมอยากให้สังคมโฟกัสร่วมกันคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องแสดงความจริงใจ ทั้งความชัดเจนในเรื่องกรอบเวลา และเนื้อหาที่จะแก้ไข เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าได้สำเร็จ

เมื่อมีความชัดเจนที่จะนับหนึ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อว่ากลุ่มนักศึกษาอาจจะปรับบทบาทใหม่ จากผู้มาเรียกร้อง เป็นผู้เฝ้ามองและจับตาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ อีกทั้งการเคลื่อนไหวของนักศึกษาไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิไว้

ส่วนที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความห่วงใย เนื่องจากมีอีกกลุ่มมวลชนที่ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเกรงว่าจะมีการเผชิญหน้ากัน อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงซ้ำรอยเหมือนกับเหตุการณ์ช่วง 14 ตุลาฯ 2516
ผมมองว่ากลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษาสมัยนี้ มีภูมิคุ้มกันมากพอ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตและจะหาทางออกร่วมกัน ไม่ให้กลับไปขัดแย้งเหมือนในอดีตได้

ที่สำคัญการจะร่วมกันหาทางออก ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งนั้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาลต้องแสดงความจริงใจที่จับต้องได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ที่ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะตำรวจไปจับกุมแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา จะเปิดเวทีรับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาชนปลดแอก แต่กลับมีเหตุการณ์ตำรวจไปจับ 2 แนวร่วมกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม เหตุการณ์นี้รัฐบาลจะอธิบายถึงความจริงใจได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากนายกฯจะเปิดเวทีรับฟังกลุ่มผู้ชุมนุมจริงก็ควรจะกำหนดวัน เวลา และเนื้อหาที่จะพูดคุยให้มีความชัดเจน ตรงนี้อาจช่วยลดความผิดพลาดในครั้งแรกได้ แต่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงต้องมีวุฒิภาวะ และตระหนักที่จะรับฟังกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างแท้จริง ไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกับกลุ่มผู้ชุมนุมซ้ำสองขึ้นมาอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image