เดินหน้าชน : แก้ที่ใคร : โดย สัญญา รัตนสร้อย

เดินหน้าชน : แก้ที่ใคร : โดย สัญญา รัตนสร้อย

น่าจะเป็นความโล่งอกของบรรดาผู้มีใบขับขี่รถยนต์แบบตลอดชีพ ว่ากันว่าประชาชนกลุ่มนี้มีอยู่ราว 1 ล้านคน ภายหลังกรมการขนส่งทางบกเลิกใบขับขี่ประเภทนี้ไปเมื่อปี 2546

เป็นความโล่งอกสบายใจขึ้น จากการที่กรมการขนส่งทางบกมีแนวความคิดเรียกมาทดสอบสมรรถภาพการขับขี่ โดยมองว่าคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ร่างกายไม่สมูบรณ์เหมือนเก่า สายตาอาจเริ่มมองเห็นไม่ชัดเจน หูก็อาจฟังได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง จะเป็นปัญหาการขับขี่ปลอดภัยได้

เพียงแค่ริเริ่มก็โดนวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมออนไลน์เสียงขรม จนต้องล่าถอย

ว่าไปแล้วในด้านความปลอดภัยบนท้องถนนกับการตรวจสอบความพร้อมในการขับขี่ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน โดยเฉพาะประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องสถิติอุบัติเหตุทางถนน จากรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน ล่าสุดปี 2561 โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่า การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา จากฐานข้อมูลของปี 2556 พบว่าอัตราการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยติดอันดับ 2 ของโลก มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 36.2 ต่อประชากร 1 แสนคน หรือเฉลี่ยปีละกว่า 2.4 แสนคน

Advertisement

น่าเสียดายที่บ้านเราการศึกษาหรือเก็บข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างช่วงอายุผู้ขับขี่รถยนต์กับการเกิดอุบัติเหตุอย่างเป็นระบบ หรือเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ได้มีเพียงพอจะนำมาอ้างอิงสำหรับสนับสนุนแนวความคิดของกรมการขนส่งทางบก ในการตรวจสอบสมรรถภาพผู้ค่อนข้างมีอายุกลุ่มใบขับขี่ตลอดชีพ

ผู้เขียนพยายามสืบค้นความเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ กลับพบข้อมูลออกมาในทางตรงกันข้าม

จากมูลนิธิไทยโรดส์และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ไปสำรวจอัตรา
การสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไทย จำแนกตามช่วงอายุในปี 2561 พบว่ากลุ่มผู้ใหญ่รวมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร อายุระหว่าง 45-50 ปี มีอัตราการสวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 48

Advertisement

ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นมีอัตราการสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น

นอกจากนั้น ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำการสำรวจสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของวัยรุ่น พบว่าร้อยละ 45 และ 55 ของการเสียชีวิตในวัยรุ่น 10-14 ปี และ 15-19 ปี มาจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ ในจำนวนนี้ร้อยละ 40 และ 47 เป็นอุบัติเหตุยานยนต์ทางบก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอายุอื่นก็พบว่ากลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี และกลุ่ม 20-24 ปี มีความเสี่ยงต่อการตายจากอุบัติเหตุ และอุบัติเหตุยานยนต์ทางบกสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

จากการศึกษายังพบข้อมูลกลุ่มวัยรุ่นมีพฤติกรรมเสี่ยงค่อนข้างสูง เช่น การขับขี่ด้วยความเร็วสูง การแซงกระชั้นชิด การเบรกในระยะประชิด การเลี้ยวตัดหน้า และเมื่อเปรียบเทียบกับวัยอื่น สัดส่วนผู้ขับรถเวลากลางคืนในกลุ่มวัยรุ่นจะสูงกว่า ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเสี่ยงสูงกว่าการขับในเวลากลางวันถึง 4 เท่า

การที่กรมการขนส่งทางบกมีแนวคิดตรวจสอบสมรรถภาพกลุ่มผู้มีใบขับขี่ตลอดชีพ ก็คงต้องว่ากันไปแต่ก็ควรมีข้อมูลหลักฐานรองรับ

ขณะที่ด้วยผลสำรวจและศึกษาที่มีอยู่ การมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเสี่ยงแท้จริง น่าจะได้รับการยกระดับเข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image