ตุลาการวิพากษ์ รธน. ส่งไม้ประชาชนชั่งน้ำหนัก ลงประชามติ

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา กล่าวถึงการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ(รธน.)ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ว่า รธน.ฉบับนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างข้อดีจะเป็นแบบที่ กรธ.บอก คือ ในร่าง รธน.ฉบับนี้จะมีการปกป้องไม่ให้มีการทุจริตเกี่ยวกับการเข้าสู่ตำแหน่ง ส่วนข้อเสียที่มีการถูกโจมตีในเรื่อง โครงสร้างของ สภาของ 5 ปีแรก ที่ให้มี สว.แต่งตั้ง 250 คนที่สามารถไปโหวตนายกฯได้ ตรงนี้ทางฝ่ายการเมืองมีข้อห่วงใยที่กลัวว่า สว.แต่งตั้ง 250 คนจะเทคะแนนให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้ผลของส.ส.ที่เลือกตั้งอาจจะไม่ตรงต่อผลของการเลือกตั้งจากประชาชน เรื่องนี้มีการให้เหตุผลข้อโต้แย้งว่า ใน 5 ปีแรกหลังการเลือกตั้ง ความขัดแย้งจะยังคงมีสูง จึงจำเป็นต้องมีคนที่ไม่มีส่วนได้เสียของพรรคการเมืองเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลก่อน เพื่อลดความขัดแย้งไม่ให้ขั้วการเมืองขัดแย้งกันมากจนก่อให้เกิดความไม่สงบในเรื่องนี้ จึงทำให้ประชาชนต้องชั่งน้ำหนักกันระหว่าง เสรีประชาธิปไตยที่เปิดเต็มที่ กับ ระบบความขัดแย้งอาจก่อให้เกิดความล้มเหลวของรัฐ เหมือนก่อนการรัฐประหาร

ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ยังกล่าวถึงเรื่องยุทธศาสตร์20 ปีที่อยู่ในรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้บางคนบอกว่าดีเพราะเป็นการวางรากฐานไม่ให้ประเทศไปอยู่ในระบบประชานิยม เพราะต้องเดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจไป20ปี โดยที่ไม่ต้องใช้ประชานิยม นโยบายประชานิยมจะก่อให้เกิดผลเสียคือการใช้งบประมาณที่สูญเปล่าหรือได้ผลน้อยแต่ต้องเสียเงินมากหรือความเสียหายทางวินัยการคลัง ส่วนอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ค้านหากปล่อยให้มีการวางกรอบแบบนี้จะทำให้ฝ่ายการเมืองไม่มีนโยบายใหม่เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เรื่องนี้จึงเป็นการชั่งน้ำหนักกันที่ค่อนข้างลำบาก

นายศรีอัมพร กล่าวต่อว่า ตนจะพูดมากกว่านี้ไม่ได้พูดก็เป็นการชี้นำ แต่ก็แค่ชี้ให้เห็น2อย่างให้เลือกเอาว่าระหว่างความห่วงใยของการแก้ความขัดแย้ง จะแก้เรื่องการเมืองและรัฐล้มเหลว และความห่วงใยในเรื่องระบบเศรษฐกิจเกี่ยวกับ วินัยการคลังถ้าระบบมันเสียมีการใช้ประชานิยมกันมากไปก็อาจทำให้หนี้สาธารณะมันสูงก็อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมันล่มจมได้ แต่หากมีความเข้มงวดมากเกินในกรอบ20 ปี ถ้ามันเต็มเกินไปก็อาจทำให้การแก้ปัญหาของพรรคที่มาเป็นรัฐบาลแก้ยากเพราะในการแก้ปัญหาบางทีมันต้องใช้การลงทุนแก้ปัญหาให้รากหญ้าให้มีกำลังเข้มแข็ง ตอนนี้เป็นการสู้กันระหว่างแนวความคิดสองด้าน ในทางทฤษฎีค่อนข้างจะมีเหตุผลทั้ง2แนวคิด ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะต้องเข้าใจปัญหาว่าจะเอาอย่างแนวความคิดที่ทางฝ่ายการเมืองที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มที่หรือจะมีการตั้งกรอบที่ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเก่าๆขึ้นอีก

“ตอนนี้เราชี้นำไม่ได้เพราะจะมีผล เนื่องจากเป็นเรื่องเซนซีทิฟมากและเป็นการล่อแหลมที่เกิดผลกระทบทั้ง 2 ฝ่าย แต่จะไปว่าฝ่าย กรธ.หรือ คสช.ไม่หวังดี ก็ไม่ได้เพราะเขาก็หวังดี ส่วนฝ่าย พรรคการเมือง หรือฝ่ายนิยมประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบไม่ปิดกันก็บอกว่า ร่างแบบนี้มันยังไม่ใช่ระบอบที่ดี จึงเป็นดุลพินิจของประชาชนที่ไปลงประชามติต้องตัดสินใจด้วยตัวเองโดยที่ไม่มีการชี้นำ ตอนนี้ทาง คสช. กรธ. หรือ กกต.เองมีการเริ่มเปิดเวทีให้ชี้ข้อดีข้อเสีย และเริ่มผ่อนคลาย ตอนนี้จึงถือว่าประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ถ้าชั่งเหตุผลแต่ละฝ่ายตนมองว่าพอๆกัน แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนชอบแบบไหน” ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกากล่าว

Advertisement

เมื่อถามถึงสิทธิขั้นพื้นฐานใน รธน.ฉบับนี้ นายศรีอัมพร กล่าวว่า ไม่ค่อยกังวลเพราะสิทธิขั้นพื้นฐานแม้มีการเขียนที่แตกต่างจากเดิมยังไงก็ตาม แต่ตัวกฎหมายลูกจะสำคัญกว่า อย่างที่มีการโจมตีเรื่องสุขภาพหรือการศึกษา กฎหมายลูกสามารถที่จะแก้ในเรื่องนี้ได้เพราะไม่ได้มีการเขียน รธน.เคร่งครัดจนเกินไป ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล ประชาชนต้องเลือกเอาว่าเหตุผลที่ขัดแย้งกันอยู่ประชาชนจะเลือกแบบไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image