นิสิต มศว ปราศรัยเดือด ชำแหละ 2 มาตรา รธน.60 ‘ปิดปากประชาชน’ จี้ตั้ง ส.ส.ร. สร้างความยุติธรรม

‘มศว คนรุ่นเปลี่ยน’ จี้ตั้ง ‘ส.ส.ร’ ปราศรัยเดือด ชำแหละ 2 มาตรา ปิดปากประชาชน

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม เวลา 16.30 น. ที่ลานเทาแดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กลุ่ม “มศว คนรุ่นเปลี่ยน” จัดกิจกรรมแฟลชม็อบ #ให้มันจบที่รุ่นเรา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนทยอยเดินทางมารอร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนมากเป็นนักศึกษา ทั้งในและนอกเครื่องแบบ โดยบางส่วนสวมใส่เสื้อสีดำและนั่งจับกลุ่มนั่งรอร่วมกิจกรรมตามเวลานัดหมาย 17.00 น.

ทั้งนี้ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ได้ตั้งโต๊ะรณรงค์ล่า 50,000 ชื่อ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 โดยมีผู้ร่วมลงชื่ออย่างไม่ขาดสาย ทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำเริ่มตั้งลำโพงหลายตัวบริเวณลานเทาแดง ภายในมหาวิทยาลัย ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายสิบนาย

เวลา 16.40 น. มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ผู้ร่วมชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างวิ่งเข้าหลบฝนด้านหน้าอาคาร

Advertisement

เวลา 17.00 น. ฝนยังคงเทลงมาอย่างหนัก แกนนำประกาศเริ่มกิจกรรมภายใต้อาคาร โดยระบุว่าจะไม่หยุดปราศรัยแม้ฝนจะตก เพราะเราต้องการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ออกมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญลวง เหมือนฉบับปี 2560

นายณัฐชนน จงห่วงกลาง นิสิตคณะสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 60 ในช่วงลงประชามติตนยังมีอายุไม่ถึง และไม่สนใจจะอ่านอย่างจริงจัง สาเหตุที่ทำให้ได้มาอ่าน ก็เพื่อเก็บข้อมูลเตรียมความพร้อมเข้ารวม คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

“เมื่อได้อ่านรัฐธรรมนูญแล้ว ก็อยากจะเอาเท้ามาก่ายหน้าผากเสียเหลือเกิน และอยากบอกว่า ทำไมจึงบัญญัติให้อ่านได้ยากมาก ขอยกตัวอย่าง เพียง 2 มาตรา คือ 1.มาตรา 25 หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่ระบุว่า นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่นบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตราย ต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของสังคมและประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น อ่านแล้วสงสัยว่า ที่ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการจับกุมผู้เห็นต่างหลายราย ใช้ในมาตรา หลังรัฐประหารปี 57 ไม่ว่านักการเมือง หรือประชาชนทั่วไป กระทั่งนักศึกษา และรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้มีการบัญญัติไว้ นำไปสู่การตีความที่มีไม่แน่อนเมื่อชุมนุมเรียกร้อง อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาว่า เป็นภัยคุกคามหรือไม่ และ 2.มาตรา 25 วรรค 1 ความมั่นคงที่ว่านี้ก็ยังไม่มีการจำกัดความอย่างชัดเจน ดังนั้น มาตรานี้จึงอาจเป็นเครื่องมือของรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถือว่าเป็นมาตราที่มีไว้ปิดปากประชาชนอย่างแท้จริง”

นายณัฐชนนกล่าวว่า สำหรับมาตราสุดท้าย 279 ซึ่งได้ระบุไว้ว่า บรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของคสช. หรือของหัวหน้า คสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําที่มีผลใช้บังคับ ในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คําสั่ง การกระทําตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คําสั่ง หรือการกระทํานั้น เป็นประกาศ คําสั่ง การกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป มาตรานี้มีเพื่อประโยชน์ต่อ คสช.อย่างยิ่ง และเป็นมาตราที่ให้ความชอบธรรม ไม่ว่าทําร้ายคนเห็นต่างทางการเมือง จับเข้าคุก ข่มขู่คุกคาม เปลี่ยนกงจักรให้กลายเป็นดอกบัว ให้ความยุติธรรมเป็นความไม่ถูกต้อง

“เราจะยอมให้คนละเมิดสิทธิเสรีภาพและหลักมนุษยชนลอยนวล ให้มีมาตรานี้เพื่อเป็นเกราะป้องกันจริงหรือ ซึ่งยังไม่รวมมาตราอื่นที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก นี่หรือรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ร่างเพียงคนคนเดียว และจับกุมผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้ไม่รับร่าง ใช้การตีความเข้าข้างผู้ใช้อำนาจรัฐ เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ก็คงไม่เหลือ ดังนั้น การตั้ง ส.ส.ร.จึงจำเป็น เพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย ให้ประชาชนได้มีรัฐธรรมนูญในฝัน ที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง” นายณัฐชนนกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image