เปิด9ข้อกมธ.สร้างปรองดอง แก้‘รธน.-นิรโทษ-เยียวยา’ ทุกฝ่ายขอโทษสาธารณชน

เปิด9ข้อกมธ.สร้างปรองดอง
แก้‘รธน.-นิรโทษ-เยียวยา’
ทุกฝ่ายขอโทษสาธารณชน

หมายเหตุข้อสังเกตในรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “แนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ” ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม

1.การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ…ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งมาจากรัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ขาดความสามัคคีปรองดอง กมธ.จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะเสนอให้ฝ่ายรัฐบาลและทุกภาคส่วนร่วมกันจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

การยกร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตรงกับข้อเรียกร้องของประชาชนทั่วไป และนักเรียน นิสิต นักศึกษา นับเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญยิ่งที่ต้องแก้ทันที โดยนายกฯต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจนในเรื่องการสร้างกรอบเวลาของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

Advertisement

เมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไขแล้วเสร็จเห็นควรยุบสภาทันที แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้กติกาใหม่ที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม หากยิ่งปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปนานเท่าใดการแก้ไขความขัดแย้งและปัญหาจะเป็นไปได้ยากทำให้ประเทศยิ่งเสียหาย โดยเสนอให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

2.การนิรโทษกรรม…ผลการศึกษาของคณะอนุ กมธ. และการให้ความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำทางการเมืองที่ได้เชิญมาร่วมให้ความเห็น ทุกฝ่ายล้วนผ่านเหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองมากมาย ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ถูกตัดสินคดีให้ติดคุก สูญเสียเวลาและทรัพย์สิน ทุกฝ่ายต่างต้องการให้ประเทศก้าวผ่านความขัดแย้งครั้งนี้ไปสู่การปรองดองทั้งสิ้น ดังนั้น การนิรโทษกรรมถือเป็นกระบวนการเร่งรัดให้นำไปสู่การปรองดองและสมานฉันท์ได้ โดยการนิรโทษกรรมควรมีหลักการดังนี้

2.1 นิรโทษกรรมเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง มีระยะเวลาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน

2.2 นิรโทษกรรมคดีการเมืองและคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ยกเว้นคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และคดีทุจริต

3.กระบวนการยุติธรรม…กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดประสิทธิภาพและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เป็นสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่นำมาสู่ความรุนแรง ผู้กระทำความผิดมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง การนำเอาหลักความยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) ที่มีมาตรการในเชิงลงโทษแต่เพียงอย่างเดียวมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ไม่สอดคล้องต่อปรัชญาในการลงโทษ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้

ควรนำเอาหลักวิชาการเกี่ยวกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาศึกษาและปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย โดยใช้หลักเมตตาธรรม ให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายตามวิถีทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดึงทุกฝ่ายออกมาร่วมกันแก้ไขปัญหา เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้สั่งสมจนทำให้เกิดความแตกแยกที่ร้าวลึกในสังคมไทยจนเกินกว่าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะแก้ไขปัญหาโดยลำพังได้ (รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร 2555)

4.การรักษาบรรยากาศของการปรองดอง สมานฉันท์…กมธ.ขอเสนอให้ รัฐบาล ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนและประชาชนควรร่วมกันรักษาบรรยากาศของการปรองดอง ทุกฝ่ายในสังคมจะต้องร่วมมือกันบริหารความขัดแย้งให้อยู่ในกรอบสันติวิธี เคารพความเห็นต่างและไม่ใช้ความรุนแรง การยุติการกระทำที่จะนำไปสู่การสร้างความขัดแย้ง จะทำให้สังคมไทยสามารถก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งไปสู่ความปรองดองอย่างยั่งยืน (รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), 2555)

5.ข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อ…จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความแตกแยก และทำให้ความขัดแย้งในสังคมยกระดับเป็นความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอข้อมูลและการใช้ภาษาที่มีการปลุกเร้าและกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) หรือการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) และปลุกระดมมวลชนให้ใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ ซึ่งสร้างความแตกแยกในสังคมไทยให้มีความร้าวลึกยิ่งขึ้น การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ บิดเบือน หรือไม่รอบด้าน ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของคนในสังคม

จึงมีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อบทบาทและการทำงานของสื่อบางส่วนที่ขาดจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคมดังกล่าว สื่อเลือกข้างยังขาดความระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลและมีส่วนในการกระตุ้นให้ความขัดแย้งขยายวงกว้าง และสื่อยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องทางการเมือง โดยเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามในลักษณะที่บิดเบือนความจริงมากกว่าที่จะทำหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพ

จึงขอเสนอแนะให้สื่อทุกแขนงปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจริยธรรมและหลักวิชาชีพ สื่อต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้านแก่ประชาชน โดยตรวจสอบข้อเท็จจริงที่หามาได้ก่อนนำเสนอ

สื่อต้องไม่นำเสนอข้อมูลและถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังหรือยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงต่อคู่ขัดแย้ง รวมทั้งไม่นำเสนอภาพความรุนแรงในลักษณะที่ชี้นำให้สังคมเห็นว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย (รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), 2555)

6.ข้อสังเกตด้านการเยียวยา…การชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่ายและคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความพร้อมต่อการปรองดองในชาติให้เกิดขึ้น

รัฐบาลต้องดำเนินการเยียวยาอย่างจริงจัง เป็นระบบ ทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยครอบคลุมความเสียหายในลักษณะต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และชดเชยให้กลับคืนสู่สภาพเดิมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

7.การแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษ…จากข้อเท็จจริงและรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน พรรคการเมือง ผู้นำในการชุมนุม หน่วยงานด้านความมั่นคง และสื่อมวลชน ควรพิจารณาทบทวนบทบาทและการกระทำของตนในสถานการณ์ดังกล่าว โดยให้ผู้นำทุกฝ่ายกล่าวขอโทษต่อสาธารณชน (Public Apology)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกฯ ที่บริหารประเทศขณะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง และนายกฯซึ่งบริหารประเทศอยู่ในปัจจุบัน ควรแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำรัฐบาลต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะต่อเหยื่อของความรุนแรง เนื่องจากรัฐมีความบกพร่องและขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองให้ดำเนินไปตามครรลองของสันติวิธี จนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และความรู้สึกของประชาชนอย่างมาก

รวมทั้งแสดงเจตจำนงที่จะประกันความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน โดยพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และช่วยรักษาบรรยากาศของการปรองดองในประเทศให้ดียิ่งขึ้น

จึงต้องให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าการยอมรับผิดชอบและการขอโทษเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นที่จะนำไปสู่ความปรองดองในชาติ ทั้งนี้ ไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านพ้นไปนานเพียงใดก็ตาม (รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), 2555)

8.ข้อสังเกตเกี่ยวกับกองทัพ…การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ โดยเฉพาะการรัฐประหาร ส่งผลให้สังคมไทยขาดโอกาสเรียนรู้ที่จะจัดการวิกฤตการณ์ทางการเมืองตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตย และสร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มคนที่เห็นว่าอำนาจอธิปไตย สิทธิ และผลประโยชน์ของตนถูกคุกคามจากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น กองทัพควรทำภารกิจภายใต้กฎหมาย งดเว้นการก่อการรัฐประหารหรือการแทรกแซงทางการเมืองอย่างเคร่งครัดไม่ว่าในทางใด เช่น การใช้อิทธิพลกดดันนโยบายของรัฐบาล การข่มขู่ว่าจะใช้กำลังหรือยึดอำนาจ เป็นต้น

นอกจากนี้ สังคมหรือกลุ่มการเมืองจะต้องไม่เรียกร้องหรือสนับสนุนให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง โดยทุกฝ่ายจะต้องยึดหลักที่ว่ากองทัพ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (Civilian Control) รัฐและกองทัพต้องสร้างทหารอาชีพที่มีความรู้ความสามารถในการป้องกันประเทศ ปลูกฝังจิตสำนึกให้ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตย โปร่งใส รับฟังความเห็นต่าง โดยไม่มองว่าการเห็นต่างจะส่งผลกระทบหรือเป็นข้อขัดแย้งต่อความมั่นคง

ทั้งนี้ ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของเหล่าทัพควรมีการกำหนดว่าจะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะไม่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร (รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), 2555)

9.ข้อสังเกตเกี่ยวกับการชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุม…จากสถานการณ์ในปัจจุบัน มีประชาชนส่วนมากที่แสดงออกเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม โดยเฉพาะการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ ที่เป็นเยาวชนของชาติ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิตและนักศึกษา ต้องเข้าใจตรงกันว่าเสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นสิทธิทางการเมืองที่ต้องได้รับการรับรองและคุ้มครองจากรัฐ

อย่างไรก็ตาม การใช้เสรีภาพของผู้ชุมนุมมิใช่ว่าจะกระทำได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด (Non-Absolute Right) แต่ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขของการชุมนุมว่าต้องกระทำโดยสงบและปราศจากอาวุธ รัฐต้องรับรองและประกันเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชน

นอกจากจะไม่กีดกันและแทรกแซงการใช้เสรีภาพดังกล่าวแล้ว ยังต้องคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ชุมนุมจากการก่อกวน แทรกแซง หรือประทุษร้ายจากบุคคลที่สามที่เป็นปฏิปักษ์หรือต่อต้านการชุมนุม (รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), 2555)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image