รายงานหน้า 2 มติชน : ‘สุชาติ ชมกลิ่น’โชว์กึ๋นขับเคลื่อน‘แรงงาน’

รายงานหน้า 2 มติชน : ‘สุชาติ ชมกลิ่น’โชว์กึ๋นขับเคลื่อน‘แรงงาน’

รายงานหน้า 2 มติชน : ‘สุชาติ ชมกลิ่น’โชว์กึ๋นขับเคลื่อน‘แรงงาน’

หมายเหตุ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางเข้ารับตำแหน่งที่กระทรวงวันแรก พร้อมมอบนโยบายต่อปลัดกระทรวง และข้าราชการระดับอธิบดีทุกกรม ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม


ผมและครอบครัวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง วันนี้ประเทศชาติเกิดวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เกิดปัญหาว่างงาน ซึ่งผมได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้เข้ามาแก้ปัญหาด้านแรงงาน

สถานการณ์โควิด-19 สิ่งแรกที่กระทบคือ สถานประกอบการต้องปิดกิจการเพื่อรักษาและป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาด ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกต้องเดินตามแนวทางนี้ วันนี้ไทยเป็นประเทศเดียวของโลกที่กลับมาเปิดกิจการ เปิดธุรกิจได้เกือบ 100% แต่ก็มีบ้างที่ยังได้รับผลกระทบอยู่โดยเฉพาะในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้

Advertisement

สำหรับนโยบายเร่งด่วนคือ การจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการแรงงานแห่งชาติ” ที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งผมจะเป็นประธาน และจะทำงานร่วมกับ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะข้าราชการระดับสูงทุกกรมต้องมาช่วยกัน บูรณาการทำงานเชิงรุกกันภายในหน่วยงานและภายนอกกระทรวง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)

“ถ้าทำอะไรต่างคนต่างทำ ปัญหาจะแก้ไขได้ไม่เร็ว ไม่เดินตามโรดแมปที่วางไว้ และทั้งนี้ต้องหารือร่วมกับ ครม.เศรษฐกิจ เพื่อทุกหน่วยช่วยกันทำงานในเชิงรุก พร้อมทั้งจะน้อมนำแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาเป็นแนวทางปฏิบัติงาน ทั้งนี้ จะมีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันทุกหน่วยงาน เช่น การจับคู่ (Matching) ระหว่างคนว่างงานกับการมีงานทำ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่จบใหม่ และคนว่างงานที่จะได้งานทำอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงคนไทยที่ยังว่างงานอยู่ ที่จำเป็นที่จะต้องทำในเรื่องของการอัพสกิล/รีสกิล เพื่อให้มีทักษะการทำงานที่สูงขึ้น ขณะที่ตลาดต่างประเทศต้องการคนทำงานช่างเชื่อม ซึ่งคนไทยมีทักษะในเรื่องนี้ดี รวมถึงการเสริมทักษะอาชีพและภาษาต่างประเทศด้วย ตลอดจนการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับแรงงานต่างด้าว ยกตัวอย่างที่มีข่าว จ.จันทบุรี ต้องการแรงงานจากประเทศกัมพูชาเข้ามาเก็บผลผลิตลำไย ก็เข้าใจกลุ่มชาวสวนที่ต้องการเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ถ้าเข้ามาแล้วก็ต้องมีการกักตัว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวนับหมื่นบาท ซึ่งอาจจะเป็นภาระของชาวสวน ดังนั้นเราอาจจะให้กลุ่มแรงงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เก็บมังคุดไปเก็บลำไยได้หรือไม่ อันนี้คือ เรื่องการแมชชิ่งงาน

Advertisement

“ส่วนที่มีการเรียกร้องว่าจะนำเข้าแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาตินับแสนคน ก็ต้องเรียนตรงๆ ว่าเรื่องนี้ต้องผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ศบค. ต้องฟังนโยบายด้วย และกระทรวงแรงงานจะเป็นฝ่ายสนับสนุน ซึ่งขณะนี้จะมีการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน คือ สระแก้ว หนองคาย ตาก ระนอง เพื่อเก็บข้อมูล เพราะรู้ว่ามีภาคก่อสร้าง เรือประมง ที่ต้องการแรงงานกลุ่มนี้ ผมได้ให้นโยบายปลัดกระทรวงว่า ต่อไปนี้ข้าราชการในส่วนภูมิภาคจะต้องออกเยี่ยมผู้ประกอบการ และผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้คำแนะนำ และให้ข้อมูลว่ากระทรวงแรงงานมีการช่วยเหลือด้านใดบ้าง เช่น การให้สินเชื่อผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีช่องทาง”

อีกเรื่องคือ เรื่องแรงงานภาคประมง และเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งต้องยอมรับว่านายกฯ และรองนายกฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมง โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยขึ้นมาอยู่ในระดับเทียร์ 1 ให้ได้

“ภาคประมง เวลาออกเรือ ต้องแจ้งจำนวนลูกเรือ เมื่อกลับเข้าฝั่งก็ต้องแจ้งจำนวน ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล แต่หากมีการค้ามนุษย์ เรือเหล่านี้จะมีการนำคนบนเรือไปถ่ายลงเรืออีกลำหนึ่ง โดยการบังคับ หรือทำผิดกฎหมาย ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องเข้าไปทำ เพื่อปรับขึ้นเป็นเทียร์ 1 ให้ได้ หากทำได้การเจรจาการค้าต่างๆ เราก็จะได้เปรียบ และเศรษฐกิจจะดีขึ้น”

อีกเรื่องที่จะทำก็คือ เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ผมได้กำชับไปยังปลัดกระทรวง และเลขาธิการประกันสังคมแล้วว่า ให้ตรวจสอบว่าช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 มีผู้ประกันตนลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาร้อยละ 62 จำนวนกี่คน วันนี้จ่ายไปแล้วเท่าไร วันนี้เหลืออีกเท่าไรที่ยังตกค้าง หากใครติดอะไรจะต้องชี้แจงไปให้หมด คาดว่ามีประมาณ 5-6 หมื่นคน อย่าให้คาราคาซัง อย่ารอให้เกิดว่ามีคนที่ไม่ได้เรียกร้อง อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ต้องบอกให้เขารู้ตัวว่าเขาไม่ได้เพราะอะไร เพราะการจ่ายเยียวยาเหมือนจ่ายง่าย แต่จริงๆ แล้วไม่ง่าย เพราะลูกจ้างหยุดงานเพราะคำสั่งปิดกิจการ นายจ้างต้องยืนยันว่าหยุดกิจการจริง แต่ที่ผ่านมา ตรวจพบว่าลูกจ้างไปร่วมกับเจ้าหน้าที่แผนกบุคคล แต่นายจ้างไม่รู้ด้วย แบบนี้รัฐเสียหาย เงินส่วนนี้เป็นของพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งนั้น เราเอาไปใช้แบบผิดๆ ถูกๆ ก็ไม่สบายใจ จึงต้องทำแบบช้าๆ เพื่อความถูกต้อง

เรื่องสุดท้าย ต้องส่งเสริมโดยทำข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับกรมอาชีวะ จะทำวิจัยว่าอาชีพที่ประเทศไทย หรือคนไทยต้องการมากๆ คืออะไร จบมาแบบไหน ได้เงินเดือนเท่าไร จบมามีงานทำแน่นอน ผมจะต้องเอาเรื่องนี้ไปหารือกับอาชีวะเพื่อเปิดการสอนให้ถูกต้อง แต่จะไปว่าหน่วยงานที่ทำก่อนหน้านี้ไม่ได้ เราจะต้องมีข้อมูลไปให้เขา เพื่อปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ และจะต้องส่งเสริมทักษะฝีมือแรงงาน ส่งเสริมการเรียนการใช้ภาษาต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ เพราะถ้ารู้ภาษาเมื่อไปทำงานจะได้ค่าจ้างสูง และเราจะต้องพัฒนาฐานข้อมูล (Big data) ทราบจากปลัดกระทรวงว่าขณะนี้ฐานข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ยังไม่เชื่อมโยงกัน เราจะต้องทำให้เชื่อมโยงกันและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ทำงานได้ง่ายขึ้น

“วันนี้กระทรวงแรงงานตั้งขึ้นมาเพื่อรับใช้พี่น้องประชาชนในภาคแรงงาน ผมเองก็ต้องมาเป็นหัวหน้าผู้รับใช้ประชาชน ผมไม่ได้มาเป็นเจ้านาย หรือหัวหน้าผู้ใช้แรงงาน ผมต้องทำงานให้สมกับที่เขาไว้วางใจ ทำงานให้กับนายกฯ และรองนายกฯ ได้กำชับหนักแน่น ให้ตั้งใจทำงาน เรื่องอะไรต่างๆ ขอให้ยึดถือระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกฎหมายเป็นหลัก ผมอยากทำอะไรเยอะแยะ แต่บางครั้งติดข้อกฎหมายทำไม่ได้ เพราะกระทบข้าราชการ ผมอยากทำ อยากช่วยเหลือ แต่ทำได้ตามกฎระเบียบ” ทั้งนี้ เชื่อว่าภายหลังจากการพูดคุยและกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันแล้ว เรื่องศูนย์อำนวยการแรงงานแห่งชาติ จะมีความชัดเจนภายใน 1-2 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2561-2565 ซึ่งมี 4-5 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน โดยในวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคมนี้ เวลา 14.00 น. จะมีการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวง

“ผมมาอยู่กระทรวงนี้ ผมไม่อยากเป็นเหมือนปลาตาย ผมเป็นปลาเป็นที่ต้องการว่ายทวนน้ำ ผมชอบทำเรื่องยากๆ และจะต้องทำให้ได้ ผมเชื่อมั่นในตนเองและข้าราชการ ที่จะพยายามแก้ไขปัญหาแรงงาน และจะพยายามทำให้ดีที่สุด เพราะผมเกิดมาจากครอบครัวกรรมกร เมื่อเติบโตก็ได้มีธุรกิจ จึงมีความเข้าใจความยากลำบากของคนงานและผู้ประกอบการ จึงคิดว่าจะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image