สหภาพ’กสท’-ทีโอที เมินบิ๊กตู่ เดินหน้าต้านยกเครื่ององค์กร

นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สหภาพฯ กสท และสหภาพฯ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หยุดเคลื่อนไหวการคัดค้านการแยกหน่วยธุรกิจไปตั้งบริษัทลูกร่วมกัน โดยจากประเด็นดังกล่าวขอชี้แจงว่าการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาไม่ได้เป็นการประท้วงแบบที่นายกรัฐมนตรีเข้าใจ แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การขอคำตอบว่าการนำทรัพย์สินที่เป็นธุรกิจหลักของทั้ง 2 บริษัทออกจากบริษัทแม่ เพื่อไปรวมกันและดำเนินการภายใต้บริษัทลูกเดียวกัน หากทำแล้วจะดีจริงหรือไม่ และทิศทางขององค์กรจะเดินไปอย่างไร ซึ่งที่ผ่านก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แต่อย่างใด รวมทั้งที่ผ่านมามีการจัดเวทีปราศรัย หรือไฮด์ปาร์ก ก็ไม่ได้เป็นการต่อต้านอย่างชัดเจนแต่เป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงให้พนักงานฟัง หลังจากนี้ทางสหภาพฯ กสท ก็จะขอดำเนินกิจกรรมต่างๆ และจัดไฮด์ปาร์กชี้แจงข้อเท็จจริงกับพนักงานอย่างต่อเนื่องต่อไป

“อยากให้เข้าใจว่าการที่เราทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ใช่ไม่รักชาติ พวกเราเองก็รักชาติไม่ต่างจากทหาร แต่ที่ทำไปก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติ เพราะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สมบัติของชาติด้วยเช่นกัน” นายสังวรณ์กล่าว

นายสังวรณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงไอซีทีเองยังไม่ยินยอมที่จะรับฟังความเห็นเรื่องตั้งบริษัทลูกจาก กสท ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ในการประชุมคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหา กสท และทีโอที ที่มีนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงไอซีที เป็นประธาน ได้มีการเชิญกรรมการผู้จัดการใหญ่ของทั้ง กสท และทีโอที ไปร่วมประชุมด้วย โดยทางผู้บริหารของ กสท ในสายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากก็ได้เตรียมข้อมูลไปชี้แจงเรื่องการตั้งบริษัทลูก พร้อมข้อซักถามในประเด็นต่างๆ แต่ท้ายที่สุดก็ถูกเชิญให้ออกจากห้องประชุม เพื่อให้เหลือตัวแทนเพียง 2 คน ซึ่งตัวแทนที่เหลืออยู่ดังกล่าวก็ห้ามให้ชี้แจงหรือซักถามใดๆ ทั้งสิ้น โดยทางคณะทำงานให้เหตุผลว่าให้มารับฟังมติไม่ได้ให้มาชี้แจงหรือซักถาม

นายสังวรณ์กล่าวว่า สำหรับประเด็นหลักๆ ของการจัดตั้งบริษัทลูก ที่ทางสหภาพฯติดใจคือ การปรับโครงสร้างครั้งนี้ยังไม่ตอบโจทย์หลัก ของการที่รัฐบาลที่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจสามารถแข่งกับเอกชนได้ ซึ่งที่ผ่านมามักติดปัญหาเรื่องความคล่องตัว เช่น การจะของบลงทุนกว่าจะใช้ได้ต้องทำแผนเสนอกรรมการบริหาร (บอร์ด) กระทรวงไอซีที สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนทำให้การดำเนินงานแต่ละอย่างล่าช้า ภาพลักษณ์แย่ ทั้งที่มีทรัพย์ในมือเยอะ ประกอบกับที่ผ่านมาการทำงานก็ยังถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมืองมากเกินจนทำให้บริษัทเดินหน้าได้ยาก จากการที่ฝ่ายการเมืองส่งบุคคลไม่มีความเป็นมืออาชีพ หรือไม่มีความรู้ในด้านโทรคมนาคมโดยตรงมาเป็นบอร์ด การจะจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ก็เป็นในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง รวมทั้งต้องจ่ายแพง ฉะนั้นอย่างน้อยๆ ที่ทางสหภาพฯต้องการ คืออยากให้อยากให้รัฐบาลรอให้ พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. … (บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ) ที่ กสท เป็น 1 ใน 12 รัฐวิสาหกิจใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ออกมาเสียก่อน เพื่อดูว่าการทำงานคล่องตัวขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังติดใจในประเด็นที่หากแยกบริษัทลูกที่เอาทรัพย์สินหลักของ กสท ออกไป โดยเฉพาะสายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ (เคเบิลซับมารีน) ที่ กสท มีถึง 6 เส้นทางครอบคลุมทั่วโลก หรือมากที่สุดในประเทศ ซึ่งเอกชนรายใหญ่ๆ ยังคงต้องเช่าใช้บริการดังกล่าว แต่หากบริษัทลูกไปไม่รอด ก็มีแนวโน้มว่าอาจเป็นการเปิดช่องให้เอกชนเข้าฮุบทรัพย์สินดังกล่าว เพราะเชื่อได้ว่ามีเอกชนหลายรายต้องการครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว

Advertisement

ด้านนายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีออกมาขู่เรื่องการเคลื่อนไหวของสหภาพฯ โดยทางสหภาพฯทีโอทียังคงขอยืนยันในการเดินหน้าทำกิจกรรมเรื่องการค้านตั้งบริษัทลูกต่อไป เนื่องจากเห็นว่าการเอาทรัพย์สินที่เป็นธุรกิจหลักของทีโอทีออกไปอยู่กับบริษัทลูกที่จะตั้งขึ้นใหม่จะทำให้ทีโอทีที่เป็นบริษัทแม่หมดความสำคัญลง และไม่มีเหตุผลให้มีอยู่อีกต่อไป ประกอบกับบริษัทลูกที่ร่วมกับ กสท และตั้งขึ้นใหม่ จะไม่ได้รับการสานต่อนโยบายใดจากบริษัทแม่ จึงส่งผลให้ทางทีโอทีที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินเดิมจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ กลับมา

นายพงศ์ฐิติกล่าวอีกว่า ในช่วงเวลานี้ พนักงานทีโอทีจำนวนมากกำลังสับสนเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงานต่างๆ เพราะก่อนหน้านี้ทาง นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ก็มาบอกกับพนักงานว่า ทีโอทีไม่มีเงินแล้ว และจากนั้นรัฐบาลก็มาบอกให้เราปฏิรูปโดยการแยกไปตั้งบริษัทลูก สิ่งเหล่านี้จึงจำเป็นต้องชี้แจงให้พนักงานเข้าใจ ทั้งนี้ทางสหภาพฯ ทีโอทีมีกำหนดประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินกิจกรรมในวันที่ 10 สิงหาคม รวมถึงการล่ารายชื่อเสนอต่อกระทรวงไอซีที

นายพงศ์ฐิติกล่าวว่า ทางสหภาพฯเข้าใจว่าทางนายกรัฐมนตรีและทางรัฐบาลมีความปรารถนาดีต่อทีโอที แต่ทางสหภาพฯมองว่าการแก้ไขปัญหาขาดทุนของของทีโอทีไม่ควรอยู่ที่การปรับโครงสร้างการบริหารงาน เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด แต่ควรอยู่ที่ตัวทรัพยากรบุคคลมากกว่า เพราะปัญหาใหญ่ของทีโอทีคือผู้บริหารไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่มีทิศทางการดำเนินธุรกิจขององค์กรที่ชัดเจน บริหารงานขาดทุน ทำให้รายได้จริงมาจากพนักงานระดับล่างเท่านั้น เช่น ในปี 2559 มีการประเมินออกมาแล้วว่าทีโอทีอาจขาดทุนสูงถึง 5,000 ล้านบาท หรือจนถึงขณะนี้ผ่านมาแล้วเกือบปีทีโอทียังไม่สามารถลงนามความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ที่จะช่วยให้ทีโอทีมีรายได้จำนวนมากเข้ามาในบริษัทได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมา สหภาพฯ ทีโอทีได้มีการยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาเหล่านี้มาแล้วหลายครั้งตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบใดๆ กลับมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image