เปิดหน้า-แบไต๋ โค้งสุดท้าย ระทึก รธน.มีชัย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. แถลงจุดยืนเกี่ยวกับการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เมื่อสัปดาห์ก่อน

ประเด็นที่ 1 การกำหนดทิศทางของประเทศ อาศัยหลักการประชาธิปไตย คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น

แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่สอดคล้อง มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพน้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี཮

ประเด็นที่ 2 ความขัดแย้ง ต้องแก้ด้วยกระบวนการการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่แค่เลือกตั้งใช้เสียงข้างมาก แต่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม

Advertisement

แต่กลไกของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกกันเองในบทถาวร และแต่งตั้งในบทเฉพาะกาล ไม่ได้มาจากประชาชน จึงไม่สามารถแก้ปัญหาขัดแย้ง มีแต่จะสร้างคู่ขัดแย้งใหม่

ประเด็นที่ 3 การแก้ไขปัญหาการทุจริต เป็นจุดเด่นของรัฐธรรมนูญนี้ ขอสนับสนุนหลายมาตรา ซึ่งจะมีการเพิ่มโทษอย่างไรก็แล้วแต่ การจับการทุจริตต้องเริ่มต้นจากบรรยากาศที่เปิด ประชาชนสามารถตรวจสอบเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเต็มที่

แต่รัฐธรรมนูญนี้ถอดกระบวนการถอดถอนออก โดยพึ่งกลไกหลัก คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับทำให้ 2 องค์กรนี้อ่อนแอลง เพราะคนทำผิดสามารถอุทธรณ์ได้ง่าย

Advertisement

“ขอย้ำว่า เกณฑ์การพิจารณาไม่มีประเด็นใดเลยที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง และการเมือง แต่ที่ไม่รับเพราะเห็นว่าร่างนี้ไม่ตอบโจทย์ของประเทศ ไม่เป็นกติกาที่เอื้อให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากปัญหาเดิมๆ ได้

ถ้า 7 สิงหาคม ร่างไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น ผมเรียกร้องเรื่องนี้มายาวนาน แต่ไม่ได้คำตอบชัดเจน จึงต้องตอบคำถามวันนี้ให้ชัดว่า ผมไม่สามารถรับร่างนี้ได้ เพราะผมกลัวที่จะได้สิ่งที่แย่กว่า”

จบถ้อยแถลงของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พลพรรคประชาธิปัตย์ในเขตกรุงเทพมหานครออกมาขานรับ

ขณะเดียวกัน นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคก็ออกมาสนับสนุน

กลายเป็นว่า แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่โน้มเอียงไปทางไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

กลายเป็นว่า กลุ่มพลังทางการเมืองที่มีบทบาทในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันได้แสดงจุดยืน

“เปิดหน้า แบไต๋” กันเป็นที่เรียบร้อย

 

นายอภิสิทธิ์ใช้สิทธิส่วนตัวบอกว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยยกคณะทั้งชุดประกาศออกมาว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

นปช.ประกาศออกมาว่าไม่รับ ขณะที่ กปปส.ประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญ

บัดนี้จึงเหลือเพียงประชาชน ซึ่ง กกต.ตั้งเป้าว่าจะให้ออกมาใช้สิทธิโหวตประชามติประมาณ 80%

ประชาชนเหล่านั้น จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยประกาศล่าสุด พบว่ามีประมาณ 50 ล้านคน

ในจำนวน 50 ล้านคนนี้แบ่งเป็น ผู้มีสิทธิในพื้นที่ภาคเหนือ 9 ล้านคน

ผู้มีสิทธิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 ล้านคน

ผู้มีสิทธิในพื้นที่ภาคกลาง 12 ล้านคน

ผู้มีสิทธิในพื้นที่ภาคใต้ 6 ล้านคน

และผู้มีสิทธิในพื้นที่กรุงเทพฯ 4 ล้านคน

ขณะเดียวกัน การประชาสัมพันธ์ของ กกต.เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิได้ดำเนินการไปเต็มสูบ

ใช้ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่ออินเตอร์เน็ตออนไลน์

และสื่อบุคคล ทั้งครู ก. ครู ข. และครู ค.

เช่นเดียวกับ คสช.ที่ออกแรงใช้กระทรวงกลาโหม ผนวกกับกระทรวงอื่นๆ ช่วยกันรณรงค์ทั่วประเทศ

พร้อมกันนั้นยังเฝ้าติดตามกลุ่มที่มีความเห็นต่าง พยายามต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ

พบใครกลุ่มใดน่าสงสัยก็จะใช้กฎหมายเข้าควบคุม

สัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เน้นหนักที่ จ.เชียงใหม่ มีการตรวจค้นบริษัทและควบคุมตัวนางทัศนีย์ บูรณุปกรณ์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 พักงาน นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

กระทั่งมีการควบคุมตัว เนื่องจากสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับเอกสารเห็นต่างที่โจมตีร่างรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่าที่ผ่านมา แม่น้ำ 5 สายได้ผลักดันร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่

 

เมื่อกลุ่มพลังการเมืองแสดงจุดยืน โดยมีแนวโน้มไปในทิศทางไม่เป็นคุณต่อร่างรัฐธรรมนูญ

คำถามที่ดังกระหึ่มขึ้นมาก็คือ หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านจะเป็นเช่นไรต่อไป

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า หากไม่ผ่านก็ไม่เป็นไร ต้องเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่

ทำให้เสร็จและได้ประกาศใช้เพื่อให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งในปี 2561

ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการเลือกตั้งในกำหนดโรดแมป เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายยอมรับ

แต่สิ่งที่น่าติดตามคือ หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปไม่ถึงฝัน

ใครจะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?

กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใยเสนอว่า ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ควรมีกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากฉันทามติ ผ่านกลไกที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการและกำหนดหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยเป็นไปตามกรอบเวลาตามโรดแมป

นายอภิสิทธิ์เสนอว่า ให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบบ้านเมือง โดยให้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นหลัก

หรือจะใช้วิธีแบบเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยดำเนินการมา

 

ในขณะนี้ยังเป็นห้วงเวลาโค้งสุดท้ายก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และประชามติคำถามพ่วง ซึ่งทุกอย่างที่ปรากฏยังเป็นเพียงกระแส

รับหรือไม่รับ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

แต่ทุกอย่างจะปรากฏเป็นจริงขึ้นมาก็ต่อเมื่อ การประชามติวันที่ 7 สิงหาคมผ่านพ้นไป

ผลของประชามติจะออกมาเช่นไร ขึ้นอยู่กับเสียงจากประชาชน 50 ล้านคนผู้มีสิทธิ

ดังนั้น ณ วันนี้สถานการณ์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ในสถานะ “ต้องลุ้น”

ร่างรัฐธรรมนูญจึงยังระทึก

ระทึกไปจนกว่าจะถึงวันนั้น วันที่ 7 สิงหาคม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image