สถานีคิดเลขที่ 12 : ทำไมควรฟัง‘เด็ก’ : โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 ทำไมควรฟัง‘เด็ก’ โดย ปราปต์ บุนปาน

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างในทางเนื้อหาอย่างไรก็ตาม เสียงของ “คนรุ่นใหม่” ที่กำลังออกมาชุมนุมทางการเมือง นับเป็น “เสียง” ที่สังคมสมควรรับฟัง

ในฐานะที่พวกเขาถือเป็นขบวนการทางการเมืองกลุ่มสำคัญที่สุด หลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งสามารถรวบรวมผู้คนหน้าใหม่ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะเยาวชนระดับมัธยมศึกษา

ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพิ่งให้สัมภาษณ์กับมติชนทีวีในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ภายหลังได้ตระเวนพูดคุย-เก็บข้อมูลจากนักเรียนชั้นมัธยมจำนวนมากที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับม็อบต่างๆ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

ดังรายละเอียดบางส่วนต่อไปนี้

Advertisement

“อย่างแรกเลยนะคะ ที่ดิฉันคิดว่าเซอร์ไพรส์ เกือบทุกคนพูดคำเดียวว่า มาเพื่ออนาคตตัวเอง คือดิฉันรู้สึกว่า แน่นอนว่าผู้ใหญ่อาจจะรู้สึกว่ากลับไปอยู่บ้านเถอะ เดี๋ยวเราดูแลอนาคตของท่านเอง … ดิฉันสัมภาษณ์เด็กทุกคน เด็กทุกคนพูดไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง ดิฉันจดไม่ไหว ถึงเรื่องที่เขาอึดอัดที่จะมีผลต่ออนาคตของเขา

“เด็กทุกคนทำงาน คือดิฉันรู้เลยว่าเด็กส่วนใหญ่อ่าน ทั้งในทวิตเตอร์ อ่านหนังสือ ตามข่าวการเมือง พูดคุย จัดกลุ่มพูดคุย บางที่ (จังหวัด) ชมรมที่เป็นชมรมเด็กเรียนเก่งในโรงเรียนเป็นชมรมอ่านหนังสือจำนวนมาก ที่เราอาจไม่อยากจะเชื่อว่าเด็กอ่าน คือเด็กพวกนี้พยายามที่จะหาคำตอบว่าอะไรคือทางออก ในการที่เขาจะทำให้อนาคตของเขามันดีขึ้นกว่านี้

“การทำงานของรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มันต้องยอมรับจริงๆ ว่ามันได้ลดทอนความมั่นใจของคนรุ่นใหม่ … เพราะฉะนั้นการที่เด็กมัธยมเขาลุกกันขึ้นมา แน่นอนว่าทวิตเตอร์มีผลต่อเขา บทบาทของสื่อแบบใหม่มีผลต่อเขา แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือความชอบธรรมของรัฐบาลที่มันตกต่ำลงมาก

Advertisement

“และเป็นรัฐบาลที่ไม่มีความเข้าใจต่อคนรุ่นนี้เลย … คือดิฉันอยากจริงๆ อยากจะให้คนที่เป็นผู้นำประเทศ คนที่เป็นผู้มีอำนาจ เข้าใจเขา เข้าใจเขาไม่ได้เข้าใจเพื่อเพียงให้เขาได้พูด แต่เข้าใจว่าสิ่งที่เป็นปัญหาของเขา มันอยู่ในระบบที่ท่านอยู่อย่างไร นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันจะไม่สามารถคุยกันได้เลย

“หลายคนถามว่าการตั้งคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นเด็กขึ้นมา จะทำอย่างไรที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำอย่างไรจะคุยกันได้ ดิฉันคิดว่าเริ่มต้นมันต้องไม่ปฏิบัติกับเขาเหมือนเขาเป็นเด็ก

“จริงๆ นะคะ ดิฉันต้องบอกเลยว่าหลังจากที่ดิฉันคุยกับเด็กมาเกือบร้อยคนในช่วง 6-7 เดือน เขาไม่ใช่เด็ก เขาเป็นคนที่มีอายุน้อย แต่สปีดของเทคโนโลยี ข่าวสารข้อมูล มันทำให้เขามีวุฒิภาวะเติบโตทางการเมือง ไม่ได้แตกต่างจากพวกเราเท่าไหร่

“เราลองถามตัวเราเองสิว่าเราอ่านหนังสือพิมพ์หรือเปล่า? เราติดตามข่าวสารบ้านเมืองมากน้อยแค่ไหน? เด็กเหล่านี้เล่นทวิตเตอร์ทุกวัน วันละหลายชั่วโมง อ่านหนังสือเพิ่มเติม จัดกลุ่มพูดคุยทางการเมือง คุณคิดว่าเขาเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ไหน?”

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image