“สุชาติ” โต้เตะฝุ่น 8 ล้านคนไร้อ้างอิง เร่งแพลตฟอร์มสร้างงาน 4 แสนคน

สุชาติ มีชมกลิ่น

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีกลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้านในสภา จัดเสวนาความเดือดร้อนแรงงานในและนอกระบบจากวิกฤตโควิด-19 ว่า ต้องขอขอบคุณฝ่ายค้าน ที่เสนอข้อมูล ทั้งนี้ ปัญหาคนว่างงาน เป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความห่วงใยอย่างมากและเร่งรัดแก้ไข

“ที่มีการระบุว่ามีคนตกงานมากถึง 8 ล้านคนนั้น ตัวเลขดังกล่าวไม่มีหลักฐานอ้างอิง จากข้อมูลแรงงานที่อยู่ในระบบผู้ประกันตนตามมาตรา 33-39-40 มีประมาณ 16.3 ล้านคน ช่วงโควิด-19 ผู้ที่ประกันตนในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ชดเชยเงินการว่างงาน 714,268 คน วงเงิน 17,224 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีมาตรการช่วยผู้ประกอบการต่างๆ ที่ปิดชั่วคราวก่อนหน้านี้ ทาง สปส.ก็จ่ายชดเชย 62% จำนวน 90 วัน รวมกว่า 9 แสนคน ขณะนี้สถานประกอบการต่างๆ กลับมาเปิดกิจการได้เป็นปกติเกือบครบถ้วนแล้ว” นายสุชาติกล่าว

นายสุชาติ กล่าวว่า ที่ฝ่ายค้านระบุว่ารัฐบาลดูแลผู้ใช้แรงงานไม่ทั่วถึง และขาดมาตรการช่วยหางานใหม่ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ อาทิ โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการจ้างงานของรัฐที่มีการจ้างแล้ว 209,930 คน จากเป้าหมาย 410,415 คน ส่วนกระทรวงแรงงานเตรียมใช้งบประมาณปี 2564 ดำเนินโครงการจ้างงาน 30,000 อัตรา และที่ผ่านมาร่วมมือกับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้ผู้ประกอบการวงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อรักษาผู้ใช้แรงงานให้คงมีงานทำ โดยตนจะเข้าไปเร่งรัดปล่อยสินเชื่อให้รวดเร็วขึ้น จากที่ผ่านมาอนุมัติ 63 ราย วงเงิน 387 ล้านบาท รักษาการจ้างงานได้ 8,158 คน

นายสุชาติกล่าวว่า นอกจากนี้ จะผลักดันศูนย์การงานแห่งชาติ เพื่อจัดหาตลาดงาน และจับคู่ตำแหน่งต่างๆ ที่เหมาะสม โดยสั่งการให้หน่วยงานจัดหางานทุกจังหวัดดำเนินภารกิจนี้อย่างเร่งด่วน รวมทั้งผลักดันแพลตฟอร์ม ไทยมีงานทําŽ เพื่อรองรับแรงงาน 400,000 ตำแหน่ง คาดว่าจะเปิดให้บริหารสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

Advertisement

นายสุชาติ กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาการว่างงานเร่งด่วน ขณะนี้กรมการจัดหางาน (กกจ.) เตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับได้แล้ว 91,444 อัตรา แบ่งเป็น 1.ตลาดต่างประเทศ จะส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 49,077 อัตรา ทั้งไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาลาเซีย สิงคโปร์ และอิสราเอล และ 2.ตำแหน่งงานในประเทศ ทั้งงานประจำและงานพาร์ตไทม์ รวมทั้งตำแหน่งงานว่างในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จำนวน 42,367 อัตรา

นายสุชาติกล่าวว่า จากสถิติคนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ผ่านด่านตรวจคนหางานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมการจัดหางาน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 มีถึง 2,394 คน เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า จากเดือนมิถุนายนที่มี 585 คน เดือนพฤษภาคม 243 คน เดือนเมษายน 557 คน และเดือนมีนาคม 3,737 คน

“ประเทศต่างๆ เริ่มกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ แรงงานไทยเป็นลำดับแรกๆ ที่ต่างประเทศต้องการและติดต่อเข้ามา เนื่องจากแรงงานไทยมีวินัยและมีทักษะฝีมือดี ประกอบกับประเทศไทยจัดการโรคโควิด-19 ได้ดี ทำให้โอกาสของแรงงานไทยในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจะใช้โอกาสนี้เพิ่มช่องทางให้แรงงานไทยมีตลาดงานในต่างประเทศมากขึ้น” นายสุชาติกล่าว และว่า 7 เดือนแรกปี 2563 แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศมีรายได้เข้าประเทศ 73,434 ล้านบาท

Advertisement

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดี กกจ. กล่าวว่า แผนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศช่วงหลังโควิด-19 ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน 2563 ตั้งเป้าไว้ที่ 52,253 คน คาดว่าจะส่งไปยังภูมิภาคเอเซีย เช่น ไต้หวัน 20,120 คน ญี่ปุ่น 3,818 คน เกาหลีใต้ 6,421 คน มาเลเซีย 2,448 คน สิงคโปร์ 2,934 คน ภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ อิสราเอล 2,840 คน ส่วนแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในต่างประเทศนั้น จากข้อมูลของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ณ เดือนกรกฎาคม 2563 มีจำนวน 121,922 คน อยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียและเอเชียใต้ 91,541 คน มากสุด คือ ไต้หวัน 59,375 คน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 24,312 คน มากสุด คืออิสราเอล 21,916 คน กลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา และอื่นๆ 5,720 คน มากที่สุดคือ ฮังการี 693 คน และกลุ่มประเทศแอฟริกา 349 คน มากที่สุด คือแอฟริกาใต้ 115 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image