บทนำ : เงื่อนไขม็อบ

การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน “จุดติด” ไปแล้ว เป็นโจทย์ยากสำหรับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกลไกรัฐ ซึ่งคุ้นชินกับการใช้อำนาจทางกฎหมาย ทั้งกฎหมายปกติและพิเศษ เข้าจัดการปัญหาทางการเมืองตลอดช่วง 6 ปี จาก 2557 หลังรัฐประหาร มาจนถึงเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค.2562 น่าคิดว่า ในครั้งนี้ รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร

การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ส.ค. มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก แน่นถนนราชดำเนิน บริเวณรอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และตอกย้ำข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชน-ประชาชนปลดแอก สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ประกาศไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 18 ก.ค. ที่ว่า 1.รัฐบาลต้องประกาศยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทางผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบกลับภายใน 2 สัปดาห์ นับจาก 18 ก.ค. หากนิ่งเฉย จะกลับมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกครั้ง

แถลงการณ์ของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวกล่าวถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่จะต้องเร่งแก้ไข เพราะเอื้อต่อการสืบทอดอํานาจของรัฐบาลเผด็จการ ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน ผู้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติถูกคุกคามและยัดข้อหากันไปหลายคน เนื้อหาเป็นไปเพื่อรักษาระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็น – ส.ว. 250 เสียงยกมือโหวตให้หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี – กลไกต่างๆ ในบ้านเมืองถูกใช้เป็นเครื่องมือกําจัดประชาชนและนักการเมืองที่เห็นต่าง, ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมและบัตรใบเดียวบิดเบือนเจตจํานงของประชาชน ทำให้เกิดงูเห่า ฯลฯ

การจัดการปัญหาในรอบนี้ หากใช้อำนาจทางกฎหมายกวาดจับ ดำเนินคดีแบบเดิมๆ หรือใช้วิธีจัดม็อบชนม็อบ โจมตีเพื่อปลุกกระแสผู้สนับสนุนรัฐประหารมาต่อสู้อย่างที่เคยทำมา จะยิ่งเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตศรัทธา ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปมากแล้ว หนทางเดียว หากต้องการความสงบสุขคือ แก้ด้วยการเมือง ได้แก่ รับฟังและเจรจา และต้องพิจารณาว่าเงื่อนไขและมูลเหตุของการประท้วงคือความไม่เป็นประชาธิปไตย ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 จึงต้องเร่งดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญ หรือยกร่างใหม่ และไม่มีเวลาสำหรับการเตะถ่วง เพราะสถานการณ์นี้ดำเนินมา 6 ปีแล้ว มีความสุกงอมและต้องการความเปลี่ยนแปลง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image