คนตกสี : แด่คันธนูผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน : โดย กล้า สมุทวณิช

เคยมีผู้กล่าวไว้ว่าสำหรับคนที่มุ่งหวังตั้งใจและเฝ้ารอ ช่วงเวลานับแต่ลืมตาขึ้นจนถึงสองขวบ คือช่วงที่ลูกน้อยนั้นเป็นประดุจของขวัญอย่างแท้จริง เหมือนนางฟ้าหรือเทวดาตัวน้อยที่ประทานความสุขให้แก่พ่อแม่

เมื่อตัดความเหนื่อยยากในช่วงสองสามเดือนแรกแห่งการปรับตัวไปแล้ว น่าจะเห็นตรงกันว่าประโยคข้างต้นนี้มีส่วนจริงอยู่มาก เพราะทารกถึงเด็กเล็กในวัยเพิ่งหัดพูดหัดเดินนั้นแทบไม่มีความขัดแย้งอะไรกับเราผู้เป็นพ่อแม่เลย เว้นแต่เรื่องกินยากเลี้ยงยากหรือป่วยไข้ซึ่งเป็นเรื่องเหนื่อยกาย แต่ก็ไม่ถือเป็นเรื่องหนักใจ

จะเริ่มมารู้สึกเอาบ้างก็ในช่วงสองขวบที่เด็กเริ่มมีความคิดและก่อรูปพฤติกรรมเฉพาะตัวของเขาแล้ว เมื่อนั้นเองที่เขาจะเริ่มดื้อ เริ่มเถียง หรือพูดไม่ฟัง ซึ่งเอาเข้าจริงหมายถึงการฟังแต่ไม่เชื่อ

แต่ถึงอย่างนั้น ในวัยไม่เกิน 6 ขวบ เด็กๆ ก็ยังเห็นพ่อแม่คือคนที่หล่อที่สวยและเก่งที่สุด เป็นผู้กล้า นางฟ้า คือโลกทั้งใบของเขา คำพูดของพ่อแม่เป็นความจริงเสมอ สัญญาของเราคือเรื่องใหญ่โตและสำคัญ และนิทานของพ่อแม่ก็ยังสนุกไม่รู้เบื่อ เขาจะเรียกร้องให้เราเล่านิทานเรื่องเดิมหรืออ่านหนังสือเล่มเก่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า หัวเราะชอบใจกับมุขเก่าตอนเดิมที่กระต่ายวิ่งตาลีตาเหลือกไปพบเจ้าเต่ารออยู่ที่เส้นชัย ยิ้มได้ในตอนจบของนิทานทรัพย์ในดินเมื่อลูกๆ ที่ลงแรงขุดผืนดินมรดกจนปรุ เพื่อได้รู้ว่าสมบัติที่พ่อทิ้งเอาไว้คือไร่นาอันอุดม

Advertisement

กระทั่งวัย 7 ถึง 10 ขวบ ที่เขาจะได้เป็นสมาชิกในสังคมที่ใหญ่กว่าครอบครัว เข้าสู่ระบบโรงเรียนและเพื่อน ในตอนนั้นพวกเขาจะมีเรื่องอื่นที่สนุกตื่นเต้นกว่า เริ่มจะยอมรับ รักและเชื่อถือคนอื่นมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะอย่างไรพ่อแม่ก็ยังมีความสำคัญที่สุดอยู่ดี

จนถึงวัยรุ่นนั่นแหละที่ความสำคัญของพ่อแม่จะเหือดหายลดลงไปจนแทบหมดสิ้น ตามแต่ต้นทุนก่อนหน้าที่พ่อแม่แต่ละคนนั้นได้สั่งสมไว้ในความเชื่อถือของลูกไม่เท่ากัน พ่อแม่บางคนที่ประคองความสัมพันธ์ได้ดีอาจจะได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นเพื่อนสนิทหรือที่ปรึกษาคนสำคัญของเขา แต่ส่วนใหญ่แค่ยอมฟังยอมเชื่อเราบ้างก็เป็นบุญโข ส่วนกรณีที่ลูกเห็นเราเป็นไม้เบื่อไม้เมาฝั่งตรงข้ามนั้นก็มาก การถูกลูกพูดใส่ว่าเกลียดน้ำหน้าพ่อแม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกหรือเสียใจรุนแรงอะไร

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร พ่อแม่ก็ต้องกลายเป็นคนอื่นไปอย่างแน่แท้ในตอนที่เขาเติบกล้าเป็นหนุ่มสาวที่เชื่อมั่นในตัวเอง นี่เป็นเรื่องธรรมดาตามธรรมชาติในวัยที่สิ่งมีชีวิตนั้นเข้าสู่สภาวะโตเต็มวัย

Advertisement

ช่วงเวลารอยต่อในช่วงวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่นี้ช่างน่ากระอักกระอ่วน เขาจะไม่สนุกกับหนังสือเล่มเดิม และเริ่มตั้งคำถามกับเรื่องเล่าเรื่องเก่าที่แต่ก่อนก็เคยสนุกชอบใจ เขาอาจจะถามคุณว่า มันเป็นไปได้จริงหรือที่เจ้ากระต่ายจะนอนยาวจนเต่าที่เดินด้วยความเชื่องช้าแซงไปเข้าเส้นชัยได้ และถ้าก่อนหน้านั้นกระต่ายตื่นขึ้นมาแล้ววิ่งแซงไปล่ะ จะมีไหมกระต่ายที่ไม่หลบไปนอน หรือคำสอนตอนจบว่าชัยชนะของเจ้าเต่ามาจากความเพียรนั้นจริงๆ มันประกอบด้วยโชคมากกว่า

หรืออาจจะถามว่าทำไมบิดาผู้ล่วงลับในนิทานทรัพย์ในดินจึงต้องใช้วิธีหลอกลวงลูกๆ ว่ามีสมบัติล้ำค่าซ่อนอยู่ใต้ผืนดินของไร่นา แทนที่จะบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าที่ดินนั้นอุดมสมบูรณ์เพียงใด และควรปลูกพืชชนิดไหนในฤดูกาลใด

ยิ่งถ้าพวกเขาได้เข้าถึงหนังสือที่คุณไม่ได้เป็นคนซื้อ ข้อมูลและสื่อดิจิทัลออนไลน์ที่คุณไม่ได้เลือกให้ คำถามและความคิดของเขาจะเป็นเรื่องที่คุณก็จะไม่เข้าใจและตอบไม่ได้ และมีใครสักคน อาจจะเพื่อนฝูง ครูอาจารย์ หรือบุคคลสาธารณะที่เขาเลือกจะฟังและเชื่อถือกว่าเราผู้เป็นพ่อแม่ นี่เป็นวิถีปกติที่ผู้มีลูกสู่วัยนี้จะต้องเผชิญ

สิ่งที่เข้าท่ากว่าการตัดพ้อว่าคนแปลกหน้าที่คุณไม่รู้จักนี้เป็นใครสำคัญอย่างไรหรือ ลูกจึงไปเชื่อเขามากกว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงดูส่งเสียมา แต่คำถามสำคัญกว่าก็คือก่อนหน้านี้ คุณได้ฟังพวกเขาเพียงพอหรือยัง และได้พูดกับเขาด้วยเหตุผลที่แข็งแรงโน้มน้าวความคิดความรู้สึกได้มากกว่าคนแปลกหน้าที่คุณเอ่ยนามอย่างเจ็บช้ำน้ำใจหรือไม่ ถ้าคุณไม่รู้ว่าหนังสือเล่มล่าสุดที่เขาอ่าน คลิปก่อนหน้าที่เขาดูเขาฟังคืออะไรโดยใครแล้ว ก็อย่าได้เที่ยวโทษเที่ยวป้ายร้ายใส่ใครเลย

และเมื่อไรที่ลูกสามารถยอกย้อนจนคุณไม่อาจหาเหตุผลที่แม้แต่คุณเองก็รู้สึกว่าเข้าท่ามาโต้เถียงได้ นั่นควรยินดีกว่าหรือไม่ที่ลูกหลานสามารถเข้าไปอยู่ในจุดที่คุณเองก็เข้าไปไม่ถึง คิดไปไม่ได้ หาคำตอบไม่เจอ

อย่าสิ้นไร้ไม้ตอกถึงขนาดถือเอาว่าการที่ตัวเองเลี้ยงดูส่งเสียลูกด้วยเงินทองเป็นเหตุผลอันสมบูรณ์แล้วที่พวกเขาจะต้องเชื่อฟังคุณเลย เพราะมันดูถูกสติปัญญาและความสามารถของตัวคุณเองอย่างถึงที่สุดแล้ว

และโปรดทำใจเถิดว่า ต่อให้คุณเลี้ยงดูสั่งสอนเขามาอย่างใกล้ชิดเพียงไร ส่งมอบความรู้และประสบการณ์ให้ด้วยความเข้าใจ พูดคุยดุจดังเพื่อนสนิทมิตรคนหนึ่งแล้วทุกอย่างทุกเรื่องอยู่ทุกวัน รู้จักและตามทันทุกสิ่งที่ลูกคุณได้รับได้เรียนได้รู้ แต่มันก็เป็นไปได้อยู่ดีที่ในที่สุดพวกเขาและเธอจะมีวันที่พูดคนละเรื่องกับคุณ และสิ่งที่คุณเพียรสอนเขามาทั้งหมดก่อนหน้านั้นจะถูกละทิ้ง

ก็เพราะในทุกวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงนั้นเร็วเกินหน้ากว่าความรู้และประสบการณ์แบบเดิมไปหลายช่วงตัว การศึกษาที่เท่าทันและมีประสิทธิภาพเพียงหนึ่งชั่วโมงอาจจะลบล้างสิ่งที่คุณเพียรสอนมาสิบปีได้จริง และสมเหตุสมผลที่เป็นเช่นนั้นด้วย

ภาษาต่างประเทศที่คุณเคยสอนเขา ต่อให้คุณจะเรียนมาจากเจ้าของภาษาในประเทศต้นทางมาเมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้ภาษานั้นก็เปลี่ยนไปแล้วทั้งการออกเสียง ไวยากรณ์บางเรื่อง รวมถึงความหมายของศัพท์บางคำ จนถึงชั้นที่คุณอาจจะฟังเพลงภาษานั้นได้ไม่เข้าใจ แต่พวกเขาฟังรู้เรื่อง

หรือถ้าคุณคิดว่าทันสมัยแล้วที่ปลูกฝังทักษะด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และข้อมูลข่าวสารให้เขาตั้งแต่เด็ก แต่ในวันนี้คอมพิวเตอร์ที่เขาใช้ก็ไม่ได้มีรูปร่างแบบเดียวกับที่คุณเคยพรมนิ้วบนแป้น ซอฟต์แวร์หรือภาษาโปรแกรมมิ่งที่คุณเคยสอนเขานั้นถูกทดแทนด้วยของใหม่ที่ง่ายกว่า

ความรู้ด้านภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ทฤษฎีเดิมของคุณก็อาจจะใช้ไม่ได้ เพราะประเทศที่คุณรู้จักหายไป เกิดใหม่ หรือเพิ่มลดบทบาทจนต่างไปจากเดิม คุณคงไม่สอนลูกว่าประเทศจีนใช่เศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ได้เต็มปาก ตัวบทกฎหมายที่คุณเคยสอนไว้ก็ได้แก้ไปกลับมาจนไม่เหมือนเดิม จนคุณที่เป็นผู้พิพากษาตุลาการก็อาจจะตกชั้นปริญญาตรีได้ถ้าให้ไปนั่งสอบตอบสดทันทีในวันนี้

นับประสาอะไรกับความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ในเรื่องยิ่งใหญ่กว่านั้น ความหวังและความฝันที่คุณเองก็ไม่เคยกล้านึก หรือเรื่องราวที่คุณเคยตบปากตัวเองเมื่อเผลอกล่าวถึง แต่ลูกของคุณถกเถียงกับเพื่อนได้เช่นเดียวกับการเลือกหาเสื้อผ้ามาใส่ไปงาน หรือหนังสือเล่มต่อไปที่จะอ่าน

การอาบน้ำร้อนมาก่อนอาจจะมีประโยชน์ในครั้งที่บอกพวกเขาว่าให้ระวังว่าน้ำนั้นร้อนเท่าไร ควรค่อยหย่อนกายลงมาแค่ไหนเพียงไร แต่เมื่อเขาลงมาอยู่ในบ่อเดียวกันแล้ว เขาและคุณก็คือผู้ที่อาบน้ำร้อนมาแล้วเท่ากัน

ถ้าจะถามว่า สรุปว่าพ่อแม่ไดโนเสาร์ต้องทำใจเลยหรือว่าไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถบังคับตักเตือน หรือแม้แต่ชักจูงโน้มน้าวให้ลูกซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ฟังแล้วเชื่อถือ เรียกให้เขากลับมาเดินตามเราต้อยๆ และสนุกซาบซึ้งกับเรื่องเล่านิทานเก่าของเราได้

คำตอบคือ ใช่ และการยอมรับว่าเราไม่เท่าทัน อาจจะเป็นความเท่าทันในวิถีใหม่

ดังเช่น บทกวี “บุตร” (On Children) ของ คาลิล ยิบราน รจนาไว้ จากสำนวนแปลของ ระวี ภาวิไล มีว่า

บุตรของเธอ…ไม่ใช่บุตรของเธอ
เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต
เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ

และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ
เธออาจจะให้ความรักแก่เขา
แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้เพราะว่าเขาก็มีความนึกคิดของตนเอง
เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายของเขาได้
แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา
เพราะว่าวิญญาณของเขานั้น อยู่ในบ้านของพรุ่งนี้
ซึ่งเธอไม่อาจเยี่ยมเยือนได้ แม้ในความฝัน…
เธออาจจะพยายามเป็นเหมือนเขาได้
แต่อย่าได้พยายามให้เขาเหมือนเธอ
เพราะชีวิตนั้นไม่เดินถอยหลังหรือห่วงใยอยู่กับวันวาน
เธอนั้นเป็นเสมือนคันธนู
บุตรหลานเหมือนลูกธนูอันมีชีวิต
ผู้ยิงเล็งเห็นที่หมายบนทางอันมิรู้สิ้นสุด
พระองค์จะน้าวเธอเต็มแรง เพื่อว่าลูกธนูจะวิ่งเร็วและไปไกล
ขอให้การโน้มงอของเธอในอุ้งพระหัตถ์ของพระองค์เป็นไปด้วยความยินดี
เพราะว่าเมื่อพระองค์รักลูกธนูที่บินไปนั้น
พระองค์ก็รักคันธนูซึ่งอยู่นิ่งด้วย

เราผู้เป็นมารดาบิดาได้ลับคมศรของเราอย่างดีแล้ว ปรับแต่งปีกลูกธนูอย่างประณีตเพื่อความแม่นยำ เล็งไปด้วยสมาธิอันตั้งมั่น ง้าวคันศรด้วยแรงที่กะเก็งแล้วว่าพอดีไม่ขาดเกิน ก่อนจะปล่อยลูกธนูออกไปจากคันสาย

แต่เราก็ไม่อาจคาดหมายได้ว่าลูกธนูนั้นจะพุ่งไปสู่เป้าหมายใด แม้อาจจะพอเดาทางได้เท่านั้น

มิใช่เพียงสายลมที่แทรกแซงหรือเจตนาจากพระผู้เป็นเจ้า แต่เพราะลูกธนูนั้นก็มีความคิดและเจตจำนงของมันเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image