กลุ่ม’บอยคอต’จี้ถามเสียงที่ไม่ได้ไปลง’ประชามติ’นับอย่างไร เผยไม่ยอมรับ’กระบวนการร่างฯ’ตั้งแต่แรก

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 31 กรกฎาคม ได้มีการจัดงานเสวนา เราควรตีความเสียง No Vote อย่างไร จัดโดยกลุ่ม No vote ต่อต้านเผด็จการ มีผู้เข้าร่วมเสวนาคือ น.ส.จิตรา คชเดช พรรคพลังประชาธิปไตย, น.ส.พัชณีย์ คำหนัก นักกิจกรรมแรงงงาน และนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง นักกิจกรรมจากกลุ่มประกายไฟ ณ ห้อง 702 ชั้น 7 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

น.ส.จิตรากล่าวว่า พรรคพลังประชาธิปไตยมีความคิดเรื่องโนโหวตหลังจากที่มีการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น และได้มีการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองต่างๆ ทำการเคลื่อนไหวแช่งแข็งไม่ให้ทำกิจกรรมใดๆ

ซึ่งจากการได้ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการทำประชามติมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เห็นว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงกระบวนการในการทำประชามติครั้งนี้ก็ไม่มีกระบวนการที่เป็นธรรม

“การลงประชามติในครั้งนี้ไม่ได้พูดถึงจำนวนเสียงที่เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ เท่ากับว่าหากมีคนไปลงประชามติแค่ 10 คน มีคนเห็นด้วย 7 คน รัฐธรรมนูญนี้ก็ผ่านได้เลย ดังนั้นในเมื่อที่มาก็ไม่เป็นประชาธิปไตย กระบวนการก็ไม่ยุติธรรม ทางพรรคจึงตัดสินใจที่จะโนโหวต หรือบอยคอตไม่รับ ไม่สังฆกรรม กับสิ่งที่มาโดยไม่ภูกต้องประชาชนไม่มีส่วนร่วมมาตั้งแต่แรก” น.ส.จิตรากล่าว

Advertisement

น.ส.จิตรากล่าวว่า ถึงอย่างไรกลุ่มโนโหวตหรือกลุ่มบอยคอต กลับถูกมองว่าเป็นกลุ่มนอนหลับทับสิทธิ เป็นกลุ่มที่ทำให้เสียงแตก มีนิยามที่มาจากคนอื่นๆ เป็นจำนวนมาก แต่นิยามเหล่านี้ไม่ได้มาจากคนที่ตั้งใจจะบอยคอต ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่มีใครสนใจเลยว่าคนที่ไม่ไปลงมีปัญหาอะไร ไม่สามารถไปได้เพราะอะไร เขาต้องการประท้วง เพราะเห็นว่าโหวตเยสเราก็ต้องใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่ถ้าไปโหวตโนเราก็ได้ คสช.อยู่ต่อ

“ส่วนเรื่องเสียงแตกเป็นเพราะเขาคิดว่าเราเป็นเสียงของเขาตั้งแต่แรก ทั้งที่หากเขาบอกว่าตนเองเชื่อในเรื่องประชาธิปไตยหนึ่งคนหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง เราจะไปโหวตโน เยส หรือโนโหวต ก็เป็นสิทธิของแต่ละคน ไม่ใช่คิดไปว่าเสียงนั้นเป็นของคุณ ถ้าเขาเข้าใจเรื่องหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง เขาจะไม่สนใจคำว่าเสียงแตก” น.ส.จิตรากล่าว

น.ส.จิตรากล่าวว่า กลุ่มบอยคอตเป็นกลุ่มที่ต้องการสร้างพื้นที่โดยไม่เอาร่าง รธน.นี้ เป็นพื้นที่ในการแสดงออกว่า เราไม่เอาแม้กระทั่งกระบวนการประชามติ เราปฏิเสธทั้งการยึดอำนาจและกระบวนการทั้งหมดที่มาจาก คสช. ส่วนตัวคิดดว่าการสร้างพื้นที่บอยคอต ไม่ได้เป็นการสูญเปล่า แต่มองว่าเป็นความกล้าหาญท่ามกลางกระแสสังคมส่วนใหญ่ที่มุ่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เราถูกให้เลือกแค่หนึ่ง-สองมาโดยตลอด ไม่มีสิทธิคิดสาม-สี่ได้ในสังคมแบบนี้

Advertisement

น.ส.จิตรากล่าวอีกว่า เราถูกตั้งคำถามว่าในเมื่อพรรคของเราบอยคอตทางพรรคจะส่งคนลงเลือกตั้งหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านหรือไม่ ขอตอบว่าพรรคของเราจะไม่ลงสมัครในกติกาที่ถูกกำหนดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะไม่ลง เพราะเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีปัญหา แต่อยากถามกลับไปว่าหากมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ ที่บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ดี สุดท้ายแล้วจะไปลงเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่พวกท่านไปโหวตโนหรือไม่

ด้าน น.ส.พัชณีย์กล่าวว่า วาทกรรมนอนหลับทับสิทธิ บอกว่าเรามีหน้าที่ที่ต้องไปเลือกตั้ง ทั้งที่การเลือกตั้งควรเป็นสิทธิของเรามากกว่าเป็นหน้าที่ สุดท้ายพอมันเป็นหน้าที่เราก็ต้องถูกบีบให้ไปเลือกพรรคการเมืองกระแสหลักในที่สุด ขณะที่บรรยากาศการทำประชามติในครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน มีกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ทำการทำประชามติกลายเป็นตลกร้ายในสังคมไทย

“สถานการณ์ในตอนนี้เราถูกบีบให้มีทางเลือกสองทาง มีหลายคนบอกว่าทำไมเราไม่เกาะกระแส ยิ่งโดยเฉพาะการที่ทั้งพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาโหวตโน นั่นเพราะเรามองว่าทำไมเราไม่สร้างทางเลือก ของประชาชนขึ้นมา สร้างทางเลือกใหม่ที่ไปจำเป็นต้องไปเท หรือโหนกระแส สร้างพรรคการเมืองของชนชั้นล่าง ทำไมเราต้องไปพึ่งพรรคใหญ่เพียงอย่างเดียว” น.ส.พัชณีย์กล่าว

อย่างไรก็ตามไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เราไม่ควรให้สิทธิแก่พวกเขาที่จะมาร่างกฎหมายซ้ำอีก เพราะความเป็นจริงแล้ว เขาไม่มีสิทธิทำรัฐประหาร ไม่สิทธิเข้ามามาร่างรัฐธรรมนูญให้เราเลือกด้วยซ้ำไป

ด้านนายโชติศักดิ์กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสการโหวตเยส โหวตโน ทางกลุ่มบอยคอตมีข้อเรียกร้อง คือ เรียกร้องให้เห็นหัวคนโนโหวตโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นคนฝ่ายประชาธิปไตย เพราะที่ผ่านมามีการดิสเครดิตว่าจะไม่นับเสียงของคนกลุ่มนี้ ทั้งที่การทำประชามติในครั้งที่ผ่านมามีตัวเลขของคนโนโหวต 20 ล้านคน หากคุณจะบอกว่าไม่สนใจ ไม่เห็นหัว คุณกำลังไม่เห็นหัวประชาชนกว่า 20 ล้านคนนี้อยู่ ซึ่งตัวเลขนี้อาจจะเพิ่มขึ้นในการทำประชามติในครั้งนี้ก็เป็นได้

นายโชติศักดิ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ไม่ว่าจะโหวตโน หรือโนโหวต อีกฝ่ายก็จะเล่นเกมตีความเสียงของเราอยู่ดีให้ไปในทิศทางที่เขาต้องการไม่ว่าจะโหวตอะไร ดังนั้นจึงอยากให้ดูที่ตัวเลขแท้จริงไปเลยว่ามีตัวเลขเท่าไร เพราะถึงที่สุดแล้วกลุ่มคนที่ไม่ได้ไปโหวตไม่ว่าจะเป็นเพราะอะไรก็ตาม นั่นเป็นเพราะเขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาจะกระทำมากกว่าไปลงประชามติรัฐธรรมนูญ

“อีกกรณีหนึ่งเรื่องของเสียงขั้นต่ำ องค์กรโดยทั่วไปต้องมีการตั้งองค์ประชุมเอาไว้ นี่เป็นหลักการทั่วไปที่ทุกคนยอมรับ แต่รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศกลับไม่มีการตั้งเสียงขั้นต่ำ นี่เป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรมของกระบวนการทำประชามตินี้ รวมไปถึงที่มาที่ไม่ชอบธรรม”

นายโชติศักดิ์กล่าวอีกว่า สุดท้ายนี้ไม่ได้เรียกร้องให้เคารพกลุ่มโนโหวต แต่แค่อยากให้เห็นว่ากลุ่มนี้มีตัวตน และเมื่อถึงวันลงประชามติก็อยากให้บันทึกมันเอาไว้เป็นคะแนนของคนที่โนโหวตด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ น.ส.จิตรา ยังเรียกร้องให้ผู้เห็นด้วยกับแนวทางบอยคอต ร่วมลงชื่อสนับสนุนบนเว็บไซต์ change.org เพื่อขอสงวนสิทธิไม่ยอมรับนับผลประชามติที่ไม่แฟร์และไม่ฟรี ก่อนจะนำไปยื่นต่อ องค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คณะกรรมการสิทธิทนุษยชน (กสม.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 4 ส.ค.นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image