‘เจนแซด’ปฏิกิริยา‘จะไม่ทน’ ทวงสิทธิ-เสรีภาพนักเรียน

หมายเหตุ เป็นความเห็นนักวิชาการ ฝ่ายการเมือง แกนนำนักเรียน กรณีกลุ่มนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม สะท้อนปัญหาของนักเรียน และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การชุมนุมของนักเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการ มองว่า เรื่องที่ 1 เป็นการเติบโตของคนที่ไปเจอกันในโลกออนไลน์แบบทวิตเตอร์ ไม่ใช่แบบไลน์ หรือเฟซบุ๊ก เป็นโลกออนไลน์แบบที่พวกเขาซึ่งไม่ต้องรู้จักกัน แต่เผชิญปัญหาแบบเดียวสามารถแลกเปลี่ยนความเจ็บปวด ความอึดอัดทั้งหมดได้ รวมถึงนัดชุมนุมกันได้

Advertisement

เรื่องที่ 2 คือปัญหาที่มีอยู่จริงในอดีต ไม่เคยถูกรับรู้ ไม่ใช่เรื่องหลักสูตรหรือทรงผม การพูดถึงทรงผม ถ้าผู้ใหญ่ได้ยินจะรู้สึกว่าเป็นแค่เรื่องการแต่งตัว แต่เด็กเชื่อมโยงระหว่างทรงผมกับมาตรฐานการเรียนการสอน จริงๆ แล้วเนื้อหาและคุณภาพครูแย่มาก ส่วนใหญ่เน้นให้ความสำคัญกับระเบียบวินัยมากกว่าเนื้อหาการเรียนการสอน เด็กที่เข้าร่วมชุมนุมที่กระทรวงศึกษาธิการส่วนใหญ่เป็น “เด็กครีม” จากที่ได้สัมภาษณ์เด็กด้วยตัวเอง ไม่มีใครเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 3.6 เลย เป็นเด็กตั้งใจเรียน แต่มักถูกละเมิดในสิ่งที่เขารู้สึกว่าไม่เป็นสาระในชีวิต จริงๆ แล้วเรื่องเนื้อตัว ร่างกาย ทรงผม ไม่ได้เป็นสาระสำหรับเด็ก แต่ครูทำให้มันเป็นสาระ

เรื่องที่ 3 คือกระบวนการการเติบโตขึ้นของแกนนำที่เรียกร้องเรื่องเหล่านี้ ที่เติบโตมาเป็นระยะๆ แม้อาจพูดว่ามีมาตั้งแต่สมัยนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในนามกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทเมื่อนานมาแล้ว นั่นคือนายเนติวิทย์เมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งมีคนที่กล้าลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้น้อยมากท่ามกลางเงื่อนไขบรรยากาศหลังรัฐประหารใหม่ๆ สังคมอยู่ในภาวะที่ไม่อยากพูดถึงหรือถกเถียงปัญหาใดๆ เพราะอยากลองให้รัฐบาลชุดนี้ให้ความสงบ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่คนเหล่านั้นพูด ได้สร้างเนติวิทย์อีก 2,000 คน ผ่านกระบวนการ 2 เรื่องแรกที่กล่าวมาข้างต้น

เรื่องที่ 4 เด็กที่มาชุมนุมที่กระทรวงศึกษาธิการ มาจากหลากหลายโรงเรียน จากการสัมภาษณ์เด็กสิบกว่ากลุ่ม มาจากคนละโรงเรียน มีทั้งในเมืองและต่างจังหวัด และเด็กต่างจังหวัดจำนวนมากที่เข้ามาอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ เช่น เตรียมอุดมศึกษา เมื่อถามว่าอะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนให้มาสนใจการเมือง สิ่งแรกที่ตอบคือ 3 ปีในโรงเรียนมัธยมต้น มันคือนรก เด็กเรียนได้เกรด 3.9 สอบเข้าเตรียมอุดมฯได้ และเขาได้ทัณฑ์บนด้วยก่อนออกมาจากโรงเรียน

Advertisement

เรื่องที่ 5 เด็กไม่กลัวการชูสามนิ้วในโรงเรียน เขาเปิดกระเป๋าหยิบเอกสารที่พรินต์ออกมา คือรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แล้วหยิบใบที่ 2 ออกมา คือ ประกาศ สพฐ. ว่าเด็กทุกคนมีสิทธิในการชุมนุมในโรงเรียน ถ้าฟ้องศาลปกครอง ครูแพ้แน่ เขาไม่กลัว

เรื่องที่ 6 เด็กเหล่านี้ คือผลผลิตของพวกเราเอง กล่าวคือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการและสังคมไทยพยายามกระตุ้นสร้างเด็กที่คิดนอกกรอบ พยายามโฟกัสเรื่อง Child Center (การเรียนรู้โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง) พยายามผลักดันให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ 10 กว่าปี เราได้เด็กเหล่านี้ออกมาแล้ว เป็นผลผลิตของการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ และประสบความสำเร็จแล้ว

กรณีมีคลิปวิดีโอครูคัดค้านการเคลื่อนไหวของนักเรียน โดยให้ข้อมูลชุดหนึ่งแล้วเด็กเถียงกลับว่า ไม่จริง กระทั่งครูไล่นักเรียนออกนอกห้อง ดังนั้นต้องมีการปฏิรูปการจัดอบรมครูในโรงเรียนใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจัง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางอำนาจในโรงเรียน ครูรุ่นเก่าปรับตัวไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ยังอยู่กับข้อมูลชุดเดิม ขณะที่เด็กๆ เหล่านี้อยู่กับตำราประวัติศาสตร์ประมาณ 200 เล่มนอกห้องเรียน อยู่ภายใต้การแสดงออกอย่างมีเสรีภาพนอกห้องเรียนอย่างมหาศาล อยู่กับครอบครัวสมัยใหม่ที่ให้เสรีภาพกับลูก โรงเรียนเป็นสถาบันอนุรักษนิยมสถาบันเดียวที่เขาเจอในชีวิต เพราะฉะนั้น จะให้เด็กเปลี่ยนเป็นเรื่องยากมาก แต่ครูอยากให้เขาอยู่ในระบบ ระเบียบแบบเดิม

ดังนั้น เบื้องต้นกระทรวงศึกษาธิการต้องเข้าใจธรรมชาติของคนรุ่นนี้ แล้วปรับโครงสร้างกระทรวงและโรงเรียนให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ ไม่อย่างนั้นจะไม่จบแค่ 3 นิ้ว แต่จะเป็นการต่อต้านระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน เพราะเด็กทุกคนที่ให้สัมภาษณ์ไม่เคยรู้สึกเลยว่า การสอนในโรงเรียนมีประสิทธิภาพ แต่ประสบความสำเร็จด้วยการอ่านหนังสือด้วยตัวเอง

ส่วนกรณีที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับแฟลชม็อบ ส่วนหนึ่งบอกว่าเด็กไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ ขอให้กลับไปอ่านประวัติศาสตร์ใหม่ก่อนออกมาเคลื่อนไหว กระทั่ง “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ออกมาบอกว่า ตนชนะเลิศประวัติศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ส่วนตัวจึงมองว่าความล้มเหลวของกระทรวงศึกษาฯ ไม่ใช่เรื่องงบประมาณหรือบุคลากร แต่เป็นเรื่ององค์ความรู้ที่มีอยู่ในหลักสูตรซึ่งมีน้อยมาก แคบมาก จนคนรุ่นใหม่ที่อยู่กับโลกที่มีข้อมูลมหาศาล เข้าใจไม่ได้ว่าเสียเวลากับการเรียนในห้องเรียนไปเพื่ออะไร

จากที่ได้ถามเด็กนักเรียนว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ไหนหรือไม่ เช่น
14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ หรือพฤษภาทมิฬ เด็กบอกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ถามว่ารู้จักได้อย่างไร เขาตอบว่า ตอนครบรอบ 14 ตุลาฯ- 6 ตุลาฯ มีการ
ทวีตข้อมูลฟีดทะลุโลกแตก ลิงก์หนังสือพีดีเอฟมีเป็นร้อยเล่มให้โหลดฟรี

เด็กมีความมั่นใจมากขึ้นอย่างมากว่า สิ่งที่กำลังเชื่อและทำอยู่เป็นเรื่องถูกต้อง เขาจะไม่กลัวครูในโรงเรียนอีกแล้ว

และจะน่ากลัวมากกว่า คือจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปถ้าครูไม่ปรับตัว

น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์
ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

กรรมาธิการกิจการเด็กฯ สภาผู้แทนราษฎร

สําหรับการชุมนุมเรียกร้องของ กลุ่มนักเรียนหน้ากระทรวง ศึกษาฯ ถือเป็นโอกาสดีที่เด็ก เยาวชน ได้สะท้อนประเด็นที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของตนเองในสถานศึกษา ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องที่นักเรียนต้องเจอ เช่น การตั้งคำถามว่าเหตุใดต้องดิ้นรนเข้ามาเรียนในเมือง แปลว่าการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน ทำไมบุคลากรครูต้องทำงานเอกสารมากกว่าการสอน รวมถึงเนื้อหาหลักสูตรบางส่วนที่ล้าสมัย

ถือเป็นเรื่องดีที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯได้มีโอกาสพบกับกลุ่มเยาวชน ที่มาสะท้อนปัญหาโดยตรง เพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา หลายเรื่องอยู่ระหว่างการผลักดันของกระทรวงอยู่แล้ว มองว่าการเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนครั้งนี้ จะเป็นโอกาสของทั้งสองฝ่าย คือกลุ่มนักเรียนได้สื่อสารกับรัฐบาลโดยตรง เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคทางการศึกษา ขณะที่รัฐมนตรี ข้าราชการกระทรวง ศึกษาฯ ก็จะได้มีโอกาสสื่อสารถึงนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงจะได้ใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูประบบการศึกษาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เพื่อปลดล็อกช่องว่างของครู นักเรียน เปิดกว้างทางการศึกษา และสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาผู้บริหารการศึกษาต่อไป

มุกดา พงษ์สมบัติ
ส.ส.พรรคเพื่อไทย
ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)

กิจการเด็ก เยาวชน สตรี สภาผู้แทนราษฎรใน กมธ.ได้มีการคุยกันบ้างในส่วนนี้ และมองว่าการเรียกร้องของเด็กนักเรียนถือเป็นสิทธิของที่จะทำ แต่ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็ต้องเฝ้าดู แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของเขา

การแสดงออกในลักษณะนี้ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ และละเอียดอ่อนในสังคมไทย ผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญ การที่เด็กนักเรียนออกมาเรียกร้องในวันนี้มองได้หลายอย่าง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่ของครอบครัว ระบบการศึกษาก็มีส่วน นอกจากนี้เทคโนโลยีถือก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กมีส่วนอย่างมาก ปิดหูปิดตาไม่ได้ กระทรวงศึกษาธิการควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย

กมธ.อยากสะท้อนให้ฝ่ายบริหารได้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคน ยุคนี้ต้องยอมรับว่าไม่สามารถไปบังคับเด็กได้แล้ว แต่ต้องสร้างความเข้าใจว่า เขาทำมีเหตุผลอะไร ถูกผิดอย่างไร เพราะเขาต้องมาดูแลประเทศแทนเราในอนาคต คำว่า “จบที่รุ่นเรา” คำว่า “จบ” ของเขาคืออะไร ต้องคุย และยอมรับความจริง การตามไล่จับดำเนินคดี แบบนี้ไม่จบ แต่จะกลายเป็นความรุนแรงที่ลามขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นเมื่อเด็กแสดงความเห็น มีสภาเด็ก มีกระบวนการต่างๆ ก็ควรรับฟัง ระดมความคิดเห็น แล้วรีบบริหารจัดการเรื่องนี้ แล้วสร้างความเข้าใจในสังคม ลดความรุนแรง อย่าคิดเพียงแต่ว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง

นักเรียนม.6แกนนำกลุ่ม‘นักเรียนเลว’

ม็อบนักเรียนมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาในโรงเรียนที่ทุกคนได้พบเจอ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรในโรงเรียน ครูมักจะพูดกับเราว่าคุณไม่มีสิทธิทำแบบนี้ จึงเกิดเป็นคำถามว่า แล้วสิทธิของนักเรียนคืออะไร

อีกมุมก็เป็นเรื่องการใช้อำนาจในโรงเรียน เป็นสิ่งที่นักเรียนต่อสู้มาตลอด จึงกล่าวได้ว่าสภาพแวดล้อมในโรงเรียนก็มีส่วนบีบให้ออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่งั้นพวกเราก็ตายอยู่ในนั้น หากช่วยอะไรได้ก็อยากจะทำเพื่อให้รุ่นต่อๆ ไป ไม่ต้องมาเจอแบบพวกเราอีก ประจวบกับมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯคนใหม่ที่มาจากการเป่านกหวีด สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการรับหน้าที่มาอย่างไม่ชอบธรรม เมื่อนักเรียนประสบปัญหาถูกลิดรอน ถูกทำร้ายอยู่ในโรงเรียน จากการร่วมกิจกรรมชูสามนิ้วและผูกโบขาว รัฐมนตรีก็ไม่ช่วยจัดการปัญหาอะไรเลย จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่มีการออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้

ยืนยันว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง เพราะกลุ่ม “นักเรียนเลว” ตื่นตัวกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว การออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ก็เป็นสิทธิของนักเรียนตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีครูในสังกัดกระทรวงศึกษาฯ เข้ามาสกัดขัดขวางอย่างที่มีการนำเสนอข่าวไป ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น จะไม่ให้จบการศึกษา ขู่จะหักคะแนน ถ่ายรูปนักเรียนเก็บไว้ รวมไปถึงทำร้ายร่างกาย เชื่อว่ามีนักเรียนอีกมากที่ยังไม่กล้าเปิดเผยออกมา เพราะนอกจากครูแล้วหลายคนครอบครัวก็ไม่เห็นด้วย อย่างตัวเองพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ และมีมาตรการว่า ถ้าออกมาเคลื่อนไหวจะตัดออกจากการเป็นสมาชิกครอบครัว ออกจากกองมรดก รวมไปถึงไม่ให้เงินเลี้ยงดู แต่ก็ยังยืนยันที่จะออกมา เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลงก็ต้องอยู่ในสังคมแบบนี้อีกต่อไป

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น มองว่า “ครู” ควรจะเคารพในความคิดเห็นของนักเรียน รวมไปถึงการแสดงความเห็นในห้องเรียน เช่น หลายครั้งนักเรียนอยากทักท้วงว่าตรงนี้ครูสอนผิดหรือไม่ ก็ไม่สามารถพูดได้ จึงอยากให้ครูเปิดใจรับฟังด้วยเหตุผล และไม่ใช้ความรุนแรง

สำหรับภาพที่ใหญ่กว่าคือ “โรงเรียน” ควรมีความรับผิดชอบในการควบคุมดูแลครูที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หากยังทำไม่ได้ กระทรวง ศึกษาฯก็ควรช่วยรับฟังความเห็นนักเรียน อย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่กระทรวงออกจดหมายให้ทุกโรงเรียนเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น แต่ก็กลายเป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียว ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริงในโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม รู้สึกดีใจที่เห็นเพื่อนนักเรียนที่มีเป้าหมายและอุดมการณ์เดียวกันออกมาเคลื่อนไหว เพราะไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนมาร่วมเยอะขนาดนี้ ผู้ใหญ่หลายคนบอกว่าเป็นเพียงแค่กระแสชั่วคราวเท่านั้น ก็เห็นด้วยว่าอาจจะเป็นแค่กระแส อีกหน่อยอาจจะไม่มีคนผูกโบขาว ไม่มีคนชูสามนิ้ว

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ พวกเขาตระหนักแล้วว่าอุดมการณ์ที่หยัดยืนคืออะไร ต่อสู้เพื่ออะไร ตรงนี้ต่างหากที่เป็นจุดสำคัญและเป็นเหมือนการเริ่มต้นที่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image