โพลนิด้า ชี้นายกฯต้องฟังเสียงผู้ชุมนุมด้วยตัวเอง-ยุบสภา กังวลมีมือที่ 3 ทำเหตุบานปลาย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ม็อบกลุ่มประชาชนปลดแอก” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และวันที่ 16 สิงหาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงความกังวลว่าจะเกิดการบานปลายกลายเป็นความแตกแยกและความรุนแรงในสังคมจากการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก พบว่าร้อยละ 26.37 ระบุว่า กังวลมาก เพราะเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นและอาจจะมีมือที่ 3 เข้ามาแทรกแซงเหมือนที่ผ่านมา และอยากให้เลื่อนการชุมนุมออกไปก่อนจนกว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 จะหมดไป 100% ร้อยละ 34.76 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล เพราะเกรงว่าจะมีการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่มคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาจจะทำให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องถูกลูกหลง ได้รับบาดเจ็บ

ร้อยละ 14.18 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลรับทราบถึงเหตุผลในการชุมนุมเท่านั้น และรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ร้อยละ 24.16 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะเป็นเหตุการณ์ปกติของการเมืองไทยที่มีมาตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นสิทธิในการแสดงเหตุผลของกลุ่มประชาชนปลดแอก และเป็นการชุมนุมอย่างสงบ และร้อยละ 0.53 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

Advertisement

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรดำเนินการกับการชุมนุม พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.27 ระบุว่า ควรรับฟังปัญหาจากกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยตนเอง รองลงมา ร้อยละ 24.16 ระบุว่า ควรยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ทันที ร้อยละ 11.43 ระบุว่า ควรประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 11.36 ระบุว่า ควรใช้กลไกรัฐสภาในการฟังปัญหาจากกลุ่มผู้ชุมนุม ร้อยละ 9.07 ระบุว่า ควรประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา แล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 8.54 ระบุว่า ควรใช้กลไกราชการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ร้อยละ 6.17 ระบุว่า ควรอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ร้อยละ 4.50 ระบุว่า ควรใช้กฎหมายดำเนินการกับผู้กระทำผิด และร้อยละ 0.99 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.77 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.84 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.46 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.49 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.93 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.07 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 5.87 มีอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 15.01 มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 22.03 มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 35.37 มีอายุ 46-59 ปี และร้อยละ 21.72 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.50 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.05 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.92 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่นๆ และร้อยละ 0.53 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.56 สถานภาพโสด ร้อยละ 72.26 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.57 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.61 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

Advertisement

ตัวอย่างร้อยละ 28.35 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.93 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.99 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 22.71 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.33 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.69 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 10.21 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.87 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 23.32 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.55 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.16 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.76 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.36 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 0.69 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 16.84 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 24.62 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.22 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 11.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 5.34 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 7.62 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.08 ไม่ระบุรายได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image