เสียงสะท้อน Gen Z ม็อบ “ขาสั้น-คอซอง” สะเทือนการเมือง!!

เสียงสะท้อน Gen Z ม็อบ "ขาสั้น-คอซอง" สะเทือนการเมือง!!

เสียงสะท้อน Gen Z ม็อบ “ขาสั้น-คอซอง” สะเทือนการเมือง!!

เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องจับตา สำหรับม็อบนักเรียนทั้งในและนอกสถานศึกษา สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อครูบาอาจารย์และพ่อแม่ ผู้ปกครองบางส่วน ไปจนถึงภาครัฐที่ดูจะออกอาการ ‘นั่งไม่ติด’ ผุดคลิป ‘ม็อบ VS แม่’ เผยแพร่ในช่องยูทูบกรมประชาสัมพันธ์

สุดท้ายโดนถล่มหนักจนต้องลบทิ้งภายในเวลาเพียง 5 ชั่วโมงเศษ ตามด้วยคลิปเก่าบทพูดใหม่ ที่ถูกปล่อยออกมาให้ชาวเน็ตแชร์สนั่น ด้วยข้อมูลจากมุมมองอีกด้าน ซึ่งเน้นย้ำสิทธิเสรีภาพตามวิถีประชาธิปไตย

การผูกโบขาว ร้องเพลงชาติ ชู 3 นิ้ว ขณะเข้าแถว ชูกระดาษเปล่าหน้าเสาธง ไปจนถึงนัดหมายแจวเรือหน้ากระทรวงศึกษาธิการเรียกร้องประเด็นต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับระบบการศึกษาไทย อย่างไร้ท่าทีหวาดหวั่น สะท้อนความอัดอั้นในปมปัญหาที่เกิดขึ้นและสะสมมาเนิ่นนานในรั้วสถานศึกษา

วาทกรรมจำพวก “เป็นนักเรียนอย่ายุ่งการเมือง” ถูกเยาวชนไทยวัยไม่ถึง 18 ปีโต้กลับอย่างหนักหน่วงด้วยความเป็นจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ทั้งหลักสูตร ระบบระเบียบมากมาย เกิดขึ้นจากภาครัฐ ย่อมเกี่ยวข้องกับการเมือง

Advertisement

และยิ่งเด่นชัดมากขึ้นไปอีก เมื่อกลุ่ม นักเรียนเลว นัดผ่านทวิตเตอร์เพื่อแจวเรือ “เป่านกหวีด” เรียก ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีต กปปส. ออกมาพูดคุยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

ประเด็นที่ถูกกล่าวถึง ทั้งเสรีภาพในการแต่งกาย สิทธิในเรือนร่างของตัวเองในการเลือกทรงผม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ต้องเร่งปฏิรูป ข้อเรียกร้องให้ “ครู” ฟังเสียงนักเรียน การคัดค้านตำราที่แฝงไว้ด้วยการเหยียดเพศ และอีกมากมาย ไม่ใช่เรื่องใหม่

ไม่เพียงแต่ในการชุมนุมครั้งนั้น ทว่าถูกหยิบยกมาพูดคุยบ่อยครั้งทั้งในวงเสวนา ทั้งการอภิปรายในสภา ทั้งในวงชานมไข่มุกที่โต๊ะม้าหินของโรงเรียน และทั้งในทวิตเตอร์ หรือ “ทวีตภพ” โลกคู่ขนานที่ผู้ใหญ่ส่วนมากยังสะเดาะกลอนเข้าไม่ถึง

Advertisement

จิรายุทธ (สงวนนามสกุล) นักเรียนวัย 15 ปี คืออีก 1 คนที่รับรู้การนัดหมายผ่านทวิตเตอร์ ในการทำกิจกรรมต่างๆ จึงแสดงจุดยืนมีส่วนร่วมกับนักเรียนโรงเรียนอื่น ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยถือกระเป๋าผูกโบสีขาวรอร่วมกิจกรรมกับนักเรียนสามเสนวิทยาลัย เมื่อบ่ายวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา

จิรายุทธ กล่าวว่า อยากร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ 3 ข้อ ได้แก่ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ยุบสภา 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นอกจากนี้ อยากให้กระทรวงศึกษาธิการยกเลิกกฎกระทรวงที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของนักเรียน

โดยเชื่อว่า “ถ้าการเมืองดี อนาคตต้องดีตามไปด้วย”

ก่อนย้ำว่า ออกมาแสดงออกเพื่อ “อนาคตตัวเอง” โตไปอยากเป็นนักบัญชีตามที่เรียนมา ส่วนทางโรงเรียนที่เรียนอยู่ มีกลุ่มเพื่อนที่มีความเห็นเหมือนผมจำนวนหนึ่ง โดยผูกโบขาวไปโรงเรียน ซึ่งครูก็ไม่ได้ห้ามแต่อย่างใด โดยก่อนหน้านี้ผมเคยไปร่วมชุมนุมในงาน #สมุทรปราการจะไม่ทน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะใกล้บ้าน ส่วนพ่อแม่ ทำธุรกิจส่วนตัว ไม่ได้สนับสนุน แต่ไม่ได้ห้ามแสดงออก

นอกเหนือจากการแสดงออกในรั้วโรงเรียน นักเรียนทั้ง ม.ปลายและเขยิบลงไปถึง ม.ต้น ยังร่วมกับกลุ่มนักศึกษา ขึ้นเวทีปราศรัยมานักต่อนัก จนบางรายที่เป็นนักเรียนในสถานศึกษา “หัวกะทิ” ของประเทศถึงขนาดมีรายชื่อ 1 ใน 31 รายที่โดนหมายจากการชุมนุม

“ประเทศที่เจริญวัดจากคุณภาพการศึกษา เป็นรากฐานของประชาชนของพลเมืองที่ดี เมื่อรากฐานแย่ ประชาชนจะมีความคิดที่ดีได้อย่างไร การศึกษาไทย สร้างพลเมืองเฉื่อยๆ ไม่มีความคิดของตัวเอง ครูบ้าอำนาจไม้เรียวสามารถสั่งสอนคนได้ อยากรู้ว่านักเรียนเป็นวัวหรือเป็นควายหรือ ถึงสั่งสอนด้วยไม้เรียว ให้อำนาจกับครูผู้สอนมากไป นักเรียนก็เป็นมนุษย์ คุณครูก็เป็นมนุษย์ ทำเหมือนว่าไม่ใช่มนุษย์ คือสิ่งที่ครูสมควรทำกับเด็กหรือ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจริงๆ”

นั่นคือคำกล่าวทรงพลังของนักเรียนบนเวทีปราศรัยใหญ่เมื่อ 16 สิงหาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยร่วมกับคณะประชาชนปลดแอกที่สะท้อนทั้งความในใจ และปัญหาในเชิงระบบวิธีคิด และทัศนคติของผู้หลักผู้ใหญ่ที่มักกล่าวอ้างว่า “อาบน้ำรัอนมาก่อน” จนถูกย้อนผ่านทวีตของ “เด็กสมัยนี้” ทำนองว่า “ถูกลวกและต้มจนสุกมาก่อนใช่หรือไม่”

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไร แต่ที่แน่ๆ ความคิดที่ว่า “เด็กถูกล้างสมอง” และ “ตกเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง” คือสิ่งที่ถูกนำมาพูดถึงมากมายในฝ่ายอนุรักษนิยม

นักเรียนคนหนึ่ง กล่าวบนเวทีต่อหน้าผู้คนนับหมื่นบนถนนราชดำเนินว่า “ค่านิยม 12 ประการ ที่กล่อมหู เรายังไม่เห็นทำตาม จะโดนล้างสมองได้อย่างไร?”

สอดคล้องกับกลุ่มนักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนรัฐบาลชื่อดังย่านพระราม 6 จำนวน 3 ราย

ไม่ขอไม่เปิดเผยนาม ซึ่งให้สัมภาษณ์กับ ‘มติชน’ หลังทำกิจกรรมชูกระดาษเปล่าหน้าเสาธงในเย็นวันหนึ่งว่า สาเหตุที่พวกตนเข้าร่วม เพราะการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว ปีหน้าก็เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว อีกไม่กี่ปีเรียนจบ ทำงาน ต้องมีอนาคตต่อไปข้างหน้า

แน่นอนว่า หลังการออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้ ย่อมสุ่มเสี่ยงกับการถูกเพ่งเล็งไปจนถึงเข้าข่ายคุกคาม โดยมีการระบุถึงสถิติเบื้องต้นว่า ปรากฏผู้ร้องเรียนมากกว่า 109 โรงเรียนทั่วประเทศ จนเหล่า “ศิษย์เก่า” ที่ไม่เห็นด้วยกับการคุกคามตลอดจนห้ามปราม ต้องลุกขึ้นมาล่ารายชื่อค้าน

ดังเช่นที่กลายเป็นประเด็นดังอย่าง ศิษย์เก่าโรงเรียนสตรีชื่อดังย่านปากคลองตลาดที่ออกจดหมายเปิดผนึก หลังทางโรงเรียนเผยแพร่จดหมายที่ลงท้ายในทำนองว่า หากเห็นต่าง ผู้ปกครองสามารถนำลูกหลานลาออกไปเรียนที่อื่นได้

รวมถึงศิษย์เก่าอีกโรงเรียนชื่อดังฝั่งนครปฐม ซึ่งมีเสียงเล็ดลอดว่า จะไม่ให้นักเรียนที่แสดงออกทางการเมืองบางรายเรียนต่อชั้น ม.4 เพราะทำโรงเรียนเสียชื่อเสียง

ปรากฏการณ์นี้ อยู่ในสายตาของ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีบทวิเคราะห์อย่างน่าสนใจในตอนหนึ่งว่า “เด็กเหล่านี้ คือผลผลิตของพวกเราเอง กล่าวคือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการและสังคมไทยพยายามกระตุ้นสร้างเด็กที่คิดนอกกรอบ พยายามโฟกัสเรื่อง Child Center (การเรียนรู้โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง) เราพยายามผลักดันให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ 10 กว่าปี เราได้เด็กเหล่านี้ออกมาแล้ว เป็นผลผลิตของการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ และประสบความสำเร็จแล้ว”

เหล่านี้ คือส่วนหนึ่งของภาพความอลหม่านในการเมืองเรื่องสถานศึกษาที่ดูทีท่าจะยังไม่จบโดยง่าย ทว่า ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดถึงความเข้มข้นที่ทวีขึ้นทุกขณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image