เดินหน้าชน : เพราะสุดทน : โดย สัญญา รัตนสร้อย

พัฒนาการความเคลื่อนไหวทางการเมืองจนนำมาสู่ 3 ข้อเรียกร้อง หยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา กับอีก 2 จุดยืน ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ มีนิสิตนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เป็นมวลชนหลักขับเคลื่อนจัดกิจกรรมชุมนุมใหญ่มีผูู้เข้าร่วมนับหมื่น เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกตลอดสัปดาห์

อีกหนึ่งกลุ่มพลังที่ไม่อาจละเลย ก็คือบรรดาน้องๆ นักเรียนโรงเรียนต่างๆ ปูพรมแสดงสัญลักษณ์ผูกโบขาว ชูสามนิ้ว เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นแนวร่วมสำคัญสนับสนุนข้อเรียกร้องข้างต้น

กลุ่มนักเรียนที่จัดอยู่ในช่วงวัยที่เรียกว่า “เจนแซด” หรือเกิดหลังปี พ.ศ.2543 เติบโตควบคู่มากับเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมรวดเร็วทันสมัย สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารปริมาณมหาศาลบนอินเตอร์เน็ต รู้จักคิดเชิงวิเคราะห์ เริ่มตั้งคำถามกับยุคสมัยทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
อะไรเป็นแรงขับ แรงกดดัน ให้คน “เจนแซด” แสดงออกทางการเมืองเด่นชัด ขอมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของตัวเอง

Advertisement

อะไรเป็นเงื่อนไขให้เจนแซด “จะไม่ทน” อีกต่อไป

คำตอบคงไม่ใช่เฉพาะปัญหาทางการเมืองตามที่ออกมาเรียกร้องกัน

หากเริ่มต้นจากภายในโรงเรียนเอง นักเรียนตั้งคำถามกับสภาพการเรียนการสอน กฎระเบียบที่ถูกบังคับให้เชื่อ แต่เหตุผลคำอธิบายจากครูกลับคลุมเครือ ลามออกมานอกรั้วโรงเรียน สู่คำถามต่อสภาพสังคมการเมือง ก็ต่างเป็นปัญหาไม่ต่างกัน เพราะอยู่ในโครงการสร้างคล้ายกันแต่ใหญ่กว่า

Advertisement

จากปากคำแกนนำกลุ่มนักเรียน ที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มเด็กเลว” ปัจจุบันกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่ง ยืนยันว่าม็อบนักเรียนมีจุดเริ่มจากปัญหาในโรงเรียนที่ทุกคนพบเจอ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง

เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรในโรงเรียน ครูมักจะพูดว่านักเรียนไม่มีสิทธิทำแบบนี้ จึงเกิดเป็นคำถามว่า
แล้วสิทธิของนักเรียนคืออะไร การใช้อำนาจในโรงเรียน เป็นสิ่งที่นักเรียนต่อสู้มาโดยตลอด และบีบให้ออกมา
เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง

นักเรียนวันนี้ต้องอยู่ไปอีก 20-30 ปี ข้างหน้า หากไม่เปลี่ยนแปลงก็ต้องอยู่ในสังคมแบบนี้อีกต่อไป

ขณะเดียวกันในการลงพื้นที่ของ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บข้อมูล สัมภาษณ์นักเรียน เพื่อหาคำอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งตอกย้ำถึงปัญหาที่มีอยู่จริงในอดีตแต่ไม่เคยถูกรับรู้ และไม่ใช่เรื่องผิวเผินอย่างทรงผม ที่ผู้ใหญ่มักมองว่าเป็นแค่ความอยากสวยอยากงามของเด็ก

ความจริงแล้วเรื่องทรงผม เด็กนักเรียนนำมาเปรียบเทียบเชื่อมโยงกับมาตรฐานการเรียนการสอน ที่โรงเรียนส่วนใหญ่โรงเรียนเน้นความสำคัญระเบียบวินัยมากกว่า

กลุ่มนักเรียนรู้สึกว่าเรื่องเนื้อตัว การแต่งกาย แม้แต่ทรงผม ไม่เป็นสาระในชีวิต และยิ่งไม่เป็นสาระสำหรับเด็กที่มาโรงเรียนแสวงหาความรู้ แต่ครูกลับทำให้สิ่งที่ว่าเป็นสาระ

อาจารย์กนกรัตน์เสนอแนะว่า ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการต้องเข้าใจธรรมชาติของคนรุ่นนี้ แล้วปรับโครงสร้างกระทรวงและโรงเรียนให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ ไม่อย่างนั้นจะไม่จบแค่ 3 นิ้ว แต่จะเป็นการต่อต้านระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน เพราะเด็กทุกคนที่ไปสัมภาษณ์มา ไม่เคยรู้สึกเลยว่าการสอนในโรงเรียนมีประสิทธิภาพ แต่พวกเขาประสบความสำเร็จด้วยการ
อ่านหนังสือด้วยตัวเองมากกว่า

เพราะฉะนั้นเพื่อทำความเข้าใจคนเจนแซดให้มากขึ้น ผู้ใหญ่น่าจะลด ละ เลิก กับวลี “อาบน้ำร้อนมาก่อน”
ที่หลังจากนี้อาจมีความหมายไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจให้กว้าง และกลับมาฟังเสียงสะท้อนของเด็กอย่างมีสมาธิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image