นักวิชาการชี้ ไม่ตกผลึกต้นเหตุรอยร้าว แนะ 2 พรรคฝ่ายค้านแสวงจุดร่วมแก้รธน.

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า จากท่าทีของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในกรณีการยื่นญัติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนจะมีความแตกต่างจนถูกมองว่าเป็นรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยส่วนตัวมองว่า การตัดสินใจของแต่ละพรรคล้วนเกิดขึ้นจากการประเมินทางการเมืองบนพื้นฐานการหารือและการพูดคุยภายในพรรค การตัดสินใจของพรรคเป็นผลของการลงมติภายในของสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคตามหลักการประชาธิปไตย ดังนั้นแม้เป็นพรรคฝ่ายค้าน ก็อาจเห็นต่างกันได้ และไม่ได้หมายความว่าข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป

ดร.ปิยณัฐ  กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาถึงบรรทัดฐานร่วมระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เชื่อว่าทั้งสองพรรคยังเห็นพ้องกันว่าการแก้ไขวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบันต้องดำเนินการด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แต่สิ่งที่ต่างกันเป็นเพียงในแง่กระบวนการและหลักการสำคัญในบางมาตรา ที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลอาจยังไม่ตกผลึกร่วมกัน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นรอยร้าวและความไม่ลงรอยกันของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงอยากให้ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ถอยกลับมาที่บรรทัดฐานร่วมกันที่จะมุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน จากนั้นให้กลไกของรัฐสภาเป็นตัวตัดสินรูปแบบและกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหากให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นตัวแสดงสำคัญในการวิพากษ์หลักการและมาตราที่ต้องการปรับปรุงแก้ไขให้กฏหมายสูงสุดของประเทศไทยมีความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน

“ทางออกที่สำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น อยากให้ประเทศไทยนำหลักการการร่างรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐอินเดียมาปรับใช้ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้เพียงฉบับเดียวมากว่า 70 ปี นับแต่ประกาศใช้ โดยรัฐธรรมนูญของอินเดียมาจากพูดคุยหารือของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากผู้แทนจากทุกภูมิภาคของอินเดียตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ภายใต้การนำของ ดร.อัมเบดการ์ ซึ่งผสานความทุกข์ยากของบุคคลวรรณะล่างของสังคมผนวกกับประสบการณ์และแนวคิดของชนชั้นนำที่ ดร.อัมเบดการ์ ได้รับจากการศึกษาจากต่างประเทศ ทำให้รัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นธรรมกับทุกชนชั้นในสังคม นอกจากนี้รัฐธรรมนูญของอินเดียยังเปิดโอกาสให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตราได้ หากสภาพสังคมหรือสถานการณ์ของประเทศมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ หาได้เป็นการยกเลิกเพื่อเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด” ดร.ปิยณัฐ กล่าว

ดร.ปิยณัฐ  กล่าวทิ้งท้ายว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ควรผนึกกำลังร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเบื้องต้นให้ได้ก่อน และไม่เพียงหาแนวร่วมสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น ควรชี้ให้พรรคฝ่ายรัฐบาลเห็นพ้องร่วมกันว่า ถ้าจะหาทางออกให้ประเทศ การหันมาใช้กลไกของรัฐสภาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ” ดร.ปิยณัฐ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image