‘วิป 3 ฝ่าย’ เปิดไทม์ไลน์ ก่อนปิดประชุมสภา จับตา 23-24 ก.ย. ร่างแก้ รธน.

‘วิป 3 ฝ่าย’ กางตารางการทำงานของสภา ก่อนปิดสมัยประชุม จับตา 23-24 ก.ย. ร่างแก้ รธน.ทั้งฝ่ายค้าน-รบ.เข้าสภา

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงผลการประชุมวิป 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยวุฒิสภา วิปฝ่ายค้านและวิปฝ่ายรัฐบาล เพื่อสรุปตารางการทำงานของสภาในช่วงเดือนกันยายนว่า วันที่ 1 กันยายน จะเป็นการประชุมเกี่ยวกับกฎหมายการปฏิรูป 3 เรื่อง 3 ร่าง ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.ให้ใชประมวลกฎหมายยาเสพติด พศ. … 2.ประมวลกฎหมายยาเสพติด และ  3.วิธีพิจารณาคดีอาญายาเสพติด ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขั้นรับหลักการ จากนั้นจะเป็นการพิจารณากฎหมายการให้ความช่วยเหลือด้านภาษี ซึ่งทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ต่อมาวันที่ 2-3 กันยายน จะเป็นการประชุมวาระปกติ วันที่ 9 กันยายน ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระพิเศษเพื่ออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงถึงวิกฤตเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่ง ครม.ตอบรับมาว่าสามารถเข้ามาชี้แจงได้ในวันดังกล่าว โดยทั้งหมดจะใช้เวลา 15 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 10 ชั่วโมง ที่เหลือคือรัฐบาล ซึ่งอาจจะบวกลบเวลาที่ประธานสภาจะใช้ด้วย โดยการอภิปรายดังกล่าวจะจบในวันที่ 9 กันยายนนั้นเลย จากนั้นในวันที่ 10 กันยายน จะประชุมวาระปกติ แต่มีวาระที่สำคัญคือ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. … จะนำผลการศึกษาของ กมธ. เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า สำหรับวันที่ 16-18 กันยายนนั้น จะมีการนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระที่ 2 และ 3 โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น.ไปจนเลย 24.00 น. ของทุกวัน แต่ต้องจบก่อนวันที่ 18 กันยายน เวลาเที่ยงคืน เพราะเป็นข้อตกลงกับวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาสามารถนำร่างนี้ไปพิจารณาก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 21-22 กันยายน และในวันที่ 23-24 กันยายน จะปิดสมัยประชุมสภา โดยการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทุกร่างทั้งของฝ่ายค้านและรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาของสภา ในวาระรับหลักการ โดยแบ่งเวลาให้แต่ละฝ่าย ฝ่ายละ 8 ชั่วโมง ทั้งนี้ รายงานการศึกษาของ กมธ. ที่เข้าสู่ที่ประชุมก่อนหน้าในวันที่ 10 กันยายนนั้น จะไม่มีผลต่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลที่เข้าสู่สภา แม้จะมีการพิจารณาคว่ำผลการศึกษาสภาก็ยังจะพิจารณาร่างที่เข้าสู่การประชุมเช่นเดิม แต่อาจจะมีผลในส่วนที่ผลการศึกษาได้มีการหมายเหตุหรือข้อสังเกตไว้ให้สภาพิจารณา ซึ่งสภาต้องเอาไปพิจารณาในชั้น กมธ.ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image