หน้า2 : ความเห็นต่าง‘พท.-ก้าวไกล’แก้ รธน. แนะ‘ยุทธศาสตร์’นำ‘กระแส’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ กรณีพรรคเพื่อไทยส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่พรรคก้าวไกลเสนอปิดสวิตช์ ส.ว.ตามมาตรา 272 พร้อมถอนชื่อ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

สิ่งสำคัญที่สุด ณ วันนี้ คือ เอกภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ เนื่องด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 ต้องอาศัยฉันทานุมัติจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. กระทั่งบางเรื่องต้องมีประชาชนร่วมด้วย

หากเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติ เมื่อกลไกเป็นเช่นนี้ ความเป็นเอกภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่ายจะต้องเกิดขึ้น

Advertisement

เมื่อฝ่ายค้านที่มีเจตจำนงแก้ไขรัฐธรรมนูญกันมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การขับเคลื่อนดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

วันนี้เราคงต้องกลับมาตั้งโจทย์กันใหม่ว่า เราจะเอายุทธศาสตร์เป็นตัวนำ หรือเอากระแสสังคมเป็นตัวนำ ถ้าเราจะเอากระแสสังคมเป็นตัวนำ

แน่นอนว่าแนวทางก็อาจจะต้องสอดคล้องกับพรรคก้าวไกล การใช้กระแสสังคมเป็นตัวนำอาจจะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ประสบความสำเร็จก็ได้

Advertisement

เพราะการปิดสวิตช์ ส.ว.ที่ค่อนข้างมาแรง ความเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก หากจะเสนอญัตติในลักษณะของการแก้ไขมาตรา 256 ควบคู่กับมาตรา 272 ก็มีโอกาสที่ ส.ว.จะไม่ลงมติเห็นชอบ เนื่องจากเป็นการเสนอญัตติที่มีลักษณะของการแตกหัก ด้วยกลไกมาตรา 256 ด้วยบริบททางการเมืองอีกหลายประการ อาจจะไม่ง่าย

ในขณะที่หากเราตั้งโจทย์โดยเอายุทธศาสตร์เป็นตัวนำ สิ่งสำคัญคือ ต้องเปิดประตูบานใหญ่ให้ได้เสียก่อน คือ มาตรา 256 เมื่อเปิดได้แล้ว กระบวนการแก้ไขในหลายประเด็น

รวมไปถึงเรื่องของ ส.ว.สรรหา หรืออำนาจหน้าที่ในการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 จะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง

และอาจจะมีการพูดถึงประเด็นอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้นกว่านี้ หากการเปิดประตูใหญ่ทำได้สำเร็จ การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะเกิดขึ้น

โดย ส.ส.ร.จะเป็นพื้นที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เป็นเวทีที่เปิดกว้าง ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น กระแสกดดันการทำงานของผู้คนในสภาก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีกครั้ง

กรณีนี้ สะท้อนให้เห็นภาพว่า กระแสสังคมไม่จำเป็นต้องรีบเร่ง และการมองในเชิงยุทธศาสตร์ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จเป็นไปได้สูงกว่า

เอกภาพของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องตกผลึกไปทีละขั้น ละตอน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยาก

เรื่องการเตะถ่วงไม่ใช่สิ่งที่น่าเป็นกังวลเพราะแก้มาตรา 256 ต้องกำหนดให้ชัดเจนถึงกรอบระยะเวลาการทำงานของ ส.ส.ร.ว่าจะต้องได้รัฐธรรมนูญแล้วเสร็จภายในกี่วันอยู่แล้ว

นอกจากนี้เกิดนายกรัฐมนตรีตัดสินใจลาออก หรือยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ และให้มีการโหวตโดย ส.ว.เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาอีกครั้งนั้น ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะแม้จะมีการยุบสภา หรือลาออกก็ตาม

แต่ ส.ส.ร.ที่ตั้งขึ้นยังคงอยู่ เพราะ ส.ส.ร.จะกลายเป็นองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่กระทบ ส.ส.ร.จะยังคงทำหน้าที่ตามกรอบเวลา และอำนาจหน้าที่ ที่ได้เสนอแก้ไข มาตรา 256 ต่อไป

นอกจากนี้ยิ่งมีการใช้เทคนิค หรือกลยุทธ์ทางการเมืองในลักษณะดังกล่าวจะยิ่งเป็นผลลบกับรัฐบาลด้วยซ้ำไป

และไม่ได้มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช.จะได้กลับเข้าสู่อำนาจอีก

แต่อย่าลืมว่าการเอากระแสนำยุทธศาสตร์ ท้ายที่สุดเมื่อเกิดความแตกหัก อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง

การพูดคุยกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล อาจต้องมีคณะก้าวหน้าเข้ามาคุยด้วย เพื่อหาทางร่วมกันในการเดินต่อ ให้เกิดเอกภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

เดิมทั้ง 2 พรรคตกลงกันไว้ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 ล่าสุด พรรคเพื่อไทยแสดงท่าทีจะคงไว้เหมือนเดิม แต่ต่อมาพรรคก้าวไกลตัดสินใจถอนชื่อออกจากญัตติเพื่อไปยื่นเอง โดยแก้ไขทั้งหมดไม่มีข้อยกเว้น ถ้าประเมินแล้ว 2 พรรคฝ่ายค้านพยายามแสดงท่าทีในการช่วงชิงการนำ

ขณะเดียวกันในพรรคร่วมรัฐบาลก็ออกชั้นเชิงเพื่อชิงการนำไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะเดินหน้าได้ยากมาก

โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่มีความหวังที่ปลายทางหรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หากการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมจะเริ่มจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและซีกรัฐบาล

ปัญหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ตกผลึก มาจากบางฝ่ายไม่ต้องการแก้ไขอย่างจริงใจ พรรคฝ่ายค้านจะร่วมกันหรือแยกกันยื่นก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติ

แต่การแก้ไขอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภา ซึ่งเกินเสียงปริ่มน้ำและอยู่ในโซนปลอดภัยจะร่วมแก้ไขด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีแกนนำพรรครัฐบาลบางคน เคยบอกชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา

การเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านหรือพรรครัฐบาล จะมองไปข้างหน้าถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะมาถึงอีกไม่นาน

เพราะฉะนั้นก็จะต้องออกมาแสดงท่าทีหรือสร้างกระแส เพราะการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นจะต้องหยิบยกพฤติกรรมการเมืองจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปใช้ในการหาเสียง และเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้มีข้อครหาว่าไม่จริงใจ

โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ฝ่ายค้านก็ออกมาเคลื่อนไหวเต็มที่ แต่จะสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องที่ยังไม่มีคำตอบ เช่นเดียวกันในพรรคร่วมรัฐบาลก็มีพฤติกรรมคล้ายกัน

ในอนาคตข้างหน้า 3 เดือน 6 เดือนคงไม่มีอะไรมากกว่าการยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่คืบหน้าหากรัฐบาลไม่เล่นด้วยเพราะคุมเสียงส่วนใหญ่ได้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ดังนั้นหากจะแก้ไขจริง ต้องมีแรงกดดันมาจากภายนอก หรือมีการทำประชามติว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างไร ดีกว่านั่งไปถกเถียงว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน 16 ล้านเสียง และอย่าวิตกว่าจะเปลืองงบ 2-3 พันล้าน เพื่อใช้แก้ปัญหาการเมืองเพื่อยุติความขัดแย้ง

อย่าลืมว่าวันนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกระแสที่จุดติดในการทำแฟลชม็อบที่มีเป้าหมายชัดเจน แต่ถ้าม็อบยืดเยื้อรัฐบาลก็ต้องทนรำคาญต่อไป หากไม่ยอมทำอะไรที่มีความคืบหน้า สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการที่จะสรุปข้อแสนอแนวทางการศึกษาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นแค่การยื้อเวลา

ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จากท่าทีของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในกรณีการยื่นญัติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนจะมีความแตกต่างจนถูกมองว่าเป็นรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้าน

โดยส่วนตัวมองว่าการตัดสินใจของแต่ละพรรคล้วนเกิดขึ้นจากการประเมินทางการเมืองบนพื้นฐานการหารือและการพูดคุยภายในพรรค

การตัดสินใจของพรรคเป็นผลของการลงมติภายในของสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคตามหลักการประชาธิปไตย

ดังนั้นแม้เป็นพรรคฝ่ายค้าน ก็อาจเห็นต่างกันได้ และไม่ได้หมายความว่าข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป

เมื่อพิจารณาถึงบรรทัดฐานร่วมระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เชื่อว่าทั้งสองพรรคยังเห็นพ้องกันว่าการแก้ไขวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบันต้องดำเนินการด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

แต่สิ่งที่ต่างกันเป็นเพียงในแง่กระบวนการและหลักการสำคัญในบางมาตรา ที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลอาจยังไม่ตกผลึกร่วมกัน

ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นรอยร้าวและความไม่ลงรอยกันของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงอยากให้ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ถอยกลับมาที่บรรทัดฐานร่วมกันที่จะมุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน

จากนั้นให้กลไกของรัฐสภาเป็นตัวตัดสินรูปแบบและกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหากให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นตัวแสดงสำคัญในการวิพากษ์หลักการและมาตราที่ต้องการปรับปรุงแก้ไขให้กฎหมายสูงสุดของประเทศไทยมีความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน

ทางออกที่สำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น อยากให้ประเทศไทยนำหลักการการร่างรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐอินเดียมาปรับใช้ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้เพียงฉบับเดียวมากว่า 70 ปี นับแต่ประกาศใช้ โดยรัฐธรรมนูญของอินเดียมาจากพูดคุยหารือของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากผู้แทนจากทุกภูมิภาคของอินเดียตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ภายใต้การนำของ ดร.อัมเบดการ์ ซึ่งผสานความทุกข์ยากของบุคคล วรรณะล่างของสังคมผนวกกับประสบการณ์และแนวคิดของชนชั้นนำที่ ดร.อัมเบดการ์ ได้รับจากการศึกษาจากต่างประเทศ ทำให้รัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นธรรมกับทุกชนชั้นในสังคม

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญของอินเดียยังเปิดโอกาสให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตราได้ หากสภาพสังคมหรือสถานการณ์ของประเทศมีการเปลี่ยนแปลง

ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ หาได้เป็นการยกเลิกเพื่อเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด

พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ควรผนึกกำลังร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเบื้องต้นให้ได้ก่อน

และไม่เพียงหาแนวร่วมสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น ควรชี้ให้พรรคฝ่ายรัฐบาลเห็นพ้องร่วมกันว่า ถ้าจะหาทางออกให้ประเทศ การหันมาใช้กลไกของรัฐสภาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

สถานการณ์คงจะร้าว แต่ไม่ถึงกับแตกหัก เพราะอย่างไรฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลต่อไปในระบบกลไกรัฐสภา

อาจเป็นเพียงประเด็นในเรื่องของความไม่เห็นด้วยในแนวทาง เพราะเพื่อไทยออกตัวชัดว่า อย่างไรในขั้น ส.ว.ก็ไม่ผ่านอยู่แล้ว เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้ ส.ว.

ซึ่งทางพรรคก้าวไกลมองว่า ในเรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ ก็ต้องยื่นไปก่อน เป็นการมองคนละมุม

แต่ทั้ง 2 พรรคมองเห็นอยู่แล้วว่า อย่างไร ส.ว.ก็เป็นอุปสรรคแน่ๆ เพียงแต่คนหนึ่งบอก “ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร” อีกคนบอก “แล้วจะยื่นไปทำไม ในเมื่อรู้ผลอยู่แล้ว”

ต้องไม่ลืมว่าปัญหาตอนนี้คือ การแก้ไขเพื่อไม่ให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ตัวรัฐธรรมนูญเอง ดันกำหนดให้ ส.ว.ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อเพื่อไทย ก้าวไกล หรือพรรคร่วมรัฐบาลเองก็มองว่า ส.ว.อุปสรรค กล่าวคือ ทุกคนมองว่า ส.ว.เป็นอุปสรรคในระบบการเมือง แล้วจะทำอย่างไร

มันเป็นเรื่องของป๊อปปูลาร์ด้วย ก้าวไกลมองจากฐานของมวลชนที่ตอนนี้ออกมาเรียกร้องให้ ส.ว.ไม่มีสิทธิโหวตนายกฯ

เพื่อไทยเองก็มีกองเชียร์หนาแน่นอยู่ ทั้ง 2 พรรคได้ประเมินดูแล้วว่า แนวทางไหนน่าจะเหมาะกับพรรคของตัวเองมากที่สุด

อย่างไรก็ดีเชื่อว่าสถานการณ์ไม่น่าจะบานปลายอะไร ไม่กระทบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อสุดท้ายหาจุดร่วมกันได้

ตอนนี้อยู่ที่การปรับจูนกันให้ดีเพื่อหาจุดตรงกลางที่จะไปด้วยกันได้

หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ควรแก้ แต่ควรจะต้องรื้อทิ้ง แล้วร่างใหม่ให้อยู่ในกระบวนการที่ชอบด้วยนิติรัฐ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

นักการเมืองไม่มีมิตรแท้ หรือศัตรูถาวรทางการเมือง บางทีอาจจะขัดใจอะไรกันไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ขนาดไม่เผาผี

เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ปลายทางก็รู้อยู่แล้ว ส.ว.ต้องคว่ำ

ประเด็นที่ใหญ่คือ จะทำอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มีปัญหามากกว่า ทำอย่างไรจะร่างใหม่ได้ ที่สำคัญกว่าการจะแก้อะไร ผ่าน ส.ว.อย่างไร คือ กลไก ส.ส.ร.

และการจะไปรวมกำลังกันมาทำรัฐประหารหรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image