ยูเอ็น เรียกร้องรัฐเอาผิด การบังคับให้สูญหาย ชี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด

ยูเอ็น เรียกร้องรัฐเอาผิด การบังคับให้สูญหาย จี้ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐเอาผิด การกระทำให้สูญหายโดยถูกบังคับ และให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา เนื่องในวันผู้สูญหายสากล 30 สิงหาคม 2563 ว่า

สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มีความกังวลต่อรายงานการสูญหายโดยถูกบังคับที่ยังคงเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเรียกร้องให้รัฐในภูมิภาคเอาผิดการกระทำอันเลวร้ายอย่างมหันต์นี้อย่างเร่งด่วน และให้ความสำคัญในการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เป็นลำดับแรก

“ถึงเวลาแล้วที่อาชญากรรมอันร้ายแรงนี้ จะยุติลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐจำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ด้วยการรับรองกฏหมายภายในประเทศที่เป็นไปตามบรรทัดฐานและมาตรฐานสากล และด้วยการบังคับใช้อนุสัญญาฯ อย่างครบถ้วน ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกลไกทางสถาบันภายในประเทศที่เหมาะสมเพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาการกระทำให้สูญหาย” ซินเธีย เวลิโก้ ผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเทพมหานคร กล่าวในแถลงการณ์เนื่องในวันผู้สูญหายโดยถูกบังคับสากล

Advertisement

ประเทศกัมพูชา เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับดังกล่าว ประเทศอินโดยนีเซีย สาธารณรัฐประชาชนลาว และประเทศไทย เป็นอีกสามประเทศที่ได้ลงนามในอนุสัญญาฯ แต่ยังไม่ได้เข้าเป็นประเทศภาคี

คณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ ซึ่งมีอาณัติในการช่วยเหลือครอบครัวในการติดตามชะตากรรม และที่อยู่ของผู้สูญหายได้บันทึกกรณีการสูญหายโดยถูกบังคับ ซึ่งยังไม่ได้รับการคลี่คลายอย่างน้อย 1,301 รายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดมาจากประเทศฟิลิปปินส์ ในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา มีรายงานการสูญหายโดยถูกบังคับในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซียยังคงเผชิญกับร่องรอยแห่งการสูญหายทางประวัติศาสตร์ในอดีต ซึ่งรวมถึงกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศติมอร์-เลสเต

“การสูญหายโดยถูกบังคับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด เท่าที่จะกระทำได้ ทั้งพรากการรับรู้ชะตากรรมของคนที่เขารักจากครอบครัวไปตลอดกาลในหลายครั้ง” เวลิโก้ กล่าว

Advertisement

“ครอบครัวมีสิทธิที่จะได้รับรู้ และนั่นเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลทุกประเทศในการคลี่คลายกรณีเหล่านี้อย่างเร่งด่วน วางกลไกเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ และปฏิบัติตามพันธะกรณีที่มีตามกฎหมายระหว่างประเทศ”

อนุสัญญาฉบับนี้ได้ให้นิยามการสูญหายโดยถูกบังคับว่า หมายถึง “การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใดๆ ก็ตามที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งดำเนินการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย” อนุสัญญาฯ ได้ระบุไว้ว่า บุคคลจะถูกกระทำให้สูญหายโดยถูกบังคับไม่ได้โดยไม่มีข้อยกเว้น แม้กระทั่งในภาวะสงคราม และระบุไว้อีกว่าการกระทำนี้ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หากมีการดำเนินการอย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจเจกชนตกเป็นเป้าหมายจากการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และชุมนุมโดยสงบ ผู้สูญหายมีตั้งแต่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางการเมืองและสิ่งแวดล้อม ผู้วิพาษณ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ทนาย และนักข่าว

“การพ้นผิดลอยนวลจากการกระทำอันเลวร้ายนี้จะต้องยุติลง การสอบสวนอย่างทันท่วงที และน่าเชื่อถือต้องเกิดขึ้น ผู้กระทำผิดจะต้องถูกระบุตัวตนและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ครอบครัวต้องได้รับสิทธิในการได้รับการเยียวยา” เวลิโก้ กล่าว

“ไม่ควรมีความล่าช้าในการทำให้การกระทำผิดนี้ ต้องได้รับโทษทางกฎหมายในประเทศใดอีกแล้ว รวมถึงมาตรฐานทางกฎหมายที่รับรองการเปิดเผย ความโปร่งใส และความรับผิดชอบอย่างครบถ้วนแก่บุคคลทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ”

สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเทพมหานคร มีความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับรัฐเพื่อให้จุดมุ่งหมายเหล่านี้บรรลุผลอย่างครบถ้วน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image