สินเชื่อสู้โควิด : ที่ยังมองที่สินมากกว่าเชื่อ โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สินเชื่อสู้โควิด : ที่ยังมองที่สินมากกว่าเชื่อ

บทความโดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

“นับแต่ 5 มิถุนายน 2563 ที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่ารัฐสภาได้ผ่านพระราชกำหนดเร่งด่วนที่ให้อำนาจธนาคารกลางของไทยเข้าช่วยเหลือทางการเงินแก่SMEและเข้ารักษาสภาพคล่องทางการเงินของสถาบันการเงิน นั้น

ถึงวันนี้ เวลาผ่านไปจะสามเดือนพอดี

สิ่งที่ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวเดินทาง และที่เกี่ยวเนื่อง บอกเล่าจับความได้ว่า ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

Advertisement

นี่ไม่นับกลุ่มที่ยื่นขอสินเชื่อไว้ตั้งแต่ต้นปี

แม้ไม่มีคำตอบว่าไม่ให้สินเชื่อ แต่การขอดูเอกสารหลักฐานต่างๆเพิ่มไปเรื่อยๆ ดูสัดส่วนทุน ดูกำไรย้อนหลัง ดูการเสียภาษี ดูออเดอร์ย้อนหลัง ดูเอกสารสินทรัพย์ ดูสารพัดจะนึกกันได้ออก

ถ้ารอมานานขนาดนี้ ก็คงอนุมานได้ว่า คงไม่มีคำอนุมัติสินเชื่อมาแล้วกระมัง

Advertisement

ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจึงเงียบเสียง หายไปจากวงการอย่างเงียบๆ

และกำลังจะทยอยตามไปเรื่อยๆ

มัคคุเทศก์จัดเปิดตลาดขายของใช้ นักบินและแอร์โฮสเตท ผัดกับข้าว ทำไอติมขาย นั่นบอกว่าสภาวะต่อสู้เพื่อชะลอการเปลี่ยนอาชีพแบบไปไม่กลับยังมีนะแต่ก็เหลือเรี่ยวแรงที่จะต้านทานน้อยลงเรื่อยๆ

สาระที่ผมไปบรรยายพิเศษในเวทีสัมมนาของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว ของวุฒิสภาเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาที่ โรงแรมรามาการเด้น จึงมีข้อเสนอต่อผู้ฟังแบบมีรสจัดกว่าปกติ

ผมถามดังๆออกมาว่า โลกยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมเดินทางท่องเที่ยวจะมีต่อมั้ยหลังโควิดเคลื่อนผ่านประวัติศาสตร์บทนี้ของโลกไป ไม่ว่ามันจะอยู่นานสอง สาม หรือ สี่ปี

ไทยเรามั่นใจมั้ยว่า ไทยจะยังมีอนาคตที่ดีด้านกิจการท่องเที่ยวหลังโควิดเคลื่อนผ่าน

ถ้าสองคำถามแรก ได้รับคำตอบว่า เชื่อมั่นอย่างจริงจัง

งั้นขอถามต่อว่าถ้าเชื่อมั่นได้ขนาดนั้น ระบบสินเชื่อ ก็น่าจะให้ราคากับคำว่าเชื่อ ไล่หลังมากับว่าสิน ดีมั้ย?

เพราะโลกของทุนนิยมให้น้ำหนักกับคำว่า”สิน” เป็นเริ่มต้นมาเสมอ

แต่ถ้าคบกับผู้ให้กู้ไปได้นานพอ คำว่า”เชื่อ “จึงจะตามๆมา

แต่ไซส์ของมหาสึนามิจากโควิด19ต่อเศรษฐกิจโลกมีทั้งความแรง แถมมีเป็นระลอก และมีหน้าคลื่นกว้างที่กวาดทั้งโลกให้เปียกปอนไปในเวลาสั้นๆเกือบพร้อมกัน

ผู้ฝากเงินทั่วโลกในเวลานี้ต่างอยู่ในสภาพที่ดอกเบี้ยแบนติดพื้น แต่ก็ไม่กล้าถอน
นักลงทุนชะลอการตัดสินใจ ไม่ปล่อยเงินออกไปทำงาน เพราะอยากให้มั่นใจก่อนว่ามีความเสี่ยงเหลือน้อยพอที่จะยอมรับได้

เงินที่ควรหมุนเวียนไปสร้างกิจกรรมการพัฒนา ไม่ว่าจะเพื่อ rebuild rebrand reskill upskill reboot rebound recovery redistribute แม้แต่จะ refuel และ refund ก็ หนืดไปหมด

ทั้งหมดนี้ จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้ายังไม่มีการ rethink แล้ว reform

ผมเริ่มเห็นออมสินและกรุงไทยขยับออกจากวิธีเดิมๆบ้างแล้ว

ชื่นชมครับ

จำได้ว่าผู้บริหารเคยอธิบายกับผมไว้ว่า รีบเข้าไปลองทำอะไรใหม่แม้จะทำแล้วไม่ถูกเผงก็ยังดี เพราะจะได้เปลี่ยนวิธีใหม่อีกให้ได้เร็ว ๆ

แปลว่า ไม่รอ

ชีพจรของผู้อยู่ใน supply chain ของท่องเที่ยวเดินทางกำลังแผ่วจนจะหมดลม

และในหลายเตียงหลาย ward ก็ดับไปแล้ว

เราจะเหลือนักสู้ทางเศรษฐกิจสักเท่าไหร่ในวันที่โควิดเคลื่อนผ่านไปล่ะครับ

ในเมื่อก่อนโควิดมาถึง เราอาศัยฝีพายในอุตสาหกรรมนี้ถึง20%

สินเชื่อ จึงเหมือนถุงน้ำเกลือที่ต้องให้ไปเรื่อยหลายๆขวดในวันที่รอให้โควิดเคลื่อนผ่านออกไป

ท่องเที่ยวกันเองจากตลาดในประเทศ แม้เดินเครื่องได้สัก 40% ก็คงจะเครื่องติดอยู่สักพักเดียว ช่วงนี้เหมือนจะคึกคักขึ้น แต่นั่นเพราะชดเชยที่ถูกล้อคดาวน์กันมา

ได้ออกมาระบายสักรอบสองรอบก็จะเริ่มหวนไปออมในครัวเรือน เพราะทุกครัวเรือนก็ต้องมีพลังสำรองสู้โควิดไปอีกนับปี

ที่พอจะออกมาได้ก็ต้องเป็นจังหวะวันหยุดยาว
เพราะจะไปกันด้วยการขับรถไปกันเอง ดังนั้นถ้าบ้านนี้มีรถคันเดียว ใครเอารถไป สมาชิกที่เหลือก็ย่อมไปด้วย

แหล่งท่องเที่ยวในสองสามชั่วโมงขับรถจึงพอจะได้รับพลังจากไทยเที่ยวไทยบ้าง แม้อาทิตย์ละสองวันก็ยังดี

แต่เมืองท่องเที่ยวที่อยู่ห่างๆออกไปอย่างจังหวัดสายอันดามัน สมุย ล้านนา อีสานเหนือ อีสานใต้ ล้วนอยู่ในสภาพแห้งผากจะขาดใจ

การเปิดเที่ยวบินพาชาวต่างชาติตรงเข้าภูเก็ต สมุย แม้หากทำได้สำเร็จในเร็ววัน แถมได้รับความร่วมมือเชื่อมั่นจากคนท้องถิ่นและคนไทยในที่อื่นๆก็เถอะ ยังไงรายรับก็แค่พอให้ไม่ล้มพับ แต่ที่จะหวังมีกำไรมาปันมาแบ่งหรือมาคืนเงินกู้คงยาก

เพราะจากรับคนหลักแสนต่อเดือน เหลือหลักพันคนต่อเดือน คงได้เห็นกิจกรรม แต่ไม่เห็นการหมุนเวียนขนาดใหญ่สักเท่าไร

แต่ก็ควรพยายามทำครับ ขอให้รักษาวินัยให้ดีได้ยาวๆก็แล้วกัน

แต่ถ้าลองพิจารณาปรับปรุงกติกา

ให้สถาบันการเงินที่รับสินเชื่อเสริมสภาพคล่องจากธนาคารกลาง ยังไม่ต้องรีบส่งผ่อนเงินต้นหรือส่งดอกเบี้ยให้ธนาคารกลางสักสามปี หรือเท่าที่โควิดโลกยังระบาดกันอยู่ในตลาดหลักๆของท่องเที่ยวไทย

แต่เปลี่ยนจากส่งดอกเป็นส่งผล

คือผู้กู้ทุกรายมีหน้าที่ต้อง รักษาการจ้างลูกจ้างที่upskill reskill สำเร็จ
ปรับปรุงระบบบัญชี ระบบการตลาด ระบบจองระบบจ่ายออนไลน์ ระบบความปลอดภัย ความได้มาตรฐาน พัฒนาอารยสถาปัตย์ ทำ universal design เตรียมไว้รับกลุ่มบูมเมอร์ และเจนx จากตลาดไทยและสากลที่เป็นกลุ่มซึ่งออมเงินมาตลอดชีวิตและมีแนวโน้มที่จะเดินทางทั้งครอบครัว พาคนสูงอายุอายุ70อัพ มาเยือนไทยในอีกไม่ช้า เตรียมรับกลุ่มหนีหนาว หนีโควิดเฉพาะถิ่นของตัวเองออกมา เตรียมรับหนุ่มสาวเจนวายและเจนซูมเมอร์ที่มาออกกำลังกาย เล่นปีนว่ายวิ่งว่ายพายถีบผจญภัยกัน กลุ่มที่มารักษาบำบัดสุขภาพ กลุ่มมาเรียนยาวๆ ทั้งเรียนความรู้และเรียนสมาธิ

อีกทั้งควรกำหนดให้ผู้กู้ยังมีภาระที่ต้องสร้างระบบกำกับและพึ่งพิงกันเองในระดับพื้นที่ที่จะไม่ทำให้กลายเป็นการแข่งขันตัดราคากันอย่างอดีต

ผู้กู้มีหน้าที่ไปร่วมกันใช้ระบบการตลาดออนไลน์ที่จะไม่ถูกบีบคอได้ง่ายๆ มีพัฒนาการประหยัดพลังงานและน้ำดิบ หรือลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลดความกระทบกระทั่งทางสังคมเป็นต้น

ถ้านี่คือสิ่งที่เป็นยุทธศาสตร์การแข่งขันได้อย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรีร่วมกันของชาติเรา

ผมก็คิดอยากชวนให้ระบบสินเชื่อจากธนาคารกลางและสถาบันการเงินมากลั้นใจจับมือดำน้ำนำหมูป่าสายกิจกรรมท่องเที่ยวเดินทางของเรา ออกจากถ้ำมืดที่ลึกล้ำและยาวนี้ไปด้วยกัน

หรือแม้แต่อาจใช้ venture capital เข้าถือครองหุ้นบางส่วนของบางsectorเพื่อแทนเงินกู้ยืม หรือแปลงสินทรัพย์เป็นทุนจดทะเบียนของผู้กู้เพื่อให้สัดส่วนเงินกู้มีโอกาสได้รับการอนุมัติได้มากขึ้น

ที่ไอซ์แลนด์ ที่สเปน ซึ่งเศรษฐกิจของชาติต้องอาศัยจากสายงานท่องเที่ยวใกล้เคียงกับที่ไทยใช้อยู่นั้น มีแพคเกจออกมาหลายระลอก และบางระลอกก็ให้กู้ถ้วนหน้า10%ของทุนจดทะเบียนกิจการเพื่อสกัดการเลิกจ้าง เป็นต้น

คงจะน่าเสียดาย ถ้าในวันที่โควิดผ่านไป เราจะเหลือแต่ทุนต่างชาติทำธุรกิจท่องเที่ยวแทนผู้ประกอบการของไทยไปเสียหมดแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image