นักวิชาการแนะทางออก แก้เกม ‘ข้ออ้าง’ รธน. 60 ชิง ‘ทำประชามติ’ ก่อน-ย้อนใช้ฉบับปี 40 ชั่วคราว

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดงานเสวนาวิชาการ “ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย: ไม่แก้ไข เขียนใหม่เท่านั้น” เพื่อเป็นเวทีในการสรรค์สร้างสังคมประชาธิปไตย และหาทางออกเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วม

เวลา 13.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ในมุมมองนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย”

รศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุที่ต้องยกร่างทั้งฉบับ เพราะมาตราต่างๆ ถูกโยกจนสร้างสังคมอีกแบบขึ้นมา จำเป็นต้องให้ความเห็นพ้องต้องกันมากที่สุดของคนในสังคม ไม่ใช่คนที่มีอำนาจกระจุกตัว

สิ่งสำคัญที่สุดคือ 1.รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อประชาชน แต่ดีไซน์มาเพื่อใครบางคน ไม่ว่าจะองค์กรอิสระ หรือความเสื่อมถอยของกระบวนการยุติธรรม สถาบันทางสังคมที่ดำเนินอยู่เริ่มเสื่อมถอย ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีเสรีภาพ และยึดถือหลักการต่างๆไม่ได้  มีการประดิษฐ์คำใหม่ๆ เพื่อใช้ในการสร้างความชอบธรรมในการตีความเหล่านั้น เช่น บัตรเขย่ง หรือการถวายสัตย์ไม่ครบ ก็ให้เหตุผลเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนสองกลุ่ม ดำเนินการด้วยเรื่องทางการ ทำสิ่งต่างๆ ได้จากการตีความของเขาเอง

Advertisement

มีการตีความเรื่องทรัพยากร กำลังคน กำลังทหาร สถาบันชาติถูกทำให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัว ตามความพึงพอใจ นี่คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญ 60 ดีไซน์ขึ้นมา การให้เหตุผล เลือกนายก กลายเป็นนิยามใหม่ของ ส.ว. หน้าที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีให้มีอำนาจต่อไป

2. ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมทหาร ที่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาสูงสุด กฎระเบียบไม่เท่ากับคำสั่งของผู้บังคับบัญชา สั่งห้ามโต้แย้ง ถูก-ผิดไม่ต้องคิด แต่ต้องทำ เราจะพบคำว่า ‘ความมั่งคง’ 17 คำ ในรัฐธรรมนูญ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ 10 คำ ‘สิทธิของประชาชน’ มี 2 คำ หมายความว่าเป็นไปเพื่อความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก และความมันคงนี้้เองที่ทำให้ทหารสอดแทรกเข้าไปในทุกระดับของสังคม

“การให้สิทธิ เสรีภาพกับประชาชน อยู่ภายใต้เงื่อนไขความมั่นคงของรัฐ เมื่อคุมไว้ แค่นี้ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะการชุมนุม ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับความมั้นคงของรัฐ การตรากฎหมายเช่นนี้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่คุ้นเคยคือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ออกมาเป็นประกาศ เพื่อไม่ให้กระทำ หรือสั่งให้ทำ ทหารเข้าไปแทรกแซงการจัดการที่ดิน ทรัพยากร ไม่ให้ใช้น้ำ ที่ใช้อำนาจนี้ได้ เพราะ พ.ร.บ.ความมั่งคงภายในราชอาณาจักร ให้อำนาจกับ กอ.รมน. โครงสร้างของทหารแทรกแซงในกระบวนการจัดการความมั่นคง ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น แผนแม่บทที่ทำลายทรัพยากร อย่าง ‘ทวงคืนผืนป่า’ เอาคนออกจากป่า ซึ่งไม่เป็นข่าวเพราะถูกสกัดกั้นตั้งแต่ในพื้นที่ คือกระบวนการแทรกแซงในทุกระดับ ซึ่งกระทบกับชีวิตประจำวัน บางคนมีเอกสารสิทธิ์ลักษณะให้ยืมใช้ ก็ประกาศทับที่ชาวบ้าน ให้บริษัทเข้าไปจัดการในรูปแบบสัมปทาน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ เข้าไปควบคุมชาวบ้านไม่ให้มีปาก มีเสียง หรือออกมาชุมนุม นี่คือเรื่องหลักที่เขาพูดด้วยอารมณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างมาก”

Advertisement

รศ.ดร.สามชายกล่าวต่อว่า คำสั่งที่ลงมา ทำให้กระบวนการดำเนินไปจนหลักการต่างๆ สั่นคลอน ทหารเข้าไปแทรกแซงในแง่การเคลื่อนไหว ซึ่งมีช่วงที่เข้าไปในห้องเรียนด้วยซ้ำ แต่มีหลายกรณีที่สะท้อนว่า ในห้องเรียนไม่มีใครเป็นสลิ่ม มีแต่ครูเป็นสลิ่ม มีกระบวนการที่เชื่อมโยงกับวิธีคิดของทหาร ด้วยคำว่า วินัย เมื่อผลิตครูแบบนี้ เยาวชนก็ถูกกดทับ นี่คือภาพสะท้อนจากการกดทับไว้นาน 10 กว่าปีที่ผ่านมาทำให้เขาออกมาเรียกร้อง เพราะพึ่งพาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ได้

ลามไปถึงระบบในมหาวิทยาลัย ปลูกฝังอำนาจนิยมต่อไปเรื่อยๆ เกิดกระบวนการวิปริต เหมือนทหารในบ้านที่จัดการทุกอย่าง แพทย์ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือคน กลับไปทำหน้าที่ไล่ล่าคนเห็นต่างกับตัวเอง ตั้งองค์กรไล่ลา ตำรวจแทนที่จะรักษาความปลอดภัย กลับไปคุกคาม เฝ้านักศึกษาหน้าหอพัก จนต้องจัดเวรยามมาดูแลกันเอง เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย เครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่งกลายเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ บ้านกะเหรี่ยง 200 กว่าปี ที่ถูกเผา เรือดำน้ำเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ คือความวิปริตที่เราพูดไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะรัฐธรรมนูญเขียนยึดโยงไว้ ทั้ง มาตรา 3 มาตรา 6 มาตรา 7 ซึ่งสิทธิอำนาจ ต้องมากับหน้าที่ หน้าที่ต้องมากับความรับผิดชอบ แต่ผู้มีอำนาจไม่เคยรับผิดชอบ นี่คือปัญหา

รัฐธรรมคือตัวแบ่งอำนาจชัดเจน ไม่มีองค์กรใดเหนือรัฐธรรมนูญ ที่คณะราษฎรวางบรรทัดฐานไว้ แต่ ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่ นี่คือรัฐธรรมนูญนิยมเผด็จการ โดยใช้วาทศิลป์ แต่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของประชาชน เพื่อประชาชน

“ข้อเสนอที่ทำได้เร็วสุด คือ การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที ใช้เสียงของประชาชน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอธิปไตย ที่เป็นของประชาชน แสดงเจตจำนงแก้ไข เสียงออกมาเป็นอย่างไร ให้ผู้แทนดำเนินการให้เป็นไปตามผลการประชามติ คาดการณ์ว่า ส.ว.ก็ต้องทำตามเสียงประชามติจะได้หมดข้ออ้างว่า รัฐธรรมนูญ 60 ผ่านการทำประชามติ ก็เริ่มที่ทำประชามติก่อนเลย โดยอาจใช้ รัฐธรรมนูญ 40 ชั่วคราวไปก่อน ยุบสภา และจัดการเลือกตั้ง ให้มี ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” รศ.ดร.สามชายกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image