ภารกิจ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ปั้นรัฐธรรมนูญ “ลูกนอกสมรส” ถึงจะแพ้-แต่ต้องอยู่จนครบเกม

นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ (แฟ้มภาพ)

ภารกิจ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ปั้นรัฐธรรมนูญ “ลูกนอกสมรส” ถึงจะแพ้-แต่ต้องอยู่จนครบเกม

ชื่อ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ที่ผ่านมามีบทบาทร่วมเขียนรัฐธรรมนูญ ให้ฝ่ายมีชัยในเกมรัฐประหาร แทบทุกครั้ง

เป็นทีมที่ปรึกษา-รัฐมนตรีด้านกฎหมาย ให้รัฐบาลมาแล้ว 11 รัฐบาล นับตั้งแต่ยุค สัญญา ธรรมศักดิ์ ถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เหตุผลที่ต้องเขียนกติกาให้ฝ่ายมีชัย ได้ไปต่อ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับ 2559) “มีชัย” บอกว่า

“เราเขียนเพื่ออนาคต พวกปัจจุบันไม่ได้เขียนอะไรไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเลย มามีเขียนไว้แต่ตัวบทเฉพาะกาล ซึ่งจำเป็นต้องเขียนเพื่อรองรับช่วงก่อนรัฐบาลใหม่…เขียนให้เขารับหน้าที่อยู่ต่อจนกระทั่งส่งมอบ ไม่ใช่ทิ้งไว้กลางคัน”

Advertisement

เพราะกติกาใน “บทเฉพาะกาล” ผูกปมให้ คสช. ในฐานะ “ผู้ชนะ” ยังเป็นดุลอำนาจที่สำคัญ ในการกำหนดชะตาฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติไปอย่างน้อย 2 สมัย อาจเป็นเหตุให้ฝ่ายการเมือง-ปัญญาชน กังวลวาระสืบทอดอำนาจ และอาจเป็นอุบัติเหตุให้ร่างรัฐธรรมนูญ “พลิก-คว่ำ”

“มีชัย” ไขคำตอบว่า “ในบทเฉพาะกาลของเรามีเพียงแต่ประเด็นเรื่องที่มา ส.ว. ซึ่งทาง คสช. อยากให้มาดูแลเรื่องปฏิรูป คิดว่าเป็นเหตุผลพอที่รับได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ถ้าทำพรวดพราดไปแล้วเกิดความเสียหายจะลำบาก”

“การปฏิรูปเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องการเห็น ให้ ส.ว. ดูแลรัฐบาล ถ้าไม่ทำก็เตือนสติเท่านั้นเอง เรื่องใหม่อีกประเด็นคือ พรรคการเมืองจะต้องประกาศรายชื่อนายกฯ 3 คนก่อนเลือกตั้ง เราเขียนเป็นครั้งแรก”

Advertisement

“จึงเขียนบทเฉพาะกาลรองรับว่าถ้ามันเกิดขึ้นอย่างนั้นจริงๆ ส.ส. เกิดคิดว่าทำไม่ได้ ก็ให้มาประชุมร่วม ส.ส. และ ส.ว. ถ้าที่ประชุมร่วมบอกว่าโอเค…ยกเว้นให้ ก็จะได้ยกเว้นว่าไม่ต้องเอานายกฯ มาจากบัญชี 3 รายชื่อ จะเอามาจากที่ไหนก็แล้วแต่ แล้วก็กลับไป ส.ส. เลือกกันเอง”

“ที่เราบอกว่าบิดเบือน เพราะไปบอกให้ ส.ว. เลือกนายกฯ นั่นมันคือคำถามพ่วงประชามติ จะผ่านหรือไม่ผ่านก็ยังไม่รู้ มันคนละอันกัน”

“มีชัย” ปฏิเสธทั้งภาษากาย-ภาษากฎหมาย ว่าการออกแบบ “คำถามพ่วง” ไม่ได้มาจากฐานคิด “ล็อกขาเก้าอี้ให้นายกฯ คนนอก” ล่วงหน้า

“เพราะเราเขียนไว้ชัดให้พรรคการเมืองประชุมพรรคแล้วเลือกคนที่จะมาเป็นนายกฯ กันเอง ถามว่าทำไมไม่เขียนเลยล่ะว่าให้นายกฯ มาจาก ส.ส. คำตอบคือ วันที่พรรคการเมืองประกาศชื่อคนที่จะมาเป็นนายกฯ ของพรรค มันยังไม่มี ส.ส. ไม่มีใครรู้ว่าใครจะได้เป็น ส.ส. เท่าไร”

“ถ้าเราใจเหี้ยมนะ บังคับนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. พรรคบางพรรคระเนระนาดเลย เพราะคนที่จะมาเป็นนายกฯ ของพรรคแต่ละพรรคมักอยู่ในบัญชีรายชื่อ แม้บอกว่ายังไงก็ต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งและได้เป็น ส.ส. แน่ ถามว่ารู้ได้ไงว่าจะได้ เพราะถ้า ส.ส.เขต ได้เกินสัดส่วนที่พรรคพึงมี จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย”

ในโค้งสุดท้าย-แยกอันตราย ก่อนลงประชามติ “มีชัย” ในฐานะหัวโขน 1 ในคณะ คสช. ยังเชื่อมั่นว่า เมื่อเลือกตั้งจบ จนกว่ารัฐบาลใหม่จะมา คสช. ก็ไป รัฐธรรมนูญก็เขียนตามโรดแม็ป ไม่ได้มีที่ไหนให้เขียน คสช. อยู่ต่อเลย ทันทีที่รัฐบาลใหม่รับหน้าที่ คสช. และ สนช. ก็ไปหมด

แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านด่านประชามติ คสช. จะยังมีความชอบธรรมที่จะได้ไปต่อ เพราะเข้า “เดดล็อก” ข้อนี้ “มีชัย” เห็นว่าเป็นคนละความหมาย “ไม่ใช่ชอบธรรมหรอก เป็นหน้าที่ จะให้ทิ้งไปเหรอ ใครก็ขึ้นไปไม่ได้ ยกเว้นจะไปปฏิวัติเขามา แล้วจะทำยังไง”

“มันทำไม่ได้ ถ้าไม่ทำให้มีช่องทางไป ใช่ว่าอยู่ๆ พรรคการเมืองจะฟื้นคืนขึ้นมาแล้วขึ้นไป ใครเขาจะรับล่ะ”

เสียงที่ดังขึ้นรอบทำเนียบ-ก้องทั้งรัฐสภา ว่าถ้าเกมร่างรัฐธรรมนูญเป็นเกมกีฬา คสช. แพ้แล้ว 2 เซ็ต ในเซ็ตที่ 3 ตามกติกาต้องออกจากสนาม-หรือไปต่อ “มีชัย” ยืนยันว่า “เป็นหน้าที่ที่เขา (คสช.) จะต้องทำให้ได้ จนกว่าจะสำเร็จลุล่วง ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ แล้วจะให้ทิ้งบอกไม่เอาแล้ว”

แม้ว่าจะแพ้-แต่ต้องอยู่จนครบเกม “ก็ต้องไปต่อ จนกว่าจะส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่ให้ได้ จะด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดก็ต้องส่งไม้ต่อ บ้านเมืองมันทิ้งไม่ได้นี่ ขนาดปกติถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เขาไล่ออกแล้ว ก็ยังต้องอยู่ต่อรอส่งไม้เพื่อรักษาการ”

ในฝ่ายบริหาร แน่ชัดว่าต้อง “อยู่ยาว” แต่ในฝ่ายกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ “มีชัย” ออกตัวว่า “เวลานี้ยังไม่รู้ว่ากระบวนการจะเป็นอย่างไร และยังไม่มีใครบอกได้ว่าทำอย่างไร”

คำถามที่ฝ่ายโลกสวย-สายโหด ตั้งโต๊ะต้องการคำตอบ คือ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ บ้านเมืองจะไปทางไหนต่อ?

“มีชัย” ตอบ “ถึงเวลาก็ต้องไปหาทางออก ผมเองก็ไม่คิด ผมอยากให้ประชาชนลงประชามติตามเนื้อหาของมัน ไม่ใช่ไปคาดการณ์ว่าจะเอาคนนี้มา คนนี้ไม่มา คนนั้นอยู่ คนนี้ไม่อยู่ ถ้ารัฐธรรมนูญนี้จะทำให้ประเทศไทยมีอนาคตแจ่มใส ก็รับมันไป เพื่อเดินข้างหน้าได้”

“สมมติว่าชอบรัฐธรรมนูญ ถูกใจแล้วล่ะ อยากให้คนนี้อยู่ต่อ อย่าเพิ่งไปรับมันเลย แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าอีกฉบับหนึ่งมาแล้วจะได้อย่างที่คุณต้องการ”

ทั้งพรรคการเมืองที่เคยเป็นแนวร่วม-บุคคลสำคัญในฝ่าย คสช. ผนึกกลายเป็นฝ่ายต้าน “มีชัย” ยกตรรกะ “รัฐธรรมนูญฉบับลูกนอกสมรส และเป็นซิงเกิลมัม” ขึ้นมาย้อนแย้ง

“คนที่บอกไม่รับร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ คือคนที่เคยออกมาบอกว่า ไม่รับตั้งแต่เรายังร่างไม่เสร็จด้วยซ้ำ ถึงร่างเสร็จก็ไม่รับ มันไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา เหมือนเด็กยังไม่เกิดมาแล้วบอกว่า…ไอ้นี่ไม่รับมันเข้าสังคมหรอก เพราะพ่อแม่ไม่ได้แต่งงานกัน”

“แต่วันนี้ ซิงเกิลมัม หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว มีทั่วไปไม่ใช่หรือ แล้วกลายเป็นสิทธิสากลไม่ใช่หรือ แม้กระทั่งสิทธิเพศเดียวกันก็ยังจะบอกให้เป็นสากลด้วยซ้ำไป”

ไม่ว่าประชามติจะลงเอยอย่างไร นักกฎหมายระดับพญาครุฑ จะยังเป็นที่ต้องการของฝ่ายมีชัย ในอำนาจ

“มีชัย” ในวัย 78 ปี ยกคำในเพลง “คนดีไม่มีวันตาย” มาต่อท้ายคำตอบ “คนเราไม่มีใครอยู่ถึงค้ำฟ้าหรอก ถึงเวลาก็ต้องไป มันกำหนดไว้อย่างไรก็ไปอย่างนั้น”

“ผมก็มีหน้าที่ของผม ถ้าราชการใช้ให้ผมทำ ผมก็ทำ แต่คนเรามีขีดความสามารถในทางอายุไข ถ้าอายุ 90 ผมก็เขียนไม่ได้แล้ว เพราะมันต้องการพลังจากมันสมองมาก ไม่ใช่น้อย ต้องคิดรอบด้าน นี่ก็คิดว่า ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ขีดความสามารถมนุษย์คนหนึ่งจะทำได้แล้ว”

“ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน ผมอายุมากแล้ว ผมไม่ mind ถ้าประชาชนบอกว่าทุจริตบ้างก็ได้ ก็เอาเถอะ บอกมาแล้วผมจะเขียนในร่างรัฐธรรมนูญเลย”

“รัฐธรรมนูญนี้เมื่อร่างแรกออกมา ก็เปิดให้เห็น พอร่างที่สองเราแก้เยอะถึงหนึ่งในสาม เพราะเราไปฟังเขามา ถ้ามีเหตุมีผลเราก็แก้ แต่พอเสร็จเรียบร้อยจะมาบอกว่าตรงนั้นดี ตรงนี้ไม่ดี มันแก้ไม่ได้แล้ว เราต้องเพียรพยายามอธิบายให้ฟังว่า ที่คุณคิดบางทีเข้าใจผิดนะ”

แม้อยู่ในฝ่ายมีชัยมากว่า 4 ทศวรรษ “มีชัย” สารภาพว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ควรเป็นฉบับสุดท้าย เพราะได้ใช้ทุกสรรพกำลังวังชามากที่สุด ตั้งแต่เคยร่างรัฐธรรมนูญมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image