“บิ๊กตู่”ลั่น กลางเวทียูเอ็น พร้อมเปิดให้ปชช.ประเมินผลงานรัฐบาล พร้อมรับฟังเสียงค้าน

“บิ๊กตู่”ลั่น กลางเวทียูเอ็น พร้อมเปิดให้ประเมินผลงานรัฐบาล ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ขับเคลื่อน-ฟื้นฟูประเทศ “เชื่อ” ท่ามกลางวิกฤตเราต้องรอด ยอมรับ เสียงวิพากษ์วิจารณ์หลังทำงานรูปแบบใหม่ “ประกาศ”พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเยาวชน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 31 สิงหาคม ที่ห้องเอสแคป ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดงานสัมมนา Global Compact Network Thailand และกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤต ประสบการณ์จากสถานการณ์โควิด – 19” โดยกล่าวตอนหนึ่ง ว่า ทราบว่า UN โกลบอลคอมแพ็ก เป็นโครงการหนึ่งของสหประชาชาติ ที่ส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกใช้นโยบายในการดำเนินกิจการโดยเน้นความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น พร้อมสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักการที่เป็นสากล 10 ประการของ UN โกลบอลคอมแพ็ก ทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นหลักการที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญด้วยอยู่แล้ว ยินดีที่ปัจจุบันสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยมีสมาชิกกว่า 50 บริษัทเข้าร่วมด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของรัฐบาลในการฟื้นฟูประเทศของเราให้ดีขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 และในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตระหนักดีว่า สิทธิมนุษยชนเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของสังคมและธุรกิจ การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญและปฏิบัติ รัฐบาลไทยจึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมุ่งหวังแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว ตนภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan: NAP) เมื่อปี 2562 โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก คือ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา ต้องขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศ รวมถึงสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยที่มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและสังคมไทย ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤต ประสบการณ์จากโควิด-19 ทุกคนคงเห็นเหมือนกันว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตระดับโลก ที่ไม่เคยประสบวิกฤตการณ์ที่รุนแรงเช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง เราต้องปรับตัวทั้งในการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจให้เป็นไปในรูปแบบ New Normal หรือ วิถีปกติใหม่ ดังนั้น ผู้นำในทุกองค์กร รวมทั้งภาครัฐบาลจึงต้องพร้อมปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่โลกใหม่ด้วย และไม่อาจทำงานในรูปแบบเดิมอีกต่อไป สำหรับรัฐบาลก็เร่งปรับปรุงวิธีการทำงานให้เป็นแบบ New Normal ตามแนวทางสำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย การผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมวางอนาคตของประเทศไทย ทุกภาคส่วนสามารถนำเสนอวิสัยทัศน์ และความคิดในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้รัฐบาลฟังได้ รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เพื่อทำหน้าที่ ติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของประชาชนในระดับพื้นที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเปิดให้มีการประเมินผลงานภาครัฐ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง ให้ทุกคนสามารถประเมินผลการทำงานของรัฐว่า ได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนตามที่เขาคาดหวังหรือไม่ เพื่อกำจัดสิ่งที่ทำแล้วไม่มีประโยชน์ออกไปให้ได้มากที่สุด

Advertisement

“ดังนั้น สิ่งที่ผมจะทำให้เกิดขึ้นเป็นอันดับต่อไปคือ สนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทในการประเมินผล และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของภาครัฐให้ผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลรับทราบโดยตรงได้ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ จะมีการทำงานเชิงรุก ทำงานให้บูรณาการระหว่างกัน และเป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น รัฐบาลจะกำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์ และการสร้างประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมให้แก่ประชาชน เพื่อให้กระทรวงต่าง ๆ นำไปต่อยอดให้เป็นรูปธรรม โดยตนจะติดตามโครงการสำคัญเร่งด่วนนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นจริง และมีประสิทธิภาพสูงสุด

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ เราจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ที่ผ่านมา ตนและทุกคนในรัฐบาล ข้าราชการ พยายามทำงานอย่างสุดความสามารถเพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด การช่วยเหลือผ่านมาตรการเยียวยาต่าง ๆ จนได้รับคำชื่นชมจากสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก และการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ ว่าสามารถบริหารจัดการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดและฟื้นตัวจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ซึ่งวิกฤตการณ์โควิด-19 ตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เพื่อให้รอดพ้นจากความท้าทายครั้งนี้ไปได้ รัฐบาลต้องดึงศักยภาพของประเทศออกมาใช้  โดยระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เข้ามาช่วยขับเคลื่อนการฟื้นฟูประเทศให้ดีกว่าเดิม ทุกภาคส่วนจะต้องรวมพลังกันเพื่อรวมไทยสร้างชาติ ท่ามกลางวิกฤตนี้เราจะต้องรอด และวันหน้า เราต้องเข็มแข็งกว่าเดิม พวกเราคนไทยจะ ฝ่าฟันไปด้วยกัน เพราะเราและโลกมีเป้าหมายที่ชัดเจนรออยู่ข้างหน้า นั่นก็คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs ซึ่งเราจะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2573 เรามีเวลาเหลืออีกไม่มาก แต่ตนเชื่อมั่นในประเทศไทยและคนไทย หากเราร่วมมือร่วมใจกัน ความก้าวหน้าและความสำเร็จอยู่ไม่ไกล

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 3 ประเด็นหลัก ที่มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้ คือการมองไปข้างหน้า จัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสม มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมทั่วถึง ไม่มีช่องว่างระหว่างคนในสังคม เตรียมรับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัส ต้องดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิกฤตนี้ เป็นโอกาสที่จะนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลง และวางแผนเพื่อการฟื้นตัว อย่างยั่งยืนเพื่อเตรียมรับความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal และนำประเทศสู่การเปลี่ยนแปลง และวางแผนเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เพื่อเตรียมรับความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal โดยเฉพาะการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การพัฒนาประเทศไทยต่อจากนี้ ต้องมุ่งเน้นเรื่อง ความยั่งยืนและ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า รัฐบาลมองการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนขอทุกคนพัฒนาแผนธุรกิจไปในแนวทางที่สอดคล้องกัน เพื่อประเทศชาติ ประชาชน และเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นหลัง รัฐบาลไทยกำลังขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า Bio-Circular-Green Economy หรือ “BCG” คือเราจะทำเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยมีแนวทางสำคัญ คือ การน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมไทยสู่โลกและ เดินหน้าไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“วิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้เรามองเห็นศักยภาพของไทย และทั่วโลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การพัฒนาประเทศภายหลังวิกฤตการณ์นี้ ต้องอาศัยรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ นำมาต่อยอดและพัฒนา เราต้องเปลี่ยนจากการใช้ทรัพยากรจำนวนมากและการทำลายสิ่งแวดล้อม มาเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เน้นการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ ประสานงานกันทุกภาคส่วน และต้องเน้นการลงทุนและการพัฒนาที่ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมของไทย ใช้ภูมิปัญญาของคนไทยเอง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยมีการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ไทยยังขาด คือ ยังนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น ยา วัสดุ และเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ จึงควรสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ และการแพทย์ ต้องทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เพื่อรับมือกับโอกาสและความท้าทาย เช่นการผลิตวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19

“สิ่งที่ทำให้ผมมั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วภายหลังวิกฤตโควิด-19 คือ ความร่วมแรงร่วมใจอย่างเป็นหนึ่งเดียวของคนไทยทุกคน นโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูประเทศให้กลับมาดีกว่าเดิม มี 2 ประเด็นสำคัญ คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ การระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนประเทศ และเมื่อเราเริ่มทำงานในแบบใหม่ ก็อาจมีเสียงคัดค้าน หรือการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น ผมพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกคน โดยเฉพาะเยาวชน เพราะผมเชื่อมั่นว่า เราต่างมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทางที่ดีขึ้น ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมภารกิจรวมไทยสร้างชาติไปพร้อม ๆ กัน ผมมั่นใจว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยของเรายิ่งแข็งแกร่ง มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นกว่าเดิม และมีบทบาทในการสนับสนุนประชาคมโลกเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราทุกคน ทั้งคนไทย ประเทศไทย และทุกประเทศทั่วโลก จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน คิดใหม่ ทำใหม่ สร้างสรรค์วิธีการทำงาน และวิถีชีวิตแบบใหม่ เพื่อที่เราจะสามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image