เดินหน้าชน : เร่งช่วยท่องเที่ยว : โดย สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

ประเทศไทยมีรายได้หลักจากการส่งออกและท่องเที่ยว ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 จึงหลีกไม่พ้นจะต้องเจอผลกระทบเข้าไปแบบเต็มๆ

แม้ว่ารัฐบาลจะมีแผนช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวหลายแผน แต่สิ่งสำคัญจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว และแม่นยำ ช่วยให้ถูกคน เพื่อช่วยประคับประคองภาคการท่องเที่ยวให้เดินหน้าต่อไปได้
ในสถานการณ์ภาคท่องเที่ยวร่อแร่เต็มที และยังไม่รู้ว่าเราจะมีวัคซีนมารับมือโควิด-19 ได้เมื่อไหร่

วิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุดของภาคการท่องเที่ยวไทย แม้ว่าการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มฟื้นตัวบ้าง โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ แต่ในภาพรวมยังคงต่ำกว่าระดับช่วงก่อนการล็อกดาวน์อยู่มาก และยังมีแนวโน้มอ่อนไหวต่อความเสี่ยงการเกิดโควิด-19 ระบาดระลอก 2

เศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง รายได้จากนักท่องเที่ยวรวมทั้งไทยและต่างชาติในปี 2562 มีสัดส่วนสูงถึง 18.6% ของจีดีพีรวม แต่ในปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวไทยจึงต้องหันพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯและปริมณฑล

Advertisement

จากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2562 พบว่ากว่า 49.5% ของครัวเรือนมี
รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เป็นครัวเรือนในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีค่าใช้จ่ายรวมเป็นสัดส่วนถึง 63.8% ของรายจ่ายท่องเที่ยวทั้งหมดของครัวเรือนไทย

ประเมินว่าภาคการท่องเที่ยวยังคงอยู่ในภาวะซบเซา แม้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศ หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ มีปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปยังไม่กลับมา สร้างรายได้ถึง 60.3% ของรายได้นักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวเผชิญกับข้อจำกัดสำคัญในการฟื้นตัว

2.การหันมาพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยทดแทนยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพมากนัก แม้จะมีการฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่หากเทียบกับช่วงก่อนหน้า ปริมาณการท่องเที่ยวคนไทยก็ยังต่ำกว่าเดิมอยู่พอสมควร สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยกรกฎาคม 2563 เพิ่มขึ้นบางส่วน แต่ยังติดลบอยู่ 27.1% แม้จะมีช่วงวันหยุดยาวเพิ่มเติมเข้ามาช่วยก็ตาม

Advertisement

รวมถึงการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวชาวไทย ใช้จ่ายต่อคนน้อยกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่มาก จากข้อมูลปี 2561 พบว่ารายจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคนต่อวันสูงกว่านักท่องเที่ยวไทยถึง 2.1 เท่า และสูงกว่าในทุกหมวดการใช้จ่าย โดยเฉพาะหมวดที่พัก ค่าใช้จ่ายโดยรวมเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวคนไทยอยู่ที่ 2,866 บาท ต่อคนต่อวัน ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะใช้จ่ายอยู่ที่ 6,039 บาทต่อคนต่อวัน ทำให้การฟื้นภาคการท่องเที่ยวผ่านการใช้จ่ายของคนไทยเพียงกลุ่มเดียวอาจต้องมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยมากกว่าเดิมมาก หรือต้องเพิ่มการใช้จ่ายต่อคนจากเดิมอีกมาก ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหา

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ และแผนการตลาด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยของผู้ประกอบการ เป็นกุญแจสำคัญในการประคับประคองภาคการท่องเที่ยว
ช่วงยังต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก

ทั้งในแง่ของปริมาณและการใช้จ่ายของคนไทยยังอยู่ในระดับไม่สูง และยังไม่ได้มีการกระจายตัวอย่างทั่วถึง ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกัน เพื่อทำความเข้าใจในอุปสรรคในการท่องเที่ยวของคนไทยและหาทางแก้ไข

อาทิ การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากโควิด-19 การสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายการเดินทาง โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบินที่มีราคาสูงเพิ่มเติม การลดความยุ่งยากซับซ้อนในการเข้าร่วมและใช้สิทธิตามมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image