‘ก.พ.’ รายงาน ครม.สถานการณ์จ้างงานในราชการพลเรือนบรรเทาโควิด-19 นำร่องจัดสอบ ภาค ก. ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

‘ก.พ.’ รายงาน ครม.สถานการณ์จ้างงานในราชการพลเรือนบรรเทาโควิด-19 นำร่องจัดสอบ ภาค ก. ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบรายงานสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานในราชการพลเรือนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยสํานักงาน ก.พ. ระบุว่า ได้ดําเนินการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกที่จะคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีผู้สนใจสมัครสอบ จํานวน 500,000 คน และจะจัดดําเนินการสอบ ในวันที่ 27 กันยายน 2563 ที่ศูนย์สอบทั่วประเทศ 15 แห่ง โดยสํานักงาน ก.พ.ได้คํานึงถึงการจัดระบบการสอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งจัดให้มีการสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2563 ณ ศูนย์สอบทั่วประเทศ 9 แห่ง ซึ่งมีผู้สมัครสอบจำนวน 21,723 คน รวมทั้งสิ้นมีผู้สมัครสอบภาค ก. จำนวน 521,723 คน

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแผนดําเนินการสอบ เพิ่มเติมสําหรับผู้สมัครสอบภาค ก. ซึ่งยังไม่สามารถชําระเงินได้เนื่องจากที่นั่งสอบเต็ม จํานวน 95,610 คน โดยคาดว่าจะดําเนินการจัดสอบให้กับผู้สมัครสอบที่เหลืออยู่ดังกล่าวได้ประมาณเดือนมกราคม 2564 หลังสอบภาค ก.แล้ว ส่วนราชการสามารถดําเนินการจัดสอบภาค ข. และภาค ค. เพื่อบรรจุ บุคคลเข้ารับราชการได้ ซึ่งจะมีตําแหน่งว่างรองรับการจ้างงานประกอบด้วย อัตราข้าราชการตั้งใหม่ที่ส่วนราชการได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2562-2563 ที่ยังไม่ได้บรรจุจํานวนประมาณ 20,000 อัตรา และอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2563 จํานวนประมาณ 8,900 อัตรา

น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ก.พ.ยังมีแนวทางเพิ่มโอกาสการจ้างงาน ด้วยระบบพนักงานราชการ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีรูปแบบการจ้างงานแบบสัญญาจ้างที่หลากหลาย ทั้งการจ้างลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกองทุนตามระเบียบกระทรวงการคลัง หรือการจ้างพนักงานตามระเบียบของส่วนราชการ เช่น พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) พนักงานจ้างของท้องถิ่น และพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยระบบพนักงานราชการเป็นการจ้างงานแบบสัญญาจ้างอีกรูปแบบหนึ่ง คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) จึงมีมติเห็นชอบแนวทางการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยระบบพนักงานราชการ เพื่อช่วยบรรเทาสภาวะ เศรษฐกิจ การว่างงานภายในประเทศ เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจ้างงานให้กลุ่มผู้สําเร็จการศึกษาและ อยู่ระหว่างการหางานทํา ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน และ/หรือผู้ที่ถูกเลิกจ้างจากภาคส่วนอื่นมีโอกาสได้รับการจ้างงานและสั่งสมประสบการณ์การทํางานในหน่วยงานของรัฐ โดยมีหลักการสําคัญ คือ ไม่ใช่การจ้างงานประจํา เป็นการจ้างงานระยะสั้น และบรรจุบุคคล เข้าปฏิบัติงานให้เร็วที่สุด

Advertisement

ทั้งนี้ คพร.จะพิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากําลังพนักงานราชการเป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ส่วนราชการเพื่อจ้างพนักงานราชการได้ไม่เกิน 2 ปี คือปีงบประมาณ 2564-2565 โดยเน้นการกระจายการจ้างงานลงสู่ระดับพื้นที่ ตลอดจนกําหนดรูปแบบการจ้าง อัตราค่าตอบแทน วิธีการสรรหา และการบริหารการจ้างเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ส่วนราชการดําเนินการได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะจ้างงานได้อีกประมาณ 10,000 อัตรา ทั้งนี้ จําเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสําหรับการจ้างงานดังกล่าว โดยอาจพิจารณานําเงินงบประมาณรายจ่ายประจําปีที่ส่วนราชการได้รับจัดสรรมาใช้ หรือขอรับการสนับสนุน เงินกู้จากรัฐบาลเพื่อดําเนินการเป็นการเฉพาะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image